ที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งในเอเชียกำลังถูกคุกคามด้วยโครงการถนนหลายสาย

ที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งในเอเชียกำลังถูกคุกคามด้วยโครงการถนนหลายสาย

ประชากรของเสือโคร่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่เหลืออยู่ตอนนี้ กำลังถูกคุกคามโดยถนนที่ตัดผ่านใกล้กับถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมัน และโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั่วทวีปเอเชียจะทำให้เสือต้องเผชิญต่อความเสี่ยงสูญพันธุ์มากยิ่งกว่าเก่า

ถิ่นที่อยู่ของเสือโคร่งได้หดตัวลงร้อยละ 40 ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ปัจจุบันประชากรที่อาศัยอยู่ในป่าธรรมชาติเหลือไม่ถึง 4,000 ตัว กลุ่มที่อาศัยอยู่ใกล้กับถนนจะมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ เพราะโอกาสสูงที่มันจะถูกรถชน ขณะเดียวกันถนนที่กั้นขวางก่อให้เกิดความยุ่งยากในการหาอาหาร นอกจากนั้นยังทำให้กลุ่มลักลอบล่าสัตว์พบเจอกับพวกมันได้ง่ายขึ้น

นีล คาร์เตอร์ นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนและทีมวิจัย ได้ศึกษาชุดข้อมูลถนนจากทั่วโลก ซึ่งข้อมูลในระดับนี้ช่วยให้ทีมงานคำนวณได้ทราบว่าขอบเขตของเสือในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยถนน 134,000 กิโลเมตร จากความหนาแน่นของเสือโดยเฉลี่ย นักวิจัยประเมินว่าร้อยละ 57 ของจำนวนเสืออาศัยอยู่ห่างจากถนนในระยะเพียง 5 กิโลเมตร อันกล่าวได้ว่าอยู่ใกล้กับภยันตรายมาก

การที่เสืออาศัยอยู่ใกล้กับถนน เพิ่มอัตราการลดจำนวนของเสือได้มากกว่าร้อยละ 20 โดยอ้างอิงตามแบบจำลองของนักวิจัย นอกจากนี้นักวิจัยพบด้วยว่า ยังมีถนนสายใหม่ระยะทางรวมเกือบ 24,000 กิโลเมตร ได้ถูกออกแบบวางแผนเตรียมการก่อสร้างไว้ภายในปี 2593 ในอาณาเขตที่เสือโคร่งใช้อาศัย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการจะหลบเลี่ยงอันตรายที่มาพร้อมถนนคงเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น ประเทศเนปาลกำลังมีแผนตัดถนนหลายสายขนานใหญ่เพื่อเชื่อมร้อยไปยังหมู่บ้านทุกแห่ง โครงการนี้ได้ตีคู่มากับโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน อันกล่าวได้ว่าเป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งจะสร้างเส้นทางใหม่ผ่านพื้นที่ป่าในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“โครงการเหล่านี้อาจนำมาซึ่งหายนะ หากไม่มีการประเมินเพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุดต่อจำนวนประชากรเสือในท้องถิ่น “ คาร์เตอร์กล่าว “เมื่อมีการสร้างถนน ก็คงไม่อาจปฏิเสธผลกระทบในระยะยาวได้” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาถนนหนทางสามารถทำให้เป็นมิตรกับเสือได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องสร้างให้ห่างไกลจากอาณาเขตที่เสืออยู่อาศัย ควรปิดการจราจรในยามค่ำคืน หรือแม้กระทั้งการติดตั้งป้ายเตือนผู้สัญจรว่าบริเวณนี้มีเสืออาศัยอยู่ ไปจนถึงการสร้างทางข้ามสำหรับสัตว์ เพื่อให้สัตว์ป่าสามารถเดินทางไปมาระหว่างป่าที่ถูกขนาบข้างไปด้วยถนนได้อย่างปลอดภัย คาร์เตอร์อธิบาย และยกตัวอย่างถึงทางข้ามของสัตว์ป่าที่ถูกสร้างขึ้นบนทางหลวงในประเทศมาเลเซีย

ย้อนกลับไปในปี 2553 ทั้ง 13 ประเทศที่ยังมีประชากรเสือโคร่งเหลืออยู่ในป่าธรรมชาติ ต่างตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าจะเพิ่มประชาการเสือโคร่งให้ได้เป็นสองเท่าภายในปี 2565 ซึ่งในปี 2559 ที่ผ่านมา ผลงานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันประชากรเสือโคร่งในป่าทั่วโลกได้เพิ่มมากขึ้น คาร์เตอร์กล่าวว่า การสร้างถนนที่เป็นมิตรกับเสือถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในครั้งนี้

 

  • อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เพิ่มเติมได้ที่ The 6th extinction

 


เรื่อง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
เรียบเรียงจาก Tiger survival threatened by mass road-building in precious habitats
ภาพเปิดเรื่อง เสือโคร่งเบงกอล ในอุทยานแห่งชาติบัณฑพครห์ รัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย โดย Brian Gratwicke / CC BY 2.0