แพลงก์ตอนอายุ 150 ปีกับการศึกษาผลกระทบจากภาวะมหาสมุทรเป็นกรด

แพลงก์ตอนอายุ 150 ปีกับการศึกษาผลกระทบจากภาวะมหาสมุทรเป็นกรด

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นว่าตัวอย่างแพลงก์ตอนอายุ 150 ปีเป็นขุมทรัพย์ของงานวิจัยแนวหน้าในปัจจุบัน แต่นั่นคือสิ่งที่ลินด์ซีย์ ฟ็อกซ์ (Lyndsey Fox) คิดเมื่อเธอได้พบกับกล่องเก็บตัวอย่างฟอรามินิเฟอรา (Foraminiferra) สัตว์เซลล์เดียวซึ่งสร้างเปลือกได้ในคลังของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในกรุงลอนดอน 

ปัจจุบัน นักบรรพชีวินสัตว์ขนาดเล็กและทีมงานในมหาวิทยาลัยคิงสตันได้แสดงให้เห็นแล้วว่าตัวอย่างดังกล่าวซึ่งเก็บโดยเรือหลวงชาร์เลนเจอร์ระหว่าง ค.ศ. 1872 – 1876 มีมูลค่ามหาศาลต่อการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน โดยพบว่าเปลือกของฟอรามินิเฟอราในอดีตนั้นหนากว่าปัจจุบันอย่างมาก เนื่องจากสภาวะมหาสมุทรที่กลายเป็นกรด

นักวิทยาศาสตร์ทราบเป็นเวลาหลายปีแล้วว่าการที่มหาสมุทรกลายเป็นกรด หรือการลดลงของค่า pH เมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศส่วนเกินถูกดูดซับลงสู่มหาสมุทร นี่คือข่าวร้ายของสิ่งมีชีวิตในทะเล ความเป็นกรดจะกัดกินเปลือกและโครงกระดูกภายนอกซึ่งเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอนเนต ของสิ่งมีชีวิตเปลือกแข็งตั้งแต่ปูไปจนถึงปะการัง และทำให้พวกมันสร้างโครงสร้างแคลเซียมคาร์บอนเนตได้ยากขึ้น แต่ตัวอย่างส่วนใหญ่ซึ่งใช้ในการศึกษามีอายุเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถประเมินผลกระทบระยะยาวจากการกลายเป็นกรดของมหาสมุทรได้ จนกระทั่งค้นพบตัวอย่างดังกล่าว

 

การทำให้เป็นกรดในมหาสมุทรอาจทำให้แพลงก์ตอนแข็งแรงขึ้น เช่นNeogloboquadrina dutertrei  เพื่อสร้างเปลือกหอยที่แข็งแกร่งขึ้น .รายงานทางวิทยาศาสตร์ (2020)

เพื่อเปรียบเทียบตัวอย่างที่เก็บโดยเรือชาร์เลนเจอร์กับตัวอย่างในปัจจุบัน นักวิจัยได้เน้นเปรียบเทียบแพลงก์ตอน 2 ชนิดพันธุ์ คือ Neogloboquadrina dutertrei และ Globigerinoides ruber กับการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2554 โดยนักวิจัยได้ใช้ข้อมูลที่มีในบันทึกเดินทางเพื่อระบุตำแหน่งที่แม่นยำในการเก็บตัวอย่างจากเรือชาร์เลนเจอร์ เพื่อเปรียบเทียบให้แม่นยำท่สุด

ต่อมา นักวิจัยใช้เครื่องสแกนคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างภาพสามมิติของเปลือก ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร เขาพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ตัวอย่างที่เก็บในปัจจุบันจะมีเปลือกที่บางกว่าสูงสุดถึง 76 เปอร์เซ็นต์ บางตัวอย่างที่เพิ่งเก็บพบว่ามีเปลือกที่บางจนแม้แต่เครื่องแสกนยังเก็บภาพไม่ได้ “ฉันรู้สึกประหลาดใจมากถึงข้อค้นพบจากการเปรียบเทียบทั้งสองกลุ่มตัวอย่าง” ฟ็อกซ์กล่าว

จากการทดลองในอดีต นักวิจัยระบุว่าภาวะมหาสมุทรเป็นกรดมีแนวโน้มว่าน่าจะเป็นสาเหตุ อย่างไรก็ดี พวกเขาก็ยังไม่ตัดความเป็นไปได้อื่นๆ ที่มาพร้อมกับภาวะมหาสมุทรเป็นกรด คือน้ำที่อุ่นขึ้นและปริมาณออกซิเจนที่น้อยลง ซึ่งอาจมีผลในลักษณะเดียวกัน

“นี่คือผลกระทบที่ชัดเจนมากๆ” ลูคัส จองเกอร์ส (Lukas Jonkers) นักบรรพชีวิตมหาสมุทรจากมหาวิทยาลัยเบรเมน (University of Bremen) ที่ทำการศึกษาแพลงก์ตอนฟอรามินิเฟอราให้สัมภาษณ์ เขากล่าวเสริมว่าการศึกษาผลกระทบจากภาวะมหาสมุทรเป็นกรดแทบทั้งหมดใช้การเก็บตัวอย่างหลังคริสต์ทศวรรษที่ 1950s ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ค่า pH ของมหาสมุทรเริ่มลดลงแล้ว “พวกเขาได้ขุมสมบัติล้ำค่าจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ” โดยจองเกอร์สหวังว่าทีมวิจัยจะขยายการศึกษาดังกล่าวให้ครอบคลุมตัวอย่างชนิดพันธุ์อื่นๆ จากต่างพื้นที่

นักวิจัยเองก็วางแผนจะทำเช่นนั้น โดยใช้ “กล่องนับพัน” ซึ่งเก็บตัวอย่างแพลงก์ตอนในอดีตที่มีจำนวน “มากกว่าคนคนเดียวจะศึกษาได้ทั้งชีวิต” ฟ็อกซ์กล่าว เธอหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์ลองสำรวจวัตถุในพิพิธภัณฑ์ซึ่งบางครั้งอาจถูกมองข้าม “มันมีอีกหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ในห้องเก็บของพิพิธภัณฑ์ซึ่งรอเราเข้าไปค้นพบเพื่อทำการศึกษา”

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Samples from famed 19th century voyage reveal ‘shocking’ effects of ocean acidification
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง  TW : 
MBA (Marine Biology) @thembauk