องค์การอนามัยโลกเดินหน้าตรวจสอบ หลังพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในน้ำดื่มบรรจุขวด

องค์การอนามัยโลกเดินหน้าตรวจสอบ หลังพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในน้ำดื่มบรรจุขวด

คณะวิจัยระบุว่า ปริมาณเส้นใยพลาสติกจิ๋วที่พบในน้ำดื่มบรรจุขวดแบรนด์ดังอาจมากเป็นสองเท่าหากเปรียบเทียบกับที่พบในน้ำประปา

องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization) ประกาศว่าจะเดินหน้าตรวจสอบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการปนเปื้อนของพลาสติกในน้ำดื่ม หลังจากที่งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าน้ำดื่มบรรจุขวดยี่ห้อดังมีเส้นใยพลาสติกขนาดจิ๋วปนเปื้อนราวร้อยละ 90 โดยงานวิจัยชิ้นก่อนหน้าพบการปนเปื้อนของเส้นใยพลาสติกขนาดจิ๋วในน้ำประปาจากหลายแห่งทั่วโลก

งานชิ้นล่าสุดสำรวจน้ำดื่มบรรจุขวด 259 ขวด 11 ยี่ห้อซึ่งมาจาก 19 พื้นที่ 9 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา จีน บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก เลบานอน เคนยา และประเทศไทย โดยพบว่ามีอนุภาคพลาสติกปนเปื้อนเฉลี่ย 325 ชิ้นต่อน้ำหนึ่งลิตร

ในน้ำดื่มบรรจุขวดยี่ห้อ Nestlé Pure Life พบอนุภาคพลาสติกสูงถึง 10,000 ชิ้นต่อน้ำหนึ่งลิตร นอกจากนี้ คณะวิจัยยังพบว่ามีเพียงน้ำดื่ม 17 ขวดจากทั้งหมด 259 ขวดเท่านั้นที่ปลอดพลาสติก

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จาก State University of New York ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากโครงการด้านสื่อมวลชน Orb Media เพื่อวิเคราะห์น้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งสรุปว่าพบอนุภาคพลาสติกราว 2 เท่าในน้ำดื่มบรรจุขวดเมื่อเปรียบเทียบกับที่พบในน้ำประปาจากการศึกษาครั้งก่อน

พลาสติกที่พบส่วนใหญ่คือ Polypropylene ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดเดียวกับที่ใช้สำหรับทำฝาขวด โดยคณะวิจัยจะใช้สีย้อมแดง Nile ซึ่งจะย้อมติดอนุภาคใสในน้ำ ซึ่งสีย้อมดังกล่าวจะย้อมพื้นผิวพลาสติกได้ดีเป็นพิเศษ แต่ไม่ติดบนวัสดุธรรมชาติมากนัก

อย่างไรก็ดี งานวิจัยชิ้นดังกล่าวไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร หรือผ่านการตรวจสอบโดยคณะผู้เชี่ยวชาญ แต่ Dr. Andrew Mayes จาก University of East Anglia ผู้พัฒนาเทคนิคการย้อมแดง Nile ระบุว่าเขารู้สึก “พึงพอใจที่คณะวิจัยนำเทคนิคดังกล่าวไปใช้อย่างระมัดระวังและเหมาะสม โดยผมเองก็คงทำแบบเดียวกันในห้องทดลอง”

ยี่ห้อน้ำดื่มที่ Orb Media เลือกนำมาวิเคราะห์คือ Aqua (Danone), Aquafina (PepsiCo), Bisleri (Bisleri International), Dasani (Coca-Cola), Epura (PepsiCo), Evian (Danone), Gerolsteiner (Gerolsteiner Brunnen), Minalba (Grupo Edson Queiroz), Nestlé Pure Life (Nestlé), San Pellegrino (Nestlé) และ Wahaha (Hangzhou Wahaha Group)

 

ภาพเส้นใยขนาดจิ๋วที่พบในน้ำดื่ม / PHOTO Abigail Barrows

 

โฆษกองค์การอนามัยโลกให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว the Guardian ว่า ปัจจุบันเรายังไม่มีหลักฐานว่าการปนเปื้อนของอนุภาคพลาสติกในน้ำมีผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์หรือไม่ แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องน่ากังวล อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกมีแผนที่จะ “ศึกษางานวิจัยที่กล่าวได้ว่ามีน้อยมาก เพื่อระบุความน่าเชื่อถือ และจะนำข้อมูลดังกล่าวไปทำเป็นโครงการวิจัยเพื่อประเมินความเสี่ยงอย่างชัดเจนและรอบด้าน”

อีกหนึ่งงานวิจัยที่จัดทำขึ้นภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มรณรงค์ Story of Stuff ได้ตรวจสอบน้ำดื่ม 19 ขวดในสหรัฐอเมริกา และพบการปนเปื้อนของเส้นใยพลาสติกขนาดจิ๋วเช่นเดียวกัน โดยแบรนด์ Boxed Water มีเส้นใยพลาสติกราว 58.6 ชิ้นต่อลิตร ส่วน Ozarka และ Ice Mountain ซึ่งอยู่ภายใต้เครือ Nestlé มีเส้นใยพลาสติกราว 15 และ 11 ชิ้นต่อลิตรตามลำดับ ส่วนน้ำดื่ม Fiji Water พบที่ 12 ชิ้นต่อลิตร

Abigail Barrows ผู้ทำการวิจัยสำหรับกลุ่มรณรงค์ Story of Stuff ระบุว่า เส้นใยพลาสติกดังกล่าวอาจมีแหล่งที่มาหลากหลาย เนื่องจาก “เส้นใยพลาสติกเหล่านี้มักจะลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งพบได้ทั้งภายในและภายนอกโรงงานการผลิต โดยอาจหลุดมาจากพัดลมหรือเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่” ในขณะที่ Stiv Wilson ผู้ประสานงานของกลุ่ม Story of Stuff มองว่าการพบเส้นใยพลาสติกในน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นเป็นปัญหา เนื่องจาก “ผู้บริโภคจ่ายเงินมากกว่าน้ำดื่มประเภทอื่นเพื่อซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด”

การปนเปื้อนของพลาสติกไม่ได้อยู่แค่น้ำดื่มเท่านั้น Jaqueline Savitz หนึ่งในนักรณรงค์ของกลุ่ม Oceana ระบุว่า

 

พลาสติกถูกพบว่าปนเปื้อนอยู่ในสัตว์น้ำ นั่นหมายความว่าเราบางคนก็ต่างเผชิญกับมลภาวะดังกล่าว สถานการณ์ปัจจุบันคือเราเจอกับพลาสติกเต็มไปหมด ตั้งแต่การปนเปื้อนของพลาสติกขนาดจิ๋วในน้ำ สารเคมีที่เป็นพิษจากพลาสติก และจุดจบในท้องของสัตว์ทะเล

 

อย่างไรก็ดี บริษัท Nestlé ได้วิพากษ์วิธีการศึกษาของนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก Orb Media โดยระบุในแถลงการณ์ซึ่งเผยแพร่ทาง CBC ว่าเทคนิคการใช้สีย้อมแดง Nile อาจทำให้ผลการวิจัยผิดพลาด ในขณะที่ Coca-Cola ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่ามีกระบวนการขั้นตอนการกรองน้ำดื่มที่เข้มงวด แต่ด้วยความที่พลาสติกขนาดจิ๋วนั้นพบได้เต็มไปหมดในสิ่งแวดล้อม ก็มีความเป็นไปได้ที่พลาสติกเหล่านี้ “อาจถูกพบเล็กน้อยในผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการกรองแล้ว”

ในขณะเดียวกัน โฆษกของบริษัท Gerolsteiner ระบุว่าบริษัทไม่สามารถป้องกันการปนเปื้อนจากเส้นใยพลาสติกขนาดจิ๋วที่อยู่ในอากาศระหว่างกระบวนการบรรจุขวด นอกจากนี้ บริษัทก็มีการควบคุมและตรวจสอบระดับการปนเปื้อนของเส้นใยพลาสติกดังกล่าวโดยพบว่ามีปริมาณที่น้อยกว่าปริมาณที่ได้รับอนุญาตให้มีในผลิตภัณฑ์เวชกรรม ส่วน Danone ระบุว่าวิธีการทำวิจัยดังกล่าว ‘ไม่ชัดเจน’ และ American Beverage Association ก็ยืนกรานว่าน้ำดื่มบรรจุขวดปลอดภัย และเสริมว่าศาสตร์ของพลาสติกขนาดจิ๋วยังคงเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก WHO launches health review after microplastics found in 90% of bottled water โดย Graham Readfearn
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์