วิวัฒนาจากป่าสู่เมือง แสงสีกลางกรุงสร้างสปีชีส์ใหม่ได้อย่างไร ?

วิวัฒนาจากป่าสู่เมือง แสงสีกลางกรุงสร้างสปีชีส์ใหม่ได้อย่างไร ?

ตอนเย็นก่อนนัดชิงแชมป์ฟุตบอลยูโร 2016 ระหว่างฝรั่งเศสและโปรตุเกส เจ้าหน้าที่ประจำสนามกีฬา Stade de Franceในปารีสเปิดไฟสปอตไลท์ทิ้งไว้โดยให้เหตุผลด้านความปลอดภัย แสงสว่างดึงดูดให้ผีเสื้อกลางคืนสีเงินที่กำลังอพยพฝูงใหญ่พุ่งตรงไปยังแสงไฟ เหล่าแมลงที่ยังไม่มอดไหม้จากความร้อนก็หลบไปในหญ้าของสนามกีฬาที่ว่างเปล่า เมื่อแสงไฟดับลง ผีเสื้อกลางคืนเหล่านั้นก็หลบซ่อนรอการแข่งขันนัดสำคัญ

หลังจากผู้เข้าชม 80,000 ชีวิตเข้าประจำที่ และแสงไฟถูกเปิดขึ้นใหม่อีกครั้ง เหล่าผีเสื้อกลางคืนที่หลับไหลก็โผขึ้นสู่ท้องฟ้า และบินฉวัดเฉวียนท่ามกลางนักกีฬาฟุตบอลในสนาม หลายภาพในค่ำคืนนั้นถ่ายทอดจังหวะที่เหล่าพนักงานที่หงุดหงิดเพราะถูกผีเสื้อกลางคืนเกาะติดตามเสื้อผ้า แถมยังไปบังเลนส์กล้องถ่ายทอดสดเสียมิด แต่ไฮไลท์ประจำวันอยู่ที่ผีเสื้อกลางคืนที่ฉายเดี่ยวไปจิบน้ำตาของคริสเตียโน โรนัลโดหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บ

เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า แสงสีของเมืองอาจนำไปสู่เรื่องราวน่าฉงนระคนประหลาดใจ เมืองใหญ่ก็ไม่ต่างจากนักวิทยาศาสตร์คลั่งที่นำส่วนประกอบแปลกประหลาดมาผสมปนเปจนเข้ากัน เติมรสด้วยแสงสว่างเทียม มลภาวะ พื้นผิวจากวัสดุแปลกประหลาด และสารพัดความท้าทายต่างๆ ที่นักวิจัยจากทั่วทุกมุมโลกต่างก็ศึกษาว่าโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนเป็นเมืองนั้นส่งผลอย่างไรต่อพฤติกรรมและการวิวัฒนาการของสัตว์ป่า

นักชีววิทยาที่สนใจการวิวัฒนาการในยุคปัจจุบันอาจไม่ต้องนั่งเรือไปที่ห่างไกลอย่างหมู่เกาะกาลาปากอส เพื่อค้นหา ‘จอกศักดิ์สิทธิ์’ ที่ซุกซ่อนความลับของการวิวัฒนาการเอาไว้ เพราะกระบวนการดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ ที่ที่เราอยู่อาศัยและทำงานหาเลี้ยงชีพ

ผีเสื้อกลางคืนสีเงินบนใบหน้านักฟุตบอลดัง / Photograph: BBC One

 

เมืองหม้อรวมมิตร

ในมุมมองของประชากรมนุษย์ เมืองคือส่วนประกอบมากมายหลายหลายจากเหล่าผู้อพยพต่างชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม การเดินทางของมนุษย์จากทั่วทุกมุมโลกก็ได้พาพืชและสัตว์ต่างถิ่นติดสอยห้อยตามไปด้วย ตั้งแต่วันแรกที่มนุษย์รู้จักการค้าขายและเดินทาง

นกเอี้ยงชวาที่พบได้ทั่วไปในสิงคโปร์เดินทางมายังเกาะแห่งนี้ครั้งแรกในฐานะสัตว์เลี้ยงจากประเทศอินโดนีเซียราว พ.ศ. 2468 ได้รับความนิยมอย่างมากในฐานะนกเลียนเสียง แต่ปัจจุบันกลับเริ่มเป็นปัญหาต่อมนุษย์ทั้งในแง่ปริมาณและเสียงจอแจ นกแก้วริงค์เน็คสสีเขียวสดจากอินเดียและแอฟริกา ก็หาที่ทางให้กับตัวเองในทวีปยุโรป หลังจากยุคเฟื่องฟูของการค้านกในกรงช่วงศตวรรษที่ 20 ในลอนดอนพวกมันอาศัยได้ด้วยผลของต้นฮอร์สเชสนัทซึ่งมีที่มาจากกรีซ

เจ้าของสวนสัตว์เบลเยียมทำการปล่อยนกแก้ว 40 ตัวโดยให้เหตุผลว่า “บรัสเซลล์ต้องการสีสันมากกว่าที่เป็นอยู่” ซึ่งปัจจุบัน ประชากรนกดังกล่าวมีอยู่ราว 30,000 ตัวทั่วประเทศ

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 Eugene Schieffelin นักผลิตยาตัดสินใจนำนกทุกชนิดที่ถูกกล่าวถึงในงานเขียนของเชคสเปียร์ไปยังสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2433 ถึง 2434 เขาได้ทำการส่งนกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป (European starlings) จากประเทศอังกฤษทั้งสิ้นรวม 80 คู่ และปล่อยไปในเซ็นทรัลปาร์กแห่งมหานครนิวยอร์ก ปัจจุบัน มีประชากรนกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรปพอๆ กับประชากรมนุษย์ทั้งหมดในทวีปอเมริกาเหนือ

ในสวนหลังบ้าน ระเบียง และสวนสาธารณะ ต่างเต็มไปด้วยพืชพันธุ์จากรอบโลก ซึ่งเป็นอาหารของสารพัดสัตว์จากหลากทวีป เมืองใหญ่ในประเทศมาเลเซีย นกเขาพันธุ์ยุโรป (European rock pigeon) กินดอกชบาจากประเทศจีนซึ่งปลูกไว้เป็นไม้ประดับเป็นอาหาร ในเมือง Perthประเทศออสเตรเลียกระรอกปาล์มอินเดียเหนือถูกปล่อยเมื่อ พ.ศ. 2441 และสามารถดำรงปริมาณประชากรได้จากปริมาณผลอินทผลัม และสารพัดปาล์มต่างถิ่นที่ถูกปลูกในเมือง เขตเมืองใหญ่ถักทอห่วงโซ่อาหารที่เกิดจากการจับพลัดจับผลูระหว่างสองชนิดพันธุ์ และนำไปสู่แบบแผนที่น่าตื่นใจ

พื้นที่ที่มีกิจกรรมของมนุษย์ต่างเต็มไปด้วยชนิดพันธุ์แปลกประหลาด ระบบนิเวศเมืองไม่ได้เกิดขึ้นจากการวิวัฒนาการหลายร้อยปี หรือการตั้งรกรากของสปีชีส์ต่างๆ อย่างเชื่องช้าโดยการตัดสินใจของประชากร แต่ระบบนิเวศเมืองเกิดจากมนุษย์เพียงลำพัง และการแปลงพื้นที่เป็นเมืองก็ส่งผลที่น่าประหลาดใจต่อพฤติกรรมของสัตว์

 

อีกานักกระเทาะเปลือกแห่งเซนได

เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น อีกาท้องถิ่นมีชื่อเสียงโด่งดังจากเทคนิคในการกระเทาะเปลือกเกาลัด โดยกาจะคาบเกาลัดที่ยังไม่ถูกกระเทาะเปลือกไปวางหน้าล้อรถที่เคลื่อนที่ช้าๆ และจะกลับมาคาบเนื้อไปกินหลังจากรถวิ่งผ่านไปแล้ว เช่นเดียวกับในสหราชอาณาจักร ที่นกบางชนิดก็พัฒนาทักษะในการเปิดขวดนม ที่แม้ภายในผู้ผลิตจะปรับเปลี่ยนเป็นฝาจีบที่ทำจากโลหะ เหล่านกก็ยังหาวิธีการเจาะไปเปิดขวดได้อย่างไม่ยากเย็น

ในเวียนนา ประเทศออสเตรีย มีการค้นพบแมงมุมซึ่งเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่แมงมุมมักจะชื่นชอบการอยู่ในที่มืด แต่ในเวียนนา กลับพบแมงมุมบางตัวที่ทักใยสู่แสงไฟนีออน โดยเหล่าแมงมุมที่อาศัยอยู่ใต้แสงไฟประดิษฐ์สามรถจับเหยื่อได้มากกว่าแมงมุมทั่วไปถึง 4 เท่าตัว ในเม็กซิโก นักปักษีวิทยาพบว่าก้นบุหรี่เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการสร้างรังของนกกระจอกบ้าน ซึ่งพวกเขายังหาคำตอบไม่ได้ว่าเพราะก้นบุหรี่เหล่านั้นทำให้รังอยู่สบาย หรือเพราะนกสามารถรับรู้ถึงนิโคติน ซึ่งเป็นสารต้านแมลงและสามารถไล่เห็บ เล็น และเหล่าแมลงปรสิตให้อยู่ห่างจากรัง

ผลกระทบจากการเปลี่ยนเป็นเมือง ไม่ได้ส่งผลเพียงพฤติกรรมของสัตว์เท่านั้น แต่ยังทำเปลี่ยนทิศทางการวิวัฒนาการอีกด้วย

นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่าความกว้างของนกนางแอ่นผา (Cliff Swallow) ซึ่งเปลี่ยนมาอาศัยอยู่บนแท่นคอนกรีตของสะพานทางด่วนตั้งแต่ราว 40 ปีก่อนลดลง 2 มิลลิเมตร แน่นอนว่าตัวเลขเล็กๆ เหล่านี้แทบไม่ได้มีความน่าสนใจใดๆ หากสถิติการตายของนกนางแอ่นผาบนท้องถนนกลับมีทิศสวนทางกัน ก่อน พ.ศ. 2553 ปีกนกที่ถูกรถชนจะยาวกว่านกที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันราวครึ่งมิลลิเมตร ปัจจุบัน แม้ถนนบริเวณดังกล่าวยังคงหนาแน่น แต่อัตราการตายของนกกลับลดลงถึงร้อยละ 90

ขนาดของปีกนกไม่ใช่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงง่ายๆ จากการวิวัฒนาการ เพราะปีกสำคัญอย่างมากในการดำรงชีวิตของเหล่านก ปีกที่ยาวและปลายแหลมเหมาะสำหรับการบินเร็วเป็นเส้นตรง ส่วนปีกสั้นป้อมจะเหมาะกับการเปลี่ยนทิศทางการบินอย่างรวดเร็ว และการโผบินจากพื้น

เหตุการณ์ดังกล่าวมีข้อสรุปอย่างเดียวคือ มีเพียงนกนางแอ่นผาที่ปีกสั้นเพียงพอจะบินหักหลบรถบนท้องถนนอย่างรวดเร็วเท่านั้นที่อยู่รอดนานพอที่จะแพร่ยีนปีกสั้นไปยังกลุ่มประชากร นานวัน ประชากรแทบทั้งหมดก็ปรับตัวให้เหมาะกับการบินหลบรถยนต์ส่งผลให้อัตราการตายบนท้องถนนลดลงอย่างฮวบฮาบ

 

ตัวอย่างนกที่ตายในแคนาดา เนื่องจากบินไปชนอาคารที่ส่องสว่างในเมืองใหญ่ / Photograph: FLAP

 

กลุ่มนักวิจัยได้ศึกษาเพิ่มเติมจากตัวอย่างนกในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ 8 แห่งในอเมริกาเหนือ และวัดความยาวรวมถึงรูปร่างปีกของนกกิ้งโครง 312 ตัวอย่าง เขาพบว่านกเหล่านั้นได้ปรับเปลี่ยนรูปร่างของปีกให้กลมมนมากขึ้น เพราะขนชุดที่สองซึ่งอยู่ด้านใต้ท้องแขนยาวขึ้น 4 เปอร์เซ็นต์

คำตอบเร็วๆ จากการค้นพบนี้คือ นับตั้งแต่ Eugene Schieffelin ปล่อยเหล่านกกิ้งโครงในเซ็นทรัลปาร์ก ผ่านไป 120 ปี ประชากรมนุษย์ก็เติบโตรวดเร็วพอๆ กับเมืองที่ขยับขยาย ซึ่งมาพร้อมกับภัยคุกคามอย่างยานพาหนะและแมว รูปร่างปีกที่เปลี่ยนไป อาจเป็นเพราะเหล่านกกิ้งโครงจำเป็นต้องใช้ทักษะในการหลบหลีกภัยคุกคามเหล่านั้นก็เป็นได้

เมืองใหญ่ได้กลายเป็นระบบนิเวศที่ก่อกำเนิดชนิดพันธุ์ใหม่ๆ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์เช่นนกเดินดงสีดำพันธุ์ยูเรเซีย (Turdusmerula) ชนิดพันธุ์ที่เก่าแก่และถูกศึกษาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อีกทั้งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเมืองใหญ่อีกด้วย

 

กำเนิดนกเดินดงสีดำสายพันธุ์เมือง (Turdusurbanicus)

แรกเริ่มเดิมที เหล่านกเดินดงสีดำมาเยี่ยมเยือนเมืองในช่วงฤดูหนาว แต่หลังจากนั้นหลายทศวรรษ เหล่านกเดินดงบางตัวก็เริ่มตั้งถิ่นฐานในเมืองใหญ่ ออกลูกออกหลานที่ละทิ้งการอพยพ จนในที่สุดก็ละทิ้งป่ามาอยู่อาศัยในเมืองอย่างถาวร

ข้อความข้างต้นอาจสามารถหาอ่านได้จากคู่มือดูนก หรือปากคำของเหล่านักดูนก แต่หากต้องการเข้าใจจริงๆ ว่าความแตกต่างของนกเดินดงสีดำสายพันธุ์เมืองกับนกเดินดงสีดำที่อาศัยอยู่ในป่าอยู่ตรงไหน เราต้องไล่อ่านทุกงานวิจัยจากกลุ่มนักวิจัยที่ตามติดนกเดินดงสีดำสายพันธุ์เมืองมาร่วม 20 ปี แทบทุกประเทศในสหภาพยุโรป เหล่านักวิจัยต่างก็เดินหน้าเพื่อสร้างความเข้าใจนกชนิดนี้ และทุกชิ้นก็ลงความเห็นตรงกันว่า นกเดินดงสีดำที่อยู่อาศัยในเมืองนั้น ได้วิวัฒนาการเป็นอีกหนึ่งชนิดพันธุ์เรียบร้อยแล้ว

ทั่วทวีปยุโรปและแอฟริกาเหนือ นกเดินดงสีดำพันธุ์เมืองจะมีลักษณะจงอยที่สั้นและป้อมกว่านกเดินดงทั่วไป เนื่องจากอาหารในเมืองสามารถหาได้ไม่ยากเย็นนัก หน้าที่ของจงอยจากเดิมที่ใช้จิก แกะ และคีบกระเทาะ แทบไม่ถูกใช้อีกต่อไป นอกจากนี้ เสียงความวุ่นวายในเมืองใหญ่ยังส่งผลให้เสียงร้องของนกดังกล่าวเปลี่ยนไปอีกด้วย

 

นกเดินดงสีดำ สายพันธุ์นกที่เก่าแก่และได้รับการศึกษามาอย่างยาวนาน / Photograph: Alamy

 

กลุ่มนักวิจัยในประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ทำการศึกษาเสียงนกร้องกว่า 3,000 ครั้งและพบว่านกเดินดงสีดำสายพันธุ์เมืองจะส่งเสียงแหลมสูงกว่า ในขณะที่ทีมนักวิจัยจากประเทศเยอรมันพบว่านกดังกล่าวจะร้องเพลงในเวลากลางคืน เช่น ใจกลางเมือง Liepzig ที่เหล่านกจะเริ่มขับขานราว 3 ชั่วโมงก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อหลบเลี่ยงเสียงยานยนต์บนท้องถนน ในขณะที่สายพันธุ์ดั้งเดิมจะเริ่มส่งเสียงหลังพระอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น นาฬิกาชีวภาพของเหล่านกเมืองก็เร็วกว่านกป่าราว 1 เดือน

เหตุผลหนึ่งที่นกเดินดงสีดำสายพันธุ์เมืองจะเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์เร็วกว่าก็เพราะนกเหล่านั้นไม่ต้องเดินทางอพยพ และผ่านพ้นฤดูหนาวจากการกินอาหารจากถาดเลี้ยงนก ส่วนเหล่านกเดินดงดั้งเดิมจะต้องเดินทางอพยพครั้งใหญ่เพื่อหลีกหนีความหนาวเหน็บและอาหารที่ขาดแคลน พวกมันจะต้องใช้ชีวิตช่วงฤดูหนาวในภูมิภาคทางตอนใต้ และจะเริ่มผสมพันธุ์เมื่อกลับถึงบ้านเกิด ซึ่งขณะนั้น เหล่านกเมืองก็ทำรังเรียบร้อยแล้ว

ความแตกต่างระหว่างนกเมืองและนกป่าเห็นได้ชัดมากขึ้นจากผลการศึกษาในห้องทดลอง เพราะทั้งสองชนิดพันธุ์ไม่ได้มีวิถีชีวิตแตกต่างกันเพียงอย่างเดียว แต่ความแตกต่างนั้นลงลึกไปถึงระดับพันธุกรรม

บางคนอาจมองว่าในศตวรรษที่ผ่านมา นกเดินดงสีดำสายพันธุ์เมืองได้แยกขาดจากชนิดพันธุ์ดั้งเดิมเรียบร้อยแล้ว แต่บางคนก็อาจมองว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น แต่กำลังอยู่ในกระบวนการวิวัฒนาการ และรอแต่เพียงเวลาเท่านั้นที่ทั้งสองชนิดพันธุ์จะแยกออกจากกันอย่างแท้จริง

มีโอกาสเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า นกเดินดงสีดำสายพันธุ์เมืองจะเป็นชนิดพันธุ์แรกที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศใหม่นั่นคือเมืองของมนุษย์ซึ่งนับว่าเป็นปรากฎการณ์ใหม่บนโลกใบนี้ เหล่าสัตว์และพืชหลายชนิดต่างพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่โดยยังอยู่ในกระบวนการเริ่มต้นเท่านั้น แต่หากเรายังคงสภาพสิ่งแวดล้อมเมืองเช่นนี้ต่อไปได้ อนุชนคนรุ่นหลังย่อมจะได้เห็นวิวัฒนาการของพืชและสัตว์ที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมเมืองอย่างแน่นอน

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Darwin comes to town: how cities are creating new species อ้างอิงจากบทความซึ่งตีพิมพ์โดย Menno Schilthuizen
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์