อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ เสือโคร่ง ในประเทศลาว ‘สูญพันธุ์’

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ เสือโคร่ง ในประเทศลาว ‘สูญพันธุ์’

บ่วงกับดักจำนวนมากในผืนป่าอาจเป็นสาเหตุที่พรากชีวิตเสือโคร่งตัวสุดท้ายไปจากประเทศลาว – นี่คือข้อสรุปจากการศึกษาชิ้นใหม่ที่ยืนยันว่า “ไม่พบหลักฐานการมีอยู่ของ เสือโคร่ง ในประเทศลาวอีกแล้ว”

สิ่งที่นักวิจัยพบระหว่างการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่งเป็นเวลานานถึง 5 ปี ทั่วพื้นที่น้ำแอด-พูเลย ผืนป่าที่ยังมากด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ คือ บ่วงดักสัตว์จำนวนมหาศาล

“บ่วงเป็นเครื่องมือจับสัตว์ที่ทำขึ้นได้ง่าย”​ Akchousanh Rasphone นักสัตววิทยา จาก Wildlife Conservation Research Unit (WildCRU) และผู้เขียนสรุปงานวิจัย กล่าว เธออธิบายต่อว่า “คนๆ หนึ่งสามารถวางบ่วงได้หลายร้อยหรือหลายพันตัว ซึ่งมันเป็นเครื่องมือที่ทำร้ายสัตว์ป่าอย่างไม่เลือกสายพันธุ์ ทั้งยังไร้ซึ่งมนุษยธรรมใดๆ สำหรับสิ่งที่ถูกจับ”

สัตว์ส่วนใหญ่ที่ติดบ่วงจะถูกนำไปขายในตลาดค้าเนื้อสัตว์ป่า แม้ว่าส่วนที่ผู้ค้าสัตว์ป่าต้องการจากเสืออาจจะเป็นขนที่มีมูลค่าหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย แต่ก็ไม่มีข้อยกเว้นว่าเสือโคร่งจะรอดพ้นจากกับดักจำนวนมากที่ถูกวางไว้

จากข้อมูลประชากรเสือโคร่งของประเทศลาวที่เผยแพร่คร้ังล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2559 ระบุว่ามีเสือโคร่งเหลืออยู่ในป่าธรรมชาติ 2 ตัว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการตั้งกล้องสำรวจจำนวนประชากรเสือในปีแรกที่เริ่มวิจัย ซึ่งเป็นเพียงครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายที่ทีมวิจัยสามารถจับภาพเสือทั้งสองเอาไว้ได้ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้พบเสือทั้งสองตัวอีกเลย

 

Photo: Bill Robichaud/Global Wildlife Conservation (CC BY 2.0)

 

“ทีมของเราพยายามทำทุกอย่างเท่าที่เราสามารถทำได้ ด้วยทรัพยากรที่เรามีอย่างจำกัด เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์นี้ให้คงอยู่” นักสัตววิทยา จาก WildCRU กล่าว

ท่ามกลางอุปสงค์ในตลาดการค้าเสือระหว่างประเทศที่มีมาก ความตายของ “เสือโคร่งอินโดจีน” ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกลุ่มประชากรที่แข็งแรงยังพบได้ในผืนป่าของประเทศไทย ซึ่งมีประมาณ 189 ตัว ทว่าในประเทศอื่นๆ กลับมีสถานะที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมาก ทั้งในประเทศจีน เหลือประมาณ 7 ตัว, เวียดนาม เหลือน้อยกว่า 5 ตัว และในพม่าก็ไม่มีข้อมูลจำนวนประชากรที่เชื่อถือได้

และเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมากที่ข่าวการหายไปของเสือโคร่งในประเทศลาว กลับไม่เป็นที่สนใจของผู้คนในประเทศมากนัก

“ในประเทศลาวมีการพูดคุยถึงประเด็นนี้น้อยมาก โดยเฉพาะในแง่ของการเตรียมรับมือและป้องกันไม่ได้สายพันธุ์อื่นๆ ต้องสูญพันธุ์ไปอีกในอนาคต” Rasphone กล่าว “สิ่งเดียวที่รัฐบาลกังวล คือ ผลสรุปของงานวิจัยจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย พวกเขาไม่สนใจจะใช้มันเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดความผิดผลาดซ้ำสองกับสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ที่สำคัญ และยังไม่ได้ลงมือทำงานอนุรักษ์”

ในความเห็นของนักวิจัยมองว่า บ่วงดักสัตว์ คือปัญหาใหญ่ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับสัตว์ชนิดอื่นๆ ในวงกว้างอีกมาก

นักวิจัยยังกล่าวด้วยว่า เสือดาวอาจเป็นสัตว์ตระกูลแมวอีกชนิดที่สูญพันธุ์ไปจากประเทศลาว หลังการสำรวจอย่างเป็นทางการในประเทศเมื่อปี 2547 แต่นักอนุรักษ์ยังหวังว่าอาจมีเสือดาวหลงเหลืออยู่บ้างในผืนป่าน้ำแอด-พูเลย

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า จำนวนสัตว์ชนิดอื่นๆ ต่างมีแนวโน้มลดลงอย่างน่าเป็นห่วง ทั้งสัตว์ผู้ล่าอย่างหมาไน เสือดาว และเสือลายเมฆ หรือในกรณีของสายพันธุ์เหยื่ออย่างกระทิง ก็กลายเป็นสัตว์ป่าที่พบเห็นได้ยากไปแล้วในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกล่าวว่า ทีมงานยังคงทำการสำรวจสัตว์ป่าต่อไป เพื่อค้นหาหลักฐานของสิ่งที่อาจไม่มีอยู่แล้ว และยังกล่าวย้ำให้รัฐบาลหันมาจริงจังกับการสำรวจจำนวนประชากรของเสือโคร่งและเสือดาวต่อไป

อนึ่ง ต่อประเด็นการสูญพันธุ์ของเสือโคร่งในประเทศลาว มีการตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่ลาวยังมีสายพันธุ์ของเสืออีกหลายร้อยตัวในฟาร์มเพาะเลี้ยงภายในประเทศที่เปิดอย่างผิดกฎหมายและเป็นการเลี้ยงเพื่อค้าขายชิ้นส่วนอวัยวะโดยเฉพาะ

ต่อเรื่องนี้ เดิมทีรัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาแล้วว่าจะปิดฟาร์มเหล่านั้น เพราะมีส่วนเชื่อมโยงกับขบวนการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย แต่จนแล้วจนรอดปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ว่าเอาไว้เลย

นักวิจัย กล่าวทิ้งท้ายว่า สถานะของสัตว์ป่ายังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และหวังให้ผลการศึกษาชิ้นนี้เป็นแนวทางกำหนดนโยบายการอนุรักษ์สัตว์ป่าหรือเสือในประเทศอื่นๆ ที่ยังคงมีประชากรเหลืออยู่ต่อไปในอนาคต

 


 

จำนวนประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติปัจจุบันถูกปรับปรุงใหม่เป็น 3,890 ตัวทั่วโลก อ้างอิง จาก การประชุมระหว่างรัฐบาลของกลุ่มประเทศที่มีเสือโคร่ง เมษายน 2016 และ WWF

ประเทศ             จำนวน (เม.ย. 2016) ข้อมูลอ้างอิง          
บังคลาเทศ 106 National Survey 2015
ภูฏาน 103 National Survey 2015
กัมพูชา 0 IUCN 2015
จีน น้อยกว่า 7 ตัว IUCN 2015
อินเดีย 2226 National Survey 2014
อินโดนีเซีย 371 IUCN 2015 (lower range)
ลาว 2 IUCN 2015
มาเลเซีย 250 IUCN 2015 (lower range)
พม่า ไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือ IUCN 2015
เนปาล  198 National Survey 2013
รัสเซีย  433 National Survey 2015
 ไทย  189 IUCN 2015 (lower range)
เวียดนาม มากกว่า 5 ตัว  IUCN 2015

 

รัฐบาลในกลุ่มประเทศที่มีเสือโคร่งต่างให้คำมั่นว่าจะเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งให้ได้เป็น 2 เท่าภายในปีเสือ 2022 ตามปีนักษัตรไทยและเอเชีย โดยเรียกเป้าหมายนี้ว่า TX2

 


เรื่อง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
เรียบเรียงจาก Tigers Extinct in Laos via https://therevelator.org/
ภาพเปิดเรื่อง 2007 photo of a tiger rescued from poachers in Laos. Photo: Reed Kennedy (CC BY-SA 2.0)