เมืองไม่ควรจะมีแค่สวนสาธารณะ แต่มันควรจะมีป่าอยู่ด้วย

เมืองไม่ควรจะมีแค่สวนสาธารณะ แต่มันควรจะมีป่าอยู่ด้วย

การมีพื้นที่สีเขียวอยู่ในเมืองนั้นจะช่วยทำให้สุขภาพของคนเมืองดีขึ้นทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ ในปัจจุบันนี้เรื่องของการสร้างป่าในเมืองก็มีงานวิจัยต่าง ๆ มารองรับอยู่มาก และด้วยเหตุนี้เองเมืองต่าง ๆ จึงได้มีโครงการในการปลูกต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ การปลูกต้นไม้บนหลังคา และโครงการอื่น ๆ ในการทำพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นมาอีกมาก

แต่มันจะเพียงพอหรือไม่ งานวิจัยชิ้นล่าสุดได้เสนอว่ามันจะเป็นการดีที่คนในเมืองได้สัมผัสกับแหล่งธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ไม่มีการจัดการพื้นที่ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือป่านั่นแหละ งานวิจัยบอกว่ายิ่งสภาพพื้นที่เป็นป่ามากเท่าไรยิ่งจะทำให้คผู้คนได้รับประโยชน์จากธรรมชาติในเมืองสูงมากเท่านั้น

นักวิจัยจาก University of Washington ได้เชิญชวนให้ผู้คนไปสัมผัสกับสวนที่ใหญ่ที่สุดในเมือง Seattle ชื่อ “Discovery Park” โดยตัวสวนมีพื้นที่ถึง 500 เอเคอร์ (ประมาณ 1,265 ไร่) 

หลังจากนั้นนักวิจัยก็ได้เก็บข้อมูลความพึงพอใจของผู้คนที่มาเยี่ยมชม นักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์แบบสอบถามของผู้มาเยี่ยมชม 320 คน เพื่อหาสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจ หรือจุดธรรมชาติจุดไหนที่ผู้คนชอบในสวนแห่งนี้ เช่น การนั่งดูนกใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือการนั่งฟังเสียงน้ำไหลข้างน้ำตก เป็นต้น

ในความคิดของนักวิจัยคือปฏิสัมพันธ์แบบเดียวกันของผู้คนกับธรรมชาติ อาจจะเกิดขึ้นได้ในรูแบบของสถานที่ที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน นักวิจัยใช้แนวคิดนี้เพื่อทำความเข้าใจเงื่อนไขที่จะเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับธรรมชาติที่ถูกสร้างขึ้นในเมือง เพื่อที่จะออกแบบพื้นที่เหล่านี้ให้มีโอกาสที่จะเชื่อมโยงเข้ากับผู้คนได้ดีขึ้น

นักวิจัยได้เผยแพร่จากการวิเคราะห์ผลตอบรับจากผู้เยี่ยมชมนักวิจัยได้ลงใน Frontiers in Sustainable Cities ฉบับวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2563 นักวิจัยได้พบรูปแบบของปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เยี่ยมชมมากถึง 520 แบบ โดยมี 331 แบบ ที่เป็นรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง นักวิจัยได้ทำการเรียงลำดับรูปแบบของปฏิสัมพันธ์ที่พบมาก ๆ ตั้งแต่ การได้พบเจอกับสัตว์ป่า การเดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ การเดินไปให้ถึงชุดต่าง ๆ เช่น จุดชมวิว และการจ้องมองวิวทิวทัศน์ เช่น ภูเขา น้ำตก หน้าผา และชายหาด มากกว่า 25% ของปฏิสัมพันธ์ที่ได้ทำการเก็บข้อมูลมาเกี่ยวกับการพบเจอสัตว์ป่า และมากกว่า 20% เกี่ยวกับการเดินตามเส้นทางในธรรมชาติ

รูปแบบของปฏิสัมพันธ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญของผู้คนที่เข้ามา เพราะถ้าผู้คนได้พบกับประสบการณ์ในเชิงจิตวิทยาด้านบวก จะช่วยให้เกิดการผ่อนคลาย และความสุข 

แต่สุดท้ายนักวิจัยก็ได้วิเคราะห์ออกมาว่ารูปแบบของปฏิสัมพันธ์นั้นขึ้นอยู่กับความเป็น “ป่า” ในแต่ละสวนที่ถูกสร้างขึ้น แน่นอนว่าไม่มีสวนสาธารณะในเมืองอันไหนที่จะมีความเป็น “ป่า” ได้เท่ากับป่าจริง ๆ หรอก และไม่เหมือนกับสวนสาธารณะในเมืองใหญ่อื่น ๆ Discovery Park มีความหลากหลายทางด้านสภาพพื้นที่ มีพื้นที่ที่ไม่ได้รับการจัดการโดยมนุษย์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีต้นไม้ใหญ่เก่าแก่ที่โตอยู่ในพื้นที่มานาน และมีทัศนียภาพที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยียนนั้นได้สัมผัสกับความสันโดษท่ามกลางธรรมชาติ และได้ปลีกตัวออกมาจากอารยธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น

นักวิจัยพบว่ามากกว่า 75% ของรูปแบบปฏิสัมพันธ์ทั้งหมดที่ได้ทำการศึกษาจากผู้เยี่ยมชม เชื่อมโยงกับดิบของอุทยาน นักวิจัยยังได้เขียนเพิ่มเติมว่า “95% ของผู้เยี่ยมชมรู้สึกว่าได้รับประสบการณ์ในเชิงธรรมชาติที่ดี” และ 96% ของ 95% นั้นบอกว่ามันเป็นผลมาจากความเป็นธรรมชาติที่มีความ “ป่า” และความเฉพาะตัวของสวนแห่งนี้

แต่ผู้เข้าร่วมเยี่ยมชมส่วนใหญ่นั้นเป็นคนผิวขาวที่ค่อนข้างมีฐานะ ซึ่งเป็นประชากรสวนใหญ่ในพื้นที่โดยรอบสวนแห่งนี้ นักวิจัยกล่าวว่าถ้าในภายภาคหน้ามีการสำรวจเพิ่มตามกลุ่มคนเมืองอื่น ๆ ได้ ก็จะเป็นการดี แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยของพวกเขาก็ได้ครอบคลุมประเด็นในเรื่องของสวนขนาดใหญ่กลางเมืองแล้ว

ผลจากงานวิจัยครั้งนี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการจัดการสวนแห่งนี้ในอนาคต แต่การเติบโตของเมืองก็ได้สร้างแรงกดดันอย่างมากถึงวิธีที่จะจัดการสวนแห่งนี้ เพราะสวนอยากจะรักษาสภาพพื้นที่ธรรมชาติไว้ แต่เมืองนั้นต้องการพื้นที่ในการสนองต่อความต้องการของเมือง อันที่จริงแล้วผู้บริหารเมือง Seattle กำลังเดินหน้าตามแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนแห่งนี้ไปเป็นที่อยู่อาศัย

นักวิจัยจึงตั้งคำถามขึ้นมาว่า “การพัฒนาพื้นที่มันจะทำให้ผู้คนสูญเสียในแง่ของความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ซึ่งเป็นความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ และเป็นความเสียหายที่ฟื้นฟูได้ยาก จริงหรือไม่” นักวิจัยก็ได้ปรึกษากัน แล้วจึงตอบคำถามที่พวกเขาเป็นคนถามเองว่า “จริง”

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Cities don’t just need parks–they need big, wild ones
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร