COP25 ผลการประชุมที่น่าผิดหวังและคำถามถึงก้าวต่อไปในการร่วมมือระดับโลก

COP25 ผลการประชุมที่น่าผิดหวังและคำถามถึงก้าวต่อไปในการร่วมมือระดับโลก

การประชุมสุดยอดผู้นำในประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยองค์การสหประชาชาติครั้งที่ 25 (25th annual international Conference of the Parties: COP25 )  ปิดฉากลงล่าช้ากว่ากำหนดสองวัน ขณะที่ผู้ปล่อยมลภาวะอันดับต้นๆ ของโลกเมินเฉยต่อเสียงเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผู้นำการเจรจาได้ข้อสรุปเป็นข้อตกลงว่าจะมีการหารือแผนลดการปล่อยคาร์บอนฉบับใหม่ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน ปีหน้า ณ เมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ ขณะที่การประชุมในครั้งนี้ขอเลื่อนการพูดคุยประเด็นสำคัญ เช่น การกำกับดูแลตลาดคาร์บอนในระดับโลก แม้ว่าจะได้รับเสียงคัดค้านจากประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กท่ามกลางเสียงสนับสนุนของจีน บราซิล และอินเดีย

“ผ่านมา 25 ปี ผมพอจะพูดได้ว่าอนาคตของการร่วมมือในระดับสากลเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจไม่สดใสนัก แต่เราก็ยังมองไม่เห็นทางเลือกอื่นๆ” ริชาร์ด ไคลน์ (Richard Klein) นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม (Stockholm Environment Institute) กล่าว

การพูดคุยในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อทำร่างสุดท้ายของแนวทางการดำเนินการตามข้อตกลงปารีสเมื่อ พ.ศ. 2558 ที่เรียกร้องให้มีมาตรการที่จะไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียสและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การประชุม COP เป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งสำหรับประเทศขนาดเล็กซึ่งหลายแห่งเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพบปะกับประเทศที่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมที่มากกว่า หลายประเทศขนาดเล็กมีความหวังว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อรับมือกับภัยพิบัติดังกล่าว แต่ในท้ายที่สุด การประชุมก็ได้ประกาศว่า “มีความจำเป็นเร่งด่วน” ที่จะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้โลกร้อนไม่แตกต่างจากการประชุมครั้งสำคัญเมื่อ พ.ศ. 2558 ณ กรุงปารีส

“นานาประเทศได้สูญเสียโอกาสสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่มากขึ้นในการลด ปรับตัว และให้เงินทุนเพื่อรับมือวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” อันโตนิโอ กูเตอเรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติทวีตข้อความหลังการประชุมจบลง โดยเสริมว่าเขา ‘ผิดหวัง’ กับผลการประชุมดังกล่าว

นักวิทยาศาสตร์ได้ประกาศเตือนว่าความแตกต่างระหว่างประเทศอาจนำไปสู่ความเฉื่อยชาที่มากขึ้นในปีถัดไป ณ การประชุมที่กลาสโกว์ “สิ่งที่ผมกังวลคือเรากำลังย้อนกลับไปในภาวะที่คล้ายกับก่อนการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนซึ่งแต่ละประเทศไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันอีกต่อไป” ไคลน์ให้สัมภาษณ์ “ที่ปารีสคือช่วงเวลาแห่งการร่วมมือกัน ทุกคนต่างรู้สึกถึงความเร่งด่วนและเชื่อว่าหากร่วมมือกันจะสามารถทำอะไรสักอย่างกับวิกฤติตรงหน้าได้ แต่ตอนนี้ ความรู้สึกเร่งด่วนเหล่านั้นดูจะบรรเทาเบาบางลง” เขาเสริม

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าสหรัฐอเมริกาจะถอนตัวจากข้อตกลงปารีสที่ลงนามไปเมื่อ พ.ศ. 2558 กระบวนการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไป นั่นหมายความว่า สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ปล่อยมลภาวะมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีนจะไม่อยู่ในวงการประชุมเจรจาอีกหลายครั้งในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า

ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมซึ่งค่อนข้างน้อยจากการประชุมสวนทางกับสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์และผู้ประท้วงยกระดับคำเตือนและความเร่งด่วนในการทำอะไรสักอย่าง มีการชุมนุมประท้วงทั่วโลกเพื่อเรียกร้องให้ผู้นำในแต่ละประเทศดำเนินการรับมือ ‘วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ อย่างจริงจัง

“ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ หากคุณจัดการกับมันช้าเกินไปคุณจะได้รับผลกระทบแน่ๆ เพราะมันไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แบบชั่วข้ามคืน” เอลมาร์ เครกเลอร์ (Elmar Kreigler) นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันพ็อตส์แดมเพื่อการวิจัยผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Potsdam Institute for Climate Impact Research) ระบุ

ก่อนที่จะมีการประชุม นักกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกรตา ธันเบิร์ก โจมตีคำมั่นจากประเทศร่ำรวยและภาคธุรกิจที่ระบุว่าจะรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่ากลวงเปล่าและหลอกลวง เธอเรียกมันว่าเป็น “เทคนิคบัญชีที่ชาญฉลาดและการประชาสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์” ในปาฐกถาต่อผู้นำนานาประเทศก่อนเริ่มการประชุม

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Climate summit ends in ‘disappointment’ — what now for global cooperation?
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

Tags from the story: