โลมาอิรวดี 92 ชีวิตในกัมพูชาอาจเหลือเพียงรูปถ่าย

โลมาอิรวดี 92 ชีวิตในกัมพูชาอาจเหลือเพียงรูปถ่าย

ในสำนักงานขายตั๋วชมโลมาอิรวดีในประเทศกัมพูชา เราจะได้เห็นกระดาษติดข้างฝาเรียกร้องให้มีการอนุรักษ์โลมาอิรวดีในฐานะ “มรดกทางธรรมชาติของกัมพูชา” โปสเตอร์ใบนั้นระบุว่า “การก่อสร้างเขื่อนจะทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย” รวมถึงระบุภัยคุกคามต่างๆ ต่อโลมา เช่น มลภาวะ หรือตาข่ายจับปลา แต่กระดาษแผ่นดังกล่าวก็ดูแสนจะเก่าและโรยรา

โลมาอิรวดีอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง โดยประชากรกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดที่หลงเหลือ 5 กลุ่มอาศัยอยู่ที่แม่น้ำโขง ใกล้เมืองกระแจ๊ะ (Kratie) ทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา รัฐบาลและ WWF คาดว่ามีประชากรโลมาอยู่ทั้งสิ้น 92 ชีวิต นับว่าเป็นการกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยหลังจากปริมาณประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 200 ตัวเมื่อ พ.ศ. 2540

โลมาอิรวดีอาศัยในลำน้ำโขง โดยจะโผล่ขึ้นมาหายใจให้เห็นหลังไหวๆ เหมือนเรือดำน้ำ และเสียงคล้ายกับม้าคำราม ริมฝั่ง เซย์ อินน์ (Sey Inn) ชาวกระแจ๊ะที่อยู่ที่นี่ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เล่าว่า “ตอนที่ผมยังเด็ก ประชากรโลมาน่าจะมีราวหนึ่งถึงสองพันตัว แต่ระเบิดจากสงครามเวียดนามและการประมงเกินขนาดทำให้โลมาลดลงอย่างต่อเนื่อง” อย่างไรก็ดี ไม่มีจำนวนตัวเลขที่แน่ชัดว่าสงครามคร่าชีวิตโลมาไปเท่าไร

การศึกษาว่าด้วยการลดลงของประชากรโลมาโดยสถาบันวิจัยชีววิทยาทางทะเลฮาวาย (Hawaii Institute of Marine Biology) คาดว่าเวียดกงขนระเบิดปริมาณกว่า 2.7 ล้านตันทางตอนเหนือของลำน้ำโขง ระหว่าง พ.ศ. 2507 ถึง 2518 โดยระเบิดดังกล่าวไม่เพียงส่งผลโดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีผลทางอ้อมต่อโลมา เนื่องจากโลมาเป็นสัตว์ที่มีระบบการรับฟังที่อ่อนไหวอย่างมาก รวมถึงระบบโซนาร์ที่ซับซ้อน ซึ่งใช้สำหรับหาอาการ นำทาง และสื่อสาร อาการกระทบกระเทือนจากเสียงอาจส่งผลให้โลมาไม่สามารถกินอาหาร ผสมพันธุ์ หรือให้นมแก่ลูกๆ ได้

 

องค์กรพัฒนาเอกชนพยายามสร้างความตระหนักเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อโลมาอิรวดี [นาธานทอมป์สัน / อัลจาซีรา]

 

ปัจจุบัน มลภาวะทางเสียงก็ยังไม่น้อยลง เนื่องจากมีเรือที่พานักท่องเที่ยวจำนวนค่อนข้างมากในบริเวณที่โลมาเหล่านั้นหาอาหาร บางโปรแกรมทัวร์จึงมีการเสนอให้พายเรือแคนูเป็นทางเลือกหนึ่ง

เดี๊ยบ โซชีต (Dieb Socheat) หรือ “ลัคกี้” เจ้าของกิจการทัวร์เรือแคนูรายหนึ่งในกระแจ๊ะเล่าว่า “ตอนผมยังเด็กเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน ทุกคนมีปีนและไม่มีใครที่สนใจจะอนุรักษ์โลมา ผู้คนต่างก็ใช้ปืนหรือระเบิดในการล่าโลมาเพื่อเป็นอาหารหรือเพื่อกลั่นเป็นน้ำมัน”

ลัคกี้มองว่า จำนวนประชากรโลมาที่เพิ่มขึ้นจาก 80 ตัวเป็น 92 ตัวภายใน 2 ปีเนื่องจากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องที่สร้างความตระหนักให้กับประชาชนขององค์กรไม่แสวงหากำไร “พวกเขาสนับสนุนให้ทุกคนเลือกใช้ระเบิด รวมถึงอวนตาห่างในการจับปลา” อย่างไรก็ดี ยังมีคนบางพวกที่ใช้ไฟฟ้าช็อตปลาเพื่อนำมาเป็นอาหาร

 

เรือนักท่องเที่ยวที่ไปดูปลาโลมาเสี่ยงต่อการรบกวนสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ [Nathan Thompson / Al Jazeera]

 

ในทางกลับกับ ซาวุท ดอง (Savuth Dong) หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของกระแจ๊ะยังคงกังวล “เราเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่อนุรักษ์แม่น้ำ พวกเขาจะคอยเฝ้าระวังชาวประมงที่ยังใช้ไฟฟ้าช็อตปลา นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของ WWF ยังมีการลาดตระเวนสัปดาห์ละหนึ่งหรือสองครั้ง”

ดองเล่าว่า หน่วยงานของเขายังสนับสนุนให้ประชาชนจับปลาเพื่อนำมาเป็นอาหารเท่านั้น เพื่อลดการใช้อวนลากเพื่อการพาณิชย์ ที่อาจทำให้ประชากรปลาไม่เพียงพอสำหรับที่จะเป็นอาหารของโลมา แต่จะไม่มีปลาเหลืออีกต่อไปไม่ว่าสำหรับคนหรือโลมา หากมีการก่อสร้างเขื่อนเหนือจังหวัดกระแจ๊ะ

เขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำซัมบอร์อยู่ในระหว่างการวางแผนก่อสร้างในความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและบริษัท Sothern Power Grid จากประเทศจีน เขื่อนดังกล่าวจะมีสันเขื่อนยาวถึง 18 กิโลเมตร และมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำยาว 82 กิโลเมตร เขื่อนดังกล่าวจะตัดขาดเส้นทางอพยพของปลาที่อาจจะใหญ่ที่สุดในโลก อ้างอิงจากรายงานโดย Natural Heritage Institute (NHI) ซึ่งรับหน้าที่ประเมินทางเลือกทดแทนการก่อสร้างเขื่อน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

เขื่อนดังกล่าวจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2,600 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ใช้ในปัจจุบันของกัมพูชาทั้งประเทศ ทำให้เหลือไฟฟ้าเพียงพอที่จะส่งออก นับว่าเป็นรายได้ชั้นดีของประเทศที่มีรายได้ระดับกลางค่อนข้างต่ำ

 

 

อย่างไรก็ดี การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด รวมถึงการขัดขวางกระบวนการเติมสารอาหารผ่านตะกอนของลำน้ำโขงย่อมส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารอย่างมีนัยสำคัญ รายงานข้างต้นคาดว่าจะมีปริมาณสัตว์น้ำซึ่งเก็บเกี่ยวได้ลดลงอย่างน้อยร้อยละ 45 ส่วนโลมาอิรวดีก็ “อาจจะสูญพันธุ์ไปจากแม่น้ำโขง”

รายงานอีกฉบับของ WWF ระบุว่า ปลาคิดเป็นอาหารราวร้อยละ 20 ของชาวกัมพูชา และร้อยละ 80 ของโปรตีนจากสัตว์ที่ชาวกัมพูชารับประทาน การก่อสร้างเขื่อนซัมบอร์ย่อมมีต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจรวมหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของกัมพูชางดแสดงความเห็นเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนซัมบอร์

ปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน อยู่ในระหว่างการพอิจารณาแก้ไขแผนแม่บทและรอการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีฮุนเซนในต้นปี พ.ศ. 2562 ทางเลือกว่าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์อาจไม่อยู่ในแผนแม่บทดังกล่าว โดยผู้อำนวยการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานระบุว่า “NHI อาจมีคำแนะนำให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ผู้รับเหมารายอื่นก็มีความเห็นที่แตกต่าง เราจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการพัฒนาและความกังวลเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม”

 

 

คำว่า “การพัฒนา” อาจมีความหมายแตกต่างกันในมุมมองขององค์การสหประชาชาติ หรือองค์กรภาคเอกชนที่จะตีความคำดังกล่าวว่าหมายถึงประชาธิปไตยเสรี การให้คุณค่าผู้หญิง และการพัฒนาการศึกษา ในขณะที่รัฐบาลกัมพูชาอาจมองการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีความรับผิดชอบแบบตัดขาดจากการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน ตามความเห็นของ คอร์ทนีย์ เวิร์ค (Courtney Work) จาก National Chengchi University โดยเธอให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “การพัฒนาดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโลมาน้ำจืด และสมาชิกโลกที่ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่เคยถูกรวมอยู่ในการคำนวณความคุ้มค่า”

หลังฤดูฝน โลมาอิรวดีพบเห็นได้ไม่ยากตามแอ่งน้ำลึก ประชาชนชาวกระแจ๊ะต่างนำนักท่องเที่ยวไปชมความงามของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้รอบแล้ว รอบเล่า แต่เราก็ต้องรอดูต่อไปว่าชะตากรรมของโลมาอิรวดีฝูงนี้จะเป็นอย่างไรในอนาคตอันใกล้

 

ถอดความและเรียบเรียงจาก The last 92 Irrawaddy dolphins in Mekong River may not survive                        โดย Nathan A. Thompson ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์