ไฟป่าแอมะซอน: เกิดอะไรขึ้นและเราทำอะไรได้บ้าง?

ไฟป่าแอมะซอน: เกิดอะไรขึ้นและเราทำอะไรได้บ้าง?

เกิดอะไรขึ้นในแอมะซอน

เกิดไฟไหม้นับพันแห่งในประเทศบราซิล ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่าดิบชื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือป่าแอมะซอน ทำให้เกิดควันไฟลอยปกคลุมทั่วภูมิภาค และเป็นการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในระดับที่น่ากังวล

 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทุกปีหรือไม่

ใช่ แต่บางพื้นที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่าปกติ Amazonas คือชุมชนที่ได้รับผลกระทบเลวร้ายที่สุดในบราซิล วันที่ย่ำแย่ที่สุดคิดเป็น 700 เปอร์เซ็นต์ของค่าเฉลี่ยตลอด 15 ปีในวันเดียวกัน ในพื้นที่อื่นๆ นั้น ปริมาณเถ้าและฝุ่นในเดือนสิงหาคมอยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา

 

สาเหตุเกิดจากอะไร

การเกิดไฟส่วนใหญ่มาจากพื้นที่เกษตร ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรายย่อยที่เผาตอซังหลังการเก็บเกี่ยว หรือเกษตรกรที่เผาป่าเพื่อเแปลงเป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูก กลุ่มผู้รุกล้ำพื้นที่โดยผิดกฎหมายยังทำลายต้นไม้เพื่อที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดครอง ไฟป่าเหล่านี้เกิดขึ้นโดยมนุษย์อย่างจงใจ แตกต่างจากไฟไหม้ครั้งใหญ่ในไซบีเรียหรืออลาสกา ไฟไหม้ป่าแอมะซอนมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดจาฟ้าผ่า

 

ไฟลุกลามไปทั่วทั้งผืนป่าหรือไม่

ไม่ใช่ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ดาวเทียมระบุว่าภาพที่แสดงให้เห็นผืนป่าทั้งหมดถูกเผาไหม้นั้นเป็นเรื่องเกินจริง ข้อมูลผิดๆ จำนวนมากถูกแพร่กระจายออกไปผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงการใช้ภาพที่น่าตื่นตระหนกจากหลายปีก่อน ช่วงเวลานี้ยังมีการเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในโคลัมเบีย บราซิลตะวันออก ซึ่งรุนแรงกว่าในแอมะซอน การเผาพื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ถูกหักร้างถางพงจนหมดแล้ว แต่ก็ยังมีไฟบางส่วนที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์

 

เราต้องกังวลเรื่องออกซิเจนหรือเปล่า

ไม่ต้อง ถึงแม้บางรายงานจะอ้างว่าแอมะซอนผลิตออกซิเจน 20 เปอร์เซ็นต์ของออกซิเจนทั้งหมดบนโลก แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าตัวเลขดังกล่าวมาจากแหล่งใด ตัวเลขที่แท้จริงนั้นน่าจะไม่เกิน 6 เปอร์เซ็นต์ อ้างถึงนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ เช่น Michael Mann และ Jonathan Foley และถึงแม้ตัวเลข 20 เปอร์เซ็นต์จะเป็นความจริง พืชผลที่ปลูกในพื้นที่ที่ป่าถูกถางก็ยังคงผลิตออกซิเจน ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ การเผาป่าจึงน่ากังวลในหลายๆ มิติ แต่ไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องปัญหาขาดแคลนออกซิเจน

 

แล้วเรายังต้องกังวลหรือไม่

ใช่แน่นอน ไฟที่ลุกไหม้ซึ่งส่วนใหญ่ผิดกฎหมายได้ทำลายแหล่งกักเก็บคาร์บอนภาคพื้นดินที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นบ้านของความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดในโลกอีกด้วย ป่าผืนดังกล่าวจะสะท้อนถึงแนวโน้มสำคัญอย่างการตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าแอมะซอนกำลังจะเดินสู่จุดแตกหัก ซึ่งหากพ้นจุดนี้ไปแล้ว ความเสียหายจะไม่สามารถฟื้นฟูกลับได้อีกต่อไปและเสื่อมสภาพสู่ป่าทุ่งหญ้าแล้ง ในช่วงเวลาที่โลกต้องการต้นไม้อีกจำนวนหลายพันล้านต้นเพื่อดูดซับคาร์บอน ปรับภูมิอากาศให้มีเสถียรภาพ แต่โลกกลับต้องเผชิญกับการสูญเสียป่าผืนใหญ่

 

 

เราสูญเสียป่าไปเท่าไหร่

ในเดือนกรกฎาคม การตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นถึงในระดับที่ไม่เคยพบในรอบทศวรรษที่ผ่านมา อ้าอิงจากข้อมูลโดยภาพถ่ายดาวเทียมโดยองค์การด้านอวกาศของบราซิล ต้นไม่ถูกถอนทำลายเทียบเท่ากับ 5 สนามฟุตบอลทุก 1 นาที ภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือน เราสูญเสียพื้นที่ป่า 2,254 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในเดือนเดียวกันถึง 278 เปอร์เซ็นต์ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าปีนี้จะเป็นปีแรกในรอบสิบปีที่ป่าแอมะซอนสูญเสียพื้นที่สูงถึง 10,000 ตารางกิโลเมตร

สถานการณ์นั้นเลวร้ายลงอย่างมากหากเทียบกับคริสทศวรรษที่ 1990s และต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งต่อมาบราซิลได้รับการยอมรับจากนานาชาติหลังจากที่สามารถชะลอการตัดไม้ทำลายป่าได้ลงถึงร้อยละ 80 ระหว่าง พ.ศ. 2548 – 2557 ซึ่งเกิดจากนโยบายควบคุมเข้มงวด และบทลงโทษที่รุนแรง แต่ระบบดังกล่าวค่อยๆ เสื่อมถอยลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และกลับสู่การสูญเสียพื้นที่ป่าในระดับที่น่ากังวลเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อสองทศวรรษก่อน

 

นี่คือความผิดของประธานาธิบดีบราซิลหรือไม่

Jair Bolsonaro ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงอย่างมากโดยบ่อนทำลายความเข้มแข็งขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม โจมตีภาคประชาสังคมด้านการอนุรักษ์ และสนับสนุนให้มีการเปิดป่าแอมะซอนเพื่อทำเหมือง ทำฟาร์ม และทำไม้ ผู้นำขวาจัดมองข้ามข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงการตัดไม้ทำลายป่าและไฟไหม้ แต่นี่ไม่ใช่ความผิดของเขาแต่เพียงคนเดียว นักล็อบบี้ด้านการเกษตรมีอิทธิพลอย่างมากในบราซิล และพวกเขาทำงานอย่างเต็มที่เพื่อบ่อนเซาะระบบการอนุรักษ์ที่เข้มงวดระหว่าง พ.ศ. 2548 – 2557 การตัดไม้ทำลายป่าค่อยๆ เพิ่มขึ้นในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การดูแลของประธานาธิบดีคนก่อนหน้า Dilma Rousseff และ Michel Temer ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วชั่วระยะเวลา 8 เดือนในยุคของ Bolsonaro แต่สาเหตุไม่ใช่มาจากเขา การเมือง หรือบราซิล แต่ยังรวดถึงไฟไหม้ครั้งใหญ่ในโบลิเวีย ซึ่งมีประธานาธิบดีจากฝั่งซ้าย

 

แล้วนานาชาติทำอะไรอยู่

เลขาธิการสหประชาชาติ ผู้นำแต่ละประเทศ และเหล่าคนดังต่างก็แสดงความกังวล ประเด็นเรื่องแอมะซอนจะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในที่ประชุม G7 ซึ่งผู้นำจาก 7 ชาติจะมาพบปะกันที่ฝรั่งเศส เป็นไปได้ว่าพวกเขาจะร่วมออกแถลงการณ์โจมตีการเพิ่มขึ้นของการตัดไม้ทำลายป่า และเรียกร้องให้บราซิลฟื้นฟูการอนุรักษ์ป่าแอมะซอนเพื่อผันตัวเองสู่ประเทศผู้นำด้านการอนุรักษ์

 

นั่นเพียงพอแล้วหรือยัง

ยังไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญคือการตั้งพื้นที่ป้องกันไม่ให้การตัดไม้ทำลายป่าไปจนถึงระดับที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้ รวมถึงการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ นั่นไม่ได้จำกัดอยู่แค่การอนุรักษ์ แต่ยังรวมถึงการปลูกป่าทดแทนครั้งใหญ่ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาล เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิผล รัฐบาลนานาประเทศจะต้องสร้างแนวโนบายการค้าและสิ่งแวดล้อมให้ไปในทิศทางเดียวกัน ปัจจุบัน ประเทศอย่างสหราชอาณาจักรจ่ายเงินจำนวนเล็กน้อยเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ แต่ทุ่มเงินกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อกระตุ้นการค้าเนื้อวัว ถั่วเหลือง ไม้ แร่ และสารพัดสินค้าที่ทำให้การคุ้มครองป่าแอมะซอนยากยิ่งขึ้น นักการเมืองควรฟังเสียงของประชาชนที่อาศัยอยู่ในป่า เช่น ชาติพันธุ์ท้องถิ่น และชุมชนริมแม่น้ำ

 

 

แล้วเราทำอะไรได้บ้าง

สิ่งที่เราสามารถทำได้คือกระทำในทางการเมืองและการร่วมมือกัน จับมือรวมกลุ่มรณรงค์เพื่อให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าแอมะซอน กระตุ้นให้ผู้แทนฯ ที่เราเลือกเข้าไปในสภาฯ กีดกันการค้ากับประเทศที่ทำลายป่าและให้การสนับสนุนกับประเทศที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ เราสามารถบริจาคให้กับองค์กรที่สนับสนุนการทำงานเกี่ยวกับป่าไม้ ชุมชนในป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ และ ในฐานะผู้บริโภค คิดทบทวนทุกครั้งก่อนซื้อเนื้อสัตว์นำเข้าจากบราซิลหรือสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการรับรองอย่างเช่น Rainforest Alliance ซึ่งเราอาจคิดว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับป่าแอมะซอน

 

ถอดความและเรียบเรียงจาก Amazon fires: what is happening and is there anything we can do?
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์