10 year challenge : 10 ปีที่ผ่านมาเสือโคร่งที่อินเดียถูกล่าไปถึง 429 ตัว

10 year challenge : 10 ปีที่ผ่านมาเสือโคร่งที่อินเดียถูกล่าไปถึง 429 ตัว

แม้เสือโคร่งจะถือได้ว่าเป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศอินเดีย แต่ขณะเดียวกันพวกมันก็กลายเป็นสัตว์ที่ถูกล่าเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ Wildlife Crime Control Bureau (WCCB) ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2008-2018) เสือโคร่งในอินเดียถูกล่ามากถึง 429 ตัว

กระทรวงสิ่งแวดล้อมและอินเดียได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รัฐมัธยประเทศ เป็นรัฐที่เสือโคร่งถูกล่ามากที่สุดถึง 71 ตัว รองลงมาคือที่ รัฐมหาราษฏระ และ รัฐกรณาฏกะ 46 ตัว และที่รัฐฉัตตีสครห์และรัฐอัสสัม จำนวน 42 ตัว ขณะที่รัฐอุตตราขัณฑ์ ซึ่งมีเสือโคร่งอาศัยอยู่กว่า 300 ตัว พบว่ามีเหตุการณ์ล่าเสือโคร่งถึง 35 ครั้งตลอดทศวรรษ ส่วนที่รัฐทมิฬนาฑู และรัฐอุตตรประเทศเสือโคร่งตายไปทั้งหมด 25 ตัว ส่วนที่นิวเดลีมีข่าวเสือโคร่งถูกฆ่าไปถึง 6 ตัว

เมื่อเร็วๆ นี้สถาบันสัตว์ป่าแห่งอินเดีย (WII) ได้ออกมาให้ข่าวว่า การสำรวจจำนวนประชากรเสือโคร่งในประเทศอินเดียมีความคืบหน้าไปกว่า 80% แล้ว ซึ่งคาดว่ารายงานจำนวนประชากรเสือโคร่งประจำปี 2018-2019 น่าจะแล้วเสร็จออกมาในเดือนพฤษภาคมของปีนี้

ก่อนหน้านี้ในรายงานจำนวนประชากรของเสือโคร่ง ระบุว่า เมื่อปี 2014 อินเดียมีจำนวนเสือโคร่งอยู่ทั้งหมด 2,226 ตัว เพิ่มขึ้นจาก 1,706 ตัวเมื่อปี 2010 ซึ่งอินเดียถือเป็นประเทศที่มีประชากรเสือโคร่งมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

ผู้เชี่ยวชาญด้านเสือโคร่งในอินเดียคาดการณ์ว่าร้อยละ 40 ของเสือที่ตายจะเป็นตัวที่อยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์  ซึ่งมีระดับการป้องกันที่ต่ำ

ภัยคุกคามที่สำคัญมาจากหลากหลายปัจจัย เช่น การรุกล้ำถิ่นที่อยู่อาศัย ความขัดแย้งระหว่างเสือกับคนซึ่งมีข่าวออกมาให้เห็นอยู่เสมอ รวมถึงการล่าเพื่อการค้า

ตามข้อมูลของสมาคมพิทักษ์สัตว์ป่าแห่งอินเดีย มีการบันทึกว่า ระหว่างปี 1994-2017 มีการลักลอบล่าเสือถึง 1,148 ครั้ง

อีกปัญหาที่สร้างความหนักใจให้กับการอนุรักษ์เสือในอินเดีย คือ การที่ประเทศจีนได้ประกาศจะยกเลิกกฎหมายห้ามการค้าชิ้นส่วนร่างกายของเสือและแรดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่องานวิจัยทางการแพทย์ ได้สร้างความกังวลต่อนักอนุรักษ์ในอินเดีย เพราะอินเดียถือเป็นประเทศเป้าหมายของกลุ่มค้าขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย แม้รัฐบาลจีนจะเลื่อนการยกเลิกกฎหมายเรื่องนี้ออกไป ถึงจะพอทำให้หายใจได้คล่องขึ้น แต่ก็ยังไม่มีอะไรที่รับประกันความปลอดภัยต่อจำนวนประชากรเสือโคร่งในประเทศได้

Mahesh Sharma รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินเดีย กล่าวว่า รัฐบาลอินเดียได้ดำเนินการวางมาตรการหลายอย่างเพื่อปกป้องเสือโคร่งในประเทศ เช่น การปรับโทษเรื่องการล่าเสือในเขตสงวนเสือ การปรับปรุงยุทโธปกรณ์ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการอนุรักษ์

นอกจากนี้ อินเดียยังประสานกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ เพื่อร่วมกันยกระดับการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับอนุทวีปอีกด้วย

ปัจจุบันทั่วโลกมีเสือโคร่งเหลือเพียง 3,890 ตัว ที่ยังมีชีวิตอยู่ในป่าธรรมชาติใน 13 ประเทศ ประกอบด้วย บังคลาเทศ เวียดนาม กัมพูชา อินเดีย ภูฏาน ไทย อินโดนีเซีย ลาว จีน มาเลเซีย รัสเซีย เนปาล และพม่า

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลของ 13 ประเทศทั่วโลกที่ยังมีเสือโคร่งอาศัยในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ ได้ร่วมทำพันธสัญญาที่จะเพิ่มจำนวนเสือโคร่งให้ได้เป็น 2 เท่า ภายในปี 2022

เมื่อปีที่ผ่านมา เราได้รับข่าวดีว่า ที่ประเทศเนเปาลสามารถฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในป่าธรรมชาติให้เพิ่มขึ้นได้เกือบ 2 เท่า จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 121 ตัวในปี 2009 เพิ่มมาเป็น 235 ตัวในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นประเทศแรกที่บรรลุเป้าหมายการประชุมเสือโคร่งโลกที่ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อปี 2010 ที่จะเพิ่มจำนวนเสือโคร่งให้เป็น 2 เท่าภายในปี 2022

อย่างไรก็ตาม สำหรับบางประเทศก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจำนวนประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไหร่ โดยเฉพาะประเทศอย่างจีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า ซึ่งมีจำนวนไม่ถึง 100 ตัว และในบางประเทศอย่างกัมพูชาที่ไม่มีภาพถ่ายเสือโคร่งที่ใหม่กว่าของปี 2007 เลย

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันแก้ไขและหาทางรอดให้กับอนาคตของเสือโคร่งกว่า 3,000 ตัว บนโลกใบนี้

 


บทความโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
อ้างอิง
Poaching Killed 429 Tigers in 10 Years:
Tiger deaths hit the 100-mark again, but number down from previous year
Wild Tiger numbers increase to 3,890
Tiger count report likely in May

ภาพเปิดเรื่อง travelunbounded.com