ความเชื่อ-การค้าสัตว์ป่า เป็นต้นเหตุให้แร้งทั่วทวีปแอฟริกาตกอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

ความเชื่อ-การค้าสัตว์ป่า เป็นต้นเหตุให้แร้งทั่วทวีปแอฟริกาตกอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

ทวีปแอฟริกา ปี 2011 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้วเกิดเหตุสลดขึ้นกับแร้งกว่า 2,000 ตัว ที่ได้ทยอยจบชีวิตลง เนื่องจากลงกินซากสัตว์ที่ปนเปื้อนไปด้วยสารพิษอันตรายซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายต่อหลายครั้ง

อันกลายเป็นปีแห่งการสูญเสียประชากรแร้งครั้งใหญ่ของทวีป ที่ถูกบันทึกไว้ในยุคสมัยปัจจุบัน

นักอนุรักษ์เชื่อว่าเป็นฝีมือของขบวนการลักลอบล่าสัตว์ที่ต้องการกำจัดแร้งออกไปจากสารบบของผืนป่า

เนื่องจากพฤติกรรมการลงกินซากสัตว์ที่ตาย ทำให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสามารถทราบถึงเหตุเภทภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ต้องเร่งรุดเข้าไปตรวจสอบ

ทำให้การลักลอบตัดชิ้นส่วนหรือขนย้ายสัตว์ทำได้ยาก และเสี่ยงต่อการถูกจับกุมได้ง่ายขึ้น

แร้งจึงเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ต้องทำลาย

แต่ในมุมตรงกันข้าม ขบวนการลักลอบล่าสัตว์เองก็หากำไรจากแร้งด้วยเช่นกัน

ในตำรับยาแผนโบราณชิ้นส่วนของแร้งสามารถนำมาใช้รักษาโรคบางอย่างได้

ในทางความเชื่อ แร้งเป็นตัวแทนของความโชคดี มีผู้คนต้องการจับจองเป็นเจ้าของอวัยวะของแร้งสวนทางกับความเชื่อในไทยที่เห็นเป็นสัตว์นำโชคร้าย

บ้างถูกนำไปใช้ในกิจกรรมทางไสยศาสตร์ไว้ขับไล่ภูติผีปีศาจ

บ้างก็ว่าดวงตาและสมองของแร้งทำให้ผู้ครอบครองมีญาณทิพย์

ขณะที่ชุมชนบางแห่ง นิยมบริโภคเนื้อแร้งเป็นอาหาร และเนื้อแร้งรมควันเคยเป็นเมนูขึ้นชื่อที่ค้าขายกันระหว่างประเทศ

ปัจจุบัน ค่านิยมและความเชื่อนี้ยังมีอยู่คิดเป็น 29% ของสาเหตุที่ทำให้แร้งในทวีปแห่งนี้ลดลง

แต่ภัยคุกคามใหญ่ของแร้งในทวีปแอฟริกาจริงๆ เป็นเรื่องสารพิษตกค้างในซากสัตว์ ไม่ต่างอะไรกับที่แร้งในอนุทวีปอินเดีย ยุโรป หรือที่ประเทศไทยต้องเผชิญ

อันมีต้นตอจากความประมาทเลินเล่อและความตั้งใจของมนุษย์เรา

เป็นต้นว่า มนุษย์วางยาสัตว์ที่เข้ามากินทำลายพืชผลทางการเกษตร หรือไม่ก็เพื่อฆ่าสัตว์ผู้ล่าที่แอบย่องเข้ามาหากินตามฟาร์มปศุสัตว์

ในทศวรรษที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น เมื่อปี 2019 ในประเทศบอตสวานา มีแร้งหลายสายพันธุ์จำนวน 537 ตัว ตายเพราะลงกินซากช้างที่ถูกวางยา จากการล้างแค้นของเกษตรกรที่สูญเสียทรัพย์สินจากช้างที่ออกมาหากินนอกป่า

แน่นอนว่าพวกเขาแก้แค้นได้อย่างสาแก่ใจ

แต่นั่นก็กลับเพิ่มโศกนาฏกรรมให้สัตว์นักกินซาก เทศบาลแห่งผืนป่า ต้องมารับเคราะห์กรรมตายตกตามกัน

หรือย้อนไปในปี 2013 ที่ประเทศนามิเบีย ขบวนการลักลอบล่าช้าง ได้ล่อแร้งได้ลงมากินซากช้างที่แอบซ่อนยาพิษไว้ ด้วยเหตุผลที่ต้องการลดจำนวนแร้ง เพื่อไม่ให้มีแร้งมารังควานขณะลงมือขโมยงา

ในหนนั้น มีแร้งกว่า 600 ตัวต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า

จากการศึกษาจำนวนประชากรแร้งในทวีปทั้งหมด (ปี 2015) พบว่าแร้งในแอฟริกาลดลงกว่า 80% ในช่วงสามชั่วอายุคน

จากที่เคยมีทั้งหมด 11 สายพันธุ์ ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว 3 สายพันธุ์

ส่วนสายพันธุ์ที่เหลือต่างล้วนตกอยู่ในสถานะเสี่ยงลาโลกด้วยกันทั้งสิ้น

ทาง IUCN Redlist เคยทำนายว่า หากภัยคุกคามแร้งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แร้งอาจสูญพันธุ์ไปจากทวีปแอฟริกาภายใน 40 ปีข้างหน้า (คาดการณ์ไว้เมื่อปี 2013)

ไม่ว่าจะเป็นแร้งสายพันธุ์ใด หรือมีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ส่วนไหนของโลก ต่างก็ตกอยู่ในชะตากรรมเหมือนๆ กัน

ขณะเดียวกัน แร้งทุกตัวต่างก็ทำหน้าที่บำรุงรักษาระบบนิเวศได้เหมือนกันทุกชนิด

แร้งมีส่วนสำคัญในการกำจัดสิ่งไม่พึงประสงค์อย่างซากสัตว์เน่าเหม็นให้หมดไปและช่วยยับยั้งการแพร่กระจายโรคเช่นพิษสุนัขบ้าได้อย่างชะงักงัน

แต่เรากลับคิดกำจัดแร้งไปจากโลก ด้วยเหตุผลที่ไร้ซึ่งวิสัยทัศน์

 


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน