การแบ่งแยกจาก เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อคนรวยอาจรอด แต่คนจนไร้ทางไป

การแบ่งแยกจาก เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อคนรวยอาจรอด แต่คนจนไร้ทางไป

ชุมชนของผู้ร่ำรวยอาจใช้เงินแก้ปัญหาเพื่อเอาตัวรอดจากภัยคุกคามด้านการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่กลุ่มผู้ยากจนที่สุดอาจได้รับผลกระทบหนัก อ้างอิงจากรายงานของสหประชาชาติ

แม้แต่ภายใต้สถานการณ์ที่ดีที่สุดซึ่งไม่น่าจะเป็นความจริงว่าอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 องศาเซลเซียสภายใน พ.ศ. 2643 ประชาชนหลายล้านคนอาจต้องเลือกระหว่างอยู่อย่างอดอยากหรืออพยพลี้ภัย ฟิลิป แอลสตัน (Philip Alston) นักวิเคราะห์จากสหประชาชาติผู้เชี่ยวชาญด้านความยากจนสุดขั้วและสิทธิมนุษยชนกล่าวเตือน

เขาทำนายว่าจะมีการแบ่งกลุ่มประชาชนที่สามารถจัดการกับผลกระทบที่รุนแรงที่สุดจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น และคนที่ไร้หนทางหลีกเลี่ยง โดยเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “การแบ่งแยกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Apartheid)” ซึ่งเป็นคำที่หยิบยืมจากการแบ่งแยกสีผิวนั่นเอง

ในรายงานยังระบุเพิ่มเติมว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอย่างรวดเร็วนั้น อาจหมายถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายลงของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

 

สิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระดับทำลายล้าง ปัจจุบันกลายเป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้” ฟิลิปกล่าวเพิ่มเติม “ในขณะที่กลุ่มคนที่ยากจนที่สุดมีส่วนในการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพียงน้อยนิด แต่กลับต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด และมีความสามารถในการปกป้องตนเองน้อยที่สุด

เรากำลังเสี่ยงต่อสถานการณ์ ‘การแบ่งแยกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ เนื่องจากคนรวยสามารถใช้จ่ายเพื่อเอาตัวรอดจากอุณภูมิที่สูงขึ้น ความหิวโหย และข้อขัดแย้ง ในขณะที่คนส่วนที่เหลือต้องทนทุกข์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือการทำร้ายกลุ่มผู้ยากจนโดยไร้เหตุผล

 

เขาอ้างถึงกลุ่มเปราะบางในนิวยอร์กซึ่งอาศัยอยู่โดยไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าและบริการด้านสุขภาพเมื่อต้องเจอกับภัยพิบัติอย่างเฮอร์ริเคนแซนดีใน พ.ศ. 2555 ขณะที่ “สำนักงานใหญ่ของ Goldman Sachs ได้รับการคุ้มกันจากกระสอบทรายหลายหมื่นใบ และมีไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟของตัวเอง”

กลุ่มผู้ยากไร้คิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของประชากรโลก หรือ 3.5 พันล้านคน กลุ่มประชากรเหล่านี้ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ในขณะที่กลุ่มผู้ร่ำรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ คือกลุ่มที่ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ราวครึ่งของทั้งหมด

รายงานของ Oxfam พ.ศ. 2558 พบว่า ผู้ร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 175 เท่าของประชาชนที่ยากจนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์

แน่นอนว่ามีสัญญาณการพัฒนาที่ดีหลายอย่าง เช่น ราคาของพลังงานหมุนเวียนที่ลดต่ำลง ถ่านหินกลายเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่สามารถแข่งขันได้ การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของ 49 ประเทศมีแนวโน้มลดลง และ 7,000 เมือง 245 ภูมิภาค และ 6,000 บริษัทมีนโยบายช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

 

อย่างไรก็ดี แม้จะมีความพยายามลดการพึ่งพาถ่านหิน ประเทศจีนซึ่งปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบัน ก็ยังส่งออกโรงไฟฟ้าถ่านหิน และล้มเหลวที่จะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยแก๊สมีเทน ในขณะที่ประเทศบราซิลมีแผนที่จะเปิดป่าแอมะซอนเพื่อทำเหมืองแร่ ยุติการจัดสรรที่ดินให้ชาติพันธุ์ท้องถิ่น และลดความเข้มข้นของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) กล่าวโทษทุกประเทศว่าเป็นสาเหตุของวิกฤติดังกล่าว ยกเว้นสหรัฐอเมริกซึ่งเป็นผู้ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อันดับสองของโลก

“ประเทศจีน อินเดีย รัสเซีย และอีกหลายประเทศ ไม่มีอากาศที่ดี น้ำที่ดี ในแง่ของมลภาวะ หากคุณไปในบางเมืองนั้น คุณแทบจะหายใจไม่ออก ตอนนี้มลภาวะเหล่านั้นกำลังลอยขึ้นไป และไม่มีใครที่จะรับผิดชอบ” นี่คือข้อความส่วนหนึ่งที่เขาให้สัมภาษณ์เมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา

ฟิลิป แอลสตันวิพากษ์วิจารณ์ว่า องค์การด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติยังมีความพยายามไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นนั้น เทียบไม่ได้เลยกับความคับขันและความรุนแรงของภัยคุกคาม

 

ถอดความและเรียบเรียงจาก ‘Climate apartheid’: Rich people to buy their way out of environmental crisis while poor suffer, warns UN
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์