เกรตแบร์ริเอร์รีฟอาการทรุด ผลกระทบหลังการฟอกขาวครั้งล่าสุด

เกรตแบร์ริเอร์รีฟอาการทรุด ผลกระทบหลังการฟอกขาวครั้งล่าสุด

จำนวนปะการังใหม่ในเกรตแบร์ริเอร์รีฟ ประเทศออสเตรเลียลดลงถึงร้อยละ 89 หลังจากการฟอกขาวซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อ พ.ศ. 2559 และ 2560

นักวิทยาศาสต์ศึกษาว่ามีจำนวนปะการังที่โตเต็มที่เหลือรอดอยู่เท่าไหร่ และสามารถผลิตปะการังใหม่ได้เท่าไหร่ ในระบบนิเวศปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อ พ.ศ. 2561 หลังจากคลื่นกระแสน้ำอุ่นครั้งรุนแรงและการตายครั้งใหญ่ของปะการัง

ผลการศึกษาเผยแพร่ในวารสาร Nature พบว่ามีจำนวนปะการังใหม่ลดลงอย่างฮวบฮาบหากเทียบกับตัวเลขในอดีต อีกทั้งชนิดพันธุ์ของปะการังก็เปลี่ยนแปลงไป Terry Hughes ผู้นำการวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านปะการังจาก ARC Centre of Excellence for Coral Reef Studies มหาวิทยาลัย James Cook ระบุว่าผลการศึกษาฉายภาพให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในอนาคตอันใกล้ของแนวปะการังแห่งนี้ หากยังเกิดเหตุปะการังฟอกขาวในขณะที่ปะการังยังไม่มีเวลาเพียงพอที่จะฟื้นตัว ซึ่งปกติอาจใช้เวลาราวทศวรรษ

“เราได้ทำการศึกษาเรื่องปะการังที่กำลังตายลง เคยบอกเล่าเรื่องราวว่าใครได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ก้าวต่อไปคือปะการังชนิดพันธุ์ใดที่มีโอกาสฟื้นตัว” เขาให้สัมภาษณ์ “แต่เราพบว่าการฟื้นตัวเป็นไปอย่างเชื่องช้าเนื่องจากลูกปะการังนั้นหลงเหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น”

 

กระเบื้องปกคลุมด้วยสิ่งกระตุ้นการทรุดตัวของปะการัง: Great Barrier Reef การยุบตัวของปะการังใหม่เกิดขึ้นหลังจากการตายของปะการังผู้ใหญ่ PHOTO : Tory Chase / ARC CoE สำหรับการศึกษาแนวปะการัง

 

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าจำนวนปะการังเกิดใหม่ทั่วแนวปะการังแห่งนี้ลดลงถึงร้อยละ 89 ตัวเลขดังกล่าวเป็นค่าเฉลี่ยที่คำนวณรวมการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยของปะการังในทางใต้สุด ซึ่งได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวค่อนข้างน้อย ในขณะที่เขตทางเหนือนั้นเผชิญปัญหาปะการังเกิดใหม่ลดลงรุนแรงกว่ามาก

Terry Hughes ให้สัมภาษณ์ว่าการกำเนิดใหม่ของปะการังโดยรอบ Lizard Island ลดลงถึงร้อยละ 98 ในปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับในอดีต แม้ว่าแนวโน้มจะดีขึ้น แต่ปริมาณการเกิดใหม่ของปะการังก็มีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น

คณะวิจัยยังพบว่าความหลากหลายของชนิดพันธุ์ลูกปะการังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ปะการัง Acropora ซึ่งเป็นปะการังกิ่งไม้เล็ก ปะการังเขากวาง และปะการังโต๊ะซึ่งเคยเป็นองค์ประกอบสำคัญของแนวปะการังแห่งนี้ลดลงถึงร้อยละ 93

ในแนวปะการังที่มีสุขภาพดี ปะการังชนิด Acropora จะมีราวร้อยละ 2 ใน 3 ของปะการังทั้งหมด ซึ่งให้ที่อยู่อาศัยกับปลาและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ

“หากคุณเปลี่ยนสัดส่วนของลูกปะการัง นั่นหมายความว่าชนิดพันธุ์ในแนวปะการังกำลังเปลี่ยนแปลงไป เราไม่ได้พูดว่าเกรตแบร์ริเออร์รีฟถึงคราวอวสาน แต่นี่คือการเดินบนเส้นทางใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าความเชื่อมโยงของระบบนิเวศแห่งนี้กับระบบนิเวศอื่นๆ และชนิดพันธุ์ต่างๆ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไป” Terry Hughes กล่าวสรุป

สาเหตุหลักที่ทำให้จำนวนปะการังเกิดใหม่ลดน้อยลงก็คือจำนวนปะการังที่โตเต็มที่ซึ่งลดลงหลังจากการฟอกขาวครั้งใหญ่ การฟื้นตัวของแนวปะการังจำเป็นต้องมีปะการังที่โตเต็มที่ในปริมาณมากพอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่สามารถเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน “เกรตแบร์ริเออร์รีฟยังไม่หมดอนาคต แต่ผมมั่นใจว่าการฟื้นตัวจะต้องเป็นไปอย่างเชื่องช้ามากๆ”

“ความกังวลหลักๆ คือกระบวนฟื้นตัวนี้อาจไม่ต่อเนื่อง เพราะเวลาที่จำเป็นต้องใช้อาจยาวนานถึงทศวรรษ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ย่อมมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการฟอกขาวครั้งใหญ่อีกราวหนึ่งหรือสองครั้ง” Terry Hughes กล่าวทิ้งท้าย

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Great Barrier Reef suffers 89% collapse in new coral after bleaching events โดย Lisa Cox
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง : Richard Vevers / Flickr