เวียดนามประกาศไม่อนุมัติเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เวียดนามประกาศไม่อนุมัติเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างแสดงความชื่นชมหลังจากกระทรวงวางแผนและการลงทุน (Ministry of Planning and Investment หรือ MPI)ตัดสินใจที่จะไม่อนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน Vung Ang II ตามสัญญาก่อสร้าง ดำเนินการ และถ่ายโอนให้กับรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่าเป็นการ ‘ป้องกันที่จำเป็น’

Pham Pho อธิการบดีจาก Saigon Economics & Technology College กล่าวว่ามีหลากหลายเหตุผลที่เวียดนามควรปฏิเสธโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ข้อแรก การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินมีแนวโน้มลดลงทั่วโลก ส่วนข้อที่สอง โรงไฟฟ้าถ่านหินสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ฝุ่นละออง มลภาวะ และสารพัดสารพิษ ข้อที่สามคือ โรงไฟฟ้าถ่านหินส่วนใหญ่ในเวียดนามดำเนินการโดยใช้เทคโนโลยีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ หากเวียดนามยังเดินหน้าพัฒนาต่อไป นั่นหมายถึงการที่จะต้องนำเข้าเทคโนโลยีเหล่านั้นต่อเนื่องไปอีกในอนาคต

เทคโนโลยีที่ล้าสมัยจะทำให้สิ้นเปลืองพลังงานและปล่อยมลภาวะอย่างรุนแรง หากเป็นเช่นนั้น เวียดนามก็จะไม่ต่างจากที่ทิ้งขยะเทคโนโลยีของโลก

นอกจากนี้ Pham Pho ยังมองเห็นปัญหาของสัญญาก่อสร้าง ดำเนินการ และถ่ายโอนให้รัฐ (Build, Operate and Transfer หรือ BOT) ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องอ้างอิงราคาขายไฟฟ้าตามความต้องการของนักลงทุน รวมถึงความยุ่งยากในการควบคุมคุณภาพของการดำเนินโครงการ อีกทั้งรัฐบาลเวียดนามยังต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการหาช่องทางจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการอีกด้วย

MPI ระบุว่าปัญหาในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในโครงการที่มีสัญญาแบบ BOT นำไปสู่การดำเนินโครงการล่าช้า สูญเสียทั้งงบประมาณ และสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ “ผมเห็นเลยว่า MPI ระมัดระวังอย่างยิ่งในการประเมินโครงการที่มีการทำสัญญาแบบ BOT โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน”Pho กล่าว และเสริมว่าการไม่อนุมัติโครงการดังกล่าวจะช่วยป้องกันมลภาวะ การนำเข้าเทคโนโลยีที่ล่าสมัยและลดปริมาณโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ด้อยคุณภาพ

Nguten Minh Due ประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์พลังงานแห่งเวียดนาม (Vietnam Ebergy Science Council) แสดงความชื่นชมต่อการตัดสินใจของ MPI เช่นเดียวกัน เขาระบุว่าเวียดนามจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีสัญญาแบบ BOT

สัญญา BOT จะอนุญาตให้บริษัทก่อสร้างโรงงานโดยใช้ทุนของตัวเอง และจะโอนความเป็นเจ้าของให้กับรัฐบาลเวียดนามหลังจากดำเนินการไปแล้ว 15 ถึง 20 ปี อีกทั้งยังสามารถขอคืนเงินทุนที่ลงทุนไปในตอนแรกได้อีกด้วย หากโครงการดังกล่าวไม่ได้รับการจัดการที่ดีเพียงพอ ก็จะเป็นช่องทางนำเข้าเทคโนโลยีล้าสมัย และนำไปสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินคุณภาพต่ำ และเมื่อถึงวันที่รัฐบาลเวียดนามรับโรงงานมาจากนักลงทุน สิ่งที่ได้ก็จะมีสภาพไม่ต่างจาก “กองเศษเหล็กขึ้นสนิม”

Nguten Minh Due ระบุว่าอัตราการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงมาก แต่ก็ยังเป็นการยากที่กำลังการผลิตไฟฟ้าจะมาทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดด้วยพลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ เขาเสริมว่า แนวโน้มโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกต่างอยู่ในขาลง และเวียดนามก็ไม่ควรที่จะทำเป็นมองไม่เห็นแนวโน้มดังกล่าว

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Ministry says no to proposed BOT thermal power project
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์