5 เรื่องที่เรารู้เกี่ยวกับพายุเฮอร์ริเคนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

5 เรื่องที่เรารู้เกี่ยวกับพายุเฮอร์ริเคนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปีนี้นับเป็นปีที่โลกเผชิญพายุหมุนครั้งประวัติศาสตร์ โดยพายุโซนร้อน Theta ที่เพิ่งถูกค้นพบเป็นพายุลูกที่ 29 ของฤดูมรสุมนี้ ทำลายสถิติจำนวนพายุมากที่สุดที่เคยทำไว้เมื่อ พ.ศ. 2548 พายุโซนร้อน Theta ก่อตัวขึ้นหลังจากพายุโซนร้อน Eta ถล่มรัฐฟลอริดายาวนานหลายวัน ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองและอุทกภัยในรัฐทางตอนใต้ 

ฤดูมรสุมที่หนักหน่วงครั้งนี้ชวนให้ตั้งคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลอย่างไรต่อการเกิดเฮอร์ริเคนในแอตแลนติก นักวิจัยยังไม่สามารถสรุปได้อย่างมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์จะส่งผลให้ฤดูมรสุมรุนแรงขึ้นในอนาคตหรือไม่ แต่อย่างน้อยนักวิทยาศาสตร์ทุกคนก็เห็นตรงกันว่า สภาวะโลกร้อนทำให้พายุเปลี่ยนแปลงไป

นักวิทยาศาสตร์ระบุตัวอย่างเช่น อุณหภูมิที่ผิวน้ำของมหาสมุทรแอตแลนติกที่สูงผิดปกติทำให้เพิ่มโอกาสเกิดพายุในฤดูกาลนี้ มหาสมุทรที่อุ่นขึ้น “คือสาเหตุที่ชัดเจนของฤดูพายุที่ชุกชุม” James P. Kossin นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration) กล่าว “มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์จะส่งผลให้มหาสมุทรอุ่นขึ้น”

อย่างไรก็ดี เรายังมองไม่เห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นที่ชัดเจน เขาระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลให้เกิดพายุน้อยลงได้ในท้ายที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เขากล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศย่อมส่งผลต่อรูปแบบของพายุแน่ๆ” โดยสามารถสรุปได้เป็น 5 ข้อดังนี้

1.กระแสลมแรงขึ้น

มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่นว่าเฮอร์ริเคนมีความรุนแรงขึ้น

เฮอร์ริเคนมีความสลับซับซ้อน แต่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความรุนแรงของพายุนั้นมาจากอุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทร เนื่องจากน้ำที่อุ่นขึ้นจะให้พลังงานแก่พายุหมุนที่มากขึ้นนั่นเอง 

“ศักยภาพของความรุนแรงพายุมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น” Kerry Emanuel อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชั้นบรรยากาศจาก Massachusetts Institute of Technology ให้สัมภาษณ์ “เราทำนายไว้ว่ามันจะรุนแรงขึ้นตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ข้อมูลในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่ามันรุนแรงขึ้นจริง ๆ ”

กระแสลมที่รุนแรงขึ้นหมายถึงสายไฟฟ้าที่หักโค่น หลังคาที่พังทลาย เมื่อผสมกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นก็จะทำให้เกิดอุทกภัยชายฝั่งที่รุนแรงยิ่งขึ้น

“ถึงแม้ในกรณีที่พายุหมุนยังคงเหมือนเดิม แต่คลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) ก็จะรุนแรงขึ้นเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น” เขายกตัวอย่างนครนิวยอร์กซึ่งระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นราว 30 เซนติเมตรหากเทียบกับศตวรรษที่ผ่านมา “หากคลื่นพายุซัดฝั่งจากพายุ Sandy เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2455 แทนที่จะเป็น พ.ศ. 2555 คลื่นดังกล่าวก็จะไม่ท่วมถึง Lower Manhattan”

2.ปริมาณฝนมากขึ้น

อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นยังส่งผลให้ปริมาณไอน้ำในอากาศมีมากขึ้น โดยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสจะทำให้ชั้นบรรยากาศโอบอุ้มน้ำได้มากขึ้นถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ข้อเท็จจริงนี้ทำให้เราสามารถทำนายได้ว่าพายุในอนาคตจะทำให้ปริมาณน้ำฝนมากขึ้น

3.พายุเคลื่อนที่ช้าลง

นักวิจัยยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ว่าทำไมพายุหมุนถึงเคลื่อนที่ช้าลง บางคนมองว่าสาเหตุบางส่วนอาจมาจากการหมุนเวียนของชั้นบรรยากาศหรือลมโลกช้าลง

งานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2561 โดย Dr. Kossin พบว่าพายุเฮอร์ริเคนที่พบในสหรัฐอเมริกาเคลื่อนที่ช้าลงกว่า 17 เปอร์เซ็นต์หากเทียบกับพายุที่พบเมื่อ พ.ศ. 2490 ผนวกกับปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้พายุก่อให้เกิดฝนที่ตกมากขึ้นในบางพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาถึง 25 เปอร์เซ็นต์

พายุหมุนที่ช้าลงและน้ำที่มากขึ้นจะทำให้อุทกภัยเลวร้ายกว่าในอดีต เขายกตัวอย่างว่าพายุในตอนนี้เหมือนกับการเดินในสวนหลังบ้านเพื่อรดน้ำต้นไม้ ถ้าเราเดินเร็วน้ำก็จะไม่เจิ่งจนเป็นแอ่ง แต่ถ้าเราเดินช้าลงสุดท้ายน้ำก็จะล้นเจิ่งนองออกมา

4.พื้นที่เกิดพายุกว้างขึ้น

เนื่องจากกระแสน้ำที่อุ่นคือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดพายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงทำให้พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดเฮอร์ริเคนมากขึ้นตามไปด้วย

Dr. Kossin กล่าวว่า “พายุไซโคลนได้เคลื่อนตัวจากเขตร้อนชื้นไปยังเขตที่มีอากาศเย็นมากขึ้น บริเวณละติจูดกลาง” นั่นหมายความว่าพายุจำนวนมากจะขึ้นฝั่งในประเทศที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร เช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นบ่อยครั้งยิ่งขึ้น

5.มีความแปรปรวนสูงขึ้น

เมื่ออากาศร้อนขึ้น นักวิจัยยังคาดว่าพายุจะก่อตัวและทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น แม้นักวิจัยจะไม่สามารถอธิบายถึงสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว แต่ข้อมูลก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน

การศึกษาที่เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2560 เรื่องแบบจำลองสภาพภูมิอากาศและเฮอร์ริเคน Dr. Emanuel พบว่าพายุจะทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว หมายถึงพายุหมุนที่เพิ่มกำลังลมแรงขึ้น 70 ไมล์สต่อชั่วโมงหรือมากกว่านั้นประมาณ 24 ชั่วโมงก่อนที่จะขึ้นฝั่ง พายุลักษณะดังกล่าวนับว่าพบได้ยากอย่างยิ่ง เขาทำการศึกษาพายุตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ถึง 2548 และสรุปว่าความน่าจะเป็นอยู่ที่ 1 ลูกต่อ 100 ปีเท่านั้น

แต่ก่อสิ้นศตวรรษที่ 21 เขาพบว่าพายุลักษณะดังกล่าวสามารถพบได้บ่อยครั้งขึ้นเป็น 1 ลูกทุกๆ 5 หรือ 10 ปี

“นี่คือฝันร้ายของเหล่านักอุตุนิยมวิทยา” Dr. Emanuel กล่าว เพราะหากพายุโซนร้อนระดับ 1 ได้พัฒนาเป็นเฮอร์ริเคนระดับ 4 ภายในเวลาชั่วข้ามคืน “เราจะไม่มีเวลาเพียงพอที่จะอพยพประชาชน”


ถอดความและเรียบเรียงจาก 5 Things We Know About Climate Change and Hurricanes

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก