ไขปริศนากุ้งเดินขบวน ปรากฎการณ์ธรรมชาติ ณ จังหวัดอุบลราชธานี

ไขปริศนากุ้งเดินขบวน ปรากฎการณ์ธรรมชาติ ณ จังหวัดอุบลราชธานี

เหล่ากุ้งตัวน้อยเริ่มรวมตัวบริเวณริมตลิ่งช่วงย่ำค่ำ หลังจากพระอาทิตย์ตกดิน พวกมันเริ่มคลานออกจากแม่น้ำและเดินขบวน ตลอดทั้งคืน เจ้ากุ้งขนาดประมาณหนึ่งนิ้วจะเดินไปตามก้อนหินริมแม่น้ำ 

การเดินขบวนของเหล่ากุ้งในภาคอีสานของไทยกลายเป็นแรงบันดาลใจทั้งเรื่องตำนาน ท่าร่ายรำ กระทั่งอนุสาวรีย์ (และคนจำนวนไม่น้อยก็รับประทานพวกมันเป็นอาหาร) ระหว่างฤดูน้ำหลากตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนตุลาคม นักท่องเที่ยวจำนวนมากจะมาอยู่ริ่มแม่น้ำพร้อมกับไฟฉาย เพื่อเฝ้ามองเหล่ากุ้งเดินขบวน

วัชรพงษ์ หงส์จํารัสศิลป์ เคยรับชมปรากฎการณ์กุ้งเดินขบวนในฐานะนักท่องเที่ยวเมื่อราว 20 ปีก่อน เมื่อเขาเริ่มเรียนด้านชีววิทยา เขาได้กลับมามองปรากฎการณ์ดังกล่าวด้วยความฉงนสงสัย “ผมเพิ่งทราบว่าเราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับปรากฎการณ์นี้” เขาระบุเพิ่มเติมว่า เราไม่ทราบชนิดพันธุ์ของกุ้ง ทำไมกุ้งเหล่านั้นต้องปีนออกจากแหล่งน้ำที่ปลอดภัย เพื่อเดินขบวนสู่ต้นน้ำ และพวกมันกำลังเดินไปไหน

วัชรพงษ์เป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจาก University of California, Los Angeles เขาตัดสินใจหาคำตอบของคำถามเหล่านั้นด้วยตนเอง และข้อค้นพบได้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Zoology

เขาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ด้านการอนุรักษ์เพื่อระบุพื้นที่วิจัย 9 แห่งริมฝั่งแม่น้ำในจังหวัดอุบลราชธานี โดยเขาพบปรากฎการณ์กุ้งเดินขบวน 2 แห่ง คือพื้นที่ที่มีน้ำไหลแรง และพื้นที่ที่มีการก่อสร้างฝายขนาดเล็ก วีดีโอบันทึกภาพเหล่ากุ้งเดินขบวนตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น พวกมันจะเดินขึ้นไปทางต้นน้ำได้ราว 20 เมตร และกุ้งบางตัวสามารถอยู่นอกแม่น้ำถึง 10 นาทีหรือมากกว่า

“ผมรู้สึกประหลาดใจมาก” วัชรพงษ์กล่าว “เพราะผมไม่เคยคิดว่ากุ้งสามารถเดินไปนานขนาดนี้” พวกมันเลือกเดินใกล้ ๆ ตลิ่ง เพื่อให้เหงือกยังคงชุ่มชื้น ซึ่งทำให้ยังมีออกซิเจน เขายังพบว่า เปลือกของกุ้งยังเก็บน้ำไว้รอบ ๆ เหงือก เปรียบเสมือนหมวกของนักประดาน้ำ เพียงแต่หมวกดังกล่าวทำให้หน้าเก็บน้ำไว้แทนที่จะกันน้ำ

การวิเคราะห์ดีเอ็นเอของกุ้งที่จับได้พบว่า กุ้งแทบทั้งหมดคือชนิดพันธุ์ Macrobrachium dienbienphuense ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์หนึ่งของสกุลกุ้งที่แทบตลอดทั้งชีวิตจะอาศัยในน้ำจืด กุ้ง Macrobrachium หลายชนิดพันธุ์จะอพยพไปต้นน้ำเพื่อหาแหล่งอาศัยที่ดีกว่าเดิม

โดยวัชรพงษ์ได้จับตัวอย่างมาวิจัย พบว่าเป็นกุ้งที่อายุไม่มากนัก การสังเกตในพื้นและการทดลองในห้องแล็บพบว่า กุ้งเหล่านี้จะขึ้นมาบนบกเมื่อกระแสน้ำรุนแรงเกินไปจนพวกมันต้านไม่ไหว ในขณะที่กุ้งโตเต็มวัยจะสามารถรับมือกับกระแสน้ำที่รุนแรงกว่าได้โดยไม่ถูกพัดพาไป ทำให้เราจะไม่พบกุ้งโตเต็มวัยที่ขึ้นมาเดินขบวน

การเดินบนริมฝั่งของเหล่ากุ้งจิ๋วถือเป็นเรื่องอันตรายแม้ว่าจะเป็นเวลากลางคืนก็ตาม สัตว์นักล่าทั้งกบ งู และแมงมุงขนาดใหญ่ ต่างก็รอเฝ้าเหยื่ออันโอชะริมฝั่งแม่น้ำ นอกจากนี้ แม้ว่ากุ้งจะมีชีวิตรอดบนพื้นดินในชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่หากเหล่ากุ้งเดินหลงทาง พวกมันก็จะแห้งตายก่อนที่จะสามารถหาทางกลับไปที่แม่น้ำ หลายครั้งที่วัชรพงษ์พบกลุ่มกุ้งหลงทางที่แห้งตายอยู่บนก้อนหิน เนื้อที่เคยใสเมื่อครั้งมีชีวิตกลับกลายเป็นสีชมพูสด

อย่างไรก็ดี กุ้งส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการอพยพขึ้นเหนือน้ำ นักวิทยาศาสตร์ต่างก็พบพฤติกรรมลักษณะนี้ของกุ้งน้ำจืดทั่วโลก บ้างออกจากแม่น้ำเพื่อเดินขบวนในลักษณะเดียวกัน ปีนขึ้นไปเหนือน้ำ หรือกระทั่งปีนน้ำตก

การปีนออกจากแหล่งน้ำเมื่อกระแสน้ำแรงอาจช่วยให้กุ้งเหล่านี้สามารถแพร่พันธุ์ได้ในแหล่งอยู่อาศัยใหม่ ๆ ตลอดประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการ วัชรพงษ์ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันจำนวนของกุ้งที่ออกมาเดินขบวนนั้นมีแนวโน้มลดลง เขามองว่าปัจจัยสำคัญคือกิจกรรมของนักท่องเที่ยว และการเรียนรู้เกี่ยวกับกุ้งเหล่านี้อาจคือทางหนึ่งที่อาจช่วยปกป้องพวกมัน

ร่วมสนับสนุนการทำงานและรักษาป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 


ถอดความและเรียบเรียงจาก These Shrimp Leave the Safety of Water and Walk on Land. But Why?

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก