เราอาจเหลือเวลาแค่ 10 ปี สำหรับการวางแผนเพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตจาก วิกฤตการสูญพันธุ์ ครั้งที่ 6

เราอาจเหลือเวลาแค่ 10 ปี สำหรับการวางแผนเพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตจาก วิกฤตการสูญพันธุ์ ครั้งที่ 6

รายงานล่าสุดจากสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกร่วมมือกันปกป้องพื้นที่หนึ่งในสามของผืนดินและมหาสมุทรทั้งหมด เพื่อลดทอน วิกฤตการสูญพันธุ์ ของสิ่งมีชีวิตที่กำลังดำเนินอย่างรวดเร็วทั่วทุกภูมิภาคบนโลกใบสีฟ้า รวมทั้งเรายังต้องช่วยกันต้องกำจัดแหล่งกำเนิดมลพิษให้สำเร็จภายในสิ้นทศวรรษนี้

ร่างแผนรายงาน ZERO DRAFT OF THE POST-2020 GLOBAL BIODIVERSITY FRAMEWORK ได้เผยแพร่ออกมาเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งได้กำหนดแนวทางสำหรับการต่อสู้กับวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคสมัยของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6

โดยนอกจากต้องปกป้องแผ่นดินและมหาสมุทรบนโลกให้ได้อย่างน้อย 30% แล้ว ในรายละเอียดยังระบุด้วยว่า อย่างน้อยต้องมีพื้นที่ 10% ที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการควบคุมการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่น ตลอดจนลดมลพิษที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกลงให้ได้อย่างน้อย 50%

แผนรายงานที่สหประชาชาตินำเสนอนี้ เป็นกรอบการทำงานที่จะเกิดขึ้นนับตั้งแต่ ค.ศ. 2020 เป็นต้นไป โดยถูกนำมาใช้แทนที่เป้าหมายเดิมที่นานาประเทศร่วมลงนามว่าจะบรรลุเป้าหมายในประเด็นดังกล่าวไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ ค.ศ. 2010 แต่ผลการดำเนินงานกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2019 สหประชาชาติ ได้เผยรายงานชวนน่าตกใจเรื่อง หนึ่งล้านสายพันธุ์กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และหากแนวโน้มการสูญพันธุ์ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ อัตราเฉลี่ยการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกจะสูงถึงร้อยเท่าในช่วง 10 ล้านปีที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นนี้มีนักวิทยาศาสตร์เกือบ 500 คนลงความเห็นพ้องไปในทางเดียวกัน

ในรายงานของสหประชาชาติเมื่อปีที่ผ่านมาระบุว่า มนุษย์มีการเปลี่ยนระบบนิเวศผืนดินไปแล้ว 75% และ 66% ของระบบนิเวศทางทะเลตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม

สำหรับร่างรายงานนี้เกิดขึ้นพร้อมกับสถาณการณ์ไฟป่าในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นวิกฤตเพลิงไหม้ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของภูมิภาค และได้คร่าชีวิตสัตว์ไปกว่า 1 พันล้านตัว และในจำนวนนั้นมีกลุ่มที่ใกล้สูญพันธุ์รวมอยู่ด้วย

หรือในกรณีล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ฉลามปากเป็ดจีนได้รับการประกาศให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์อย่างเป็นทางการไปอีกชนิดหนึ่งหลังจากมีความพยายามค้นหามาหลายปี แต่ไม่พบเจออีกเลย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนความหายนะที่กำลังคืบคลานเข้ามาโดยมิอาจละเลยอีกต่อไปได้

ประเด็นการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนี้ ยังเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายว่าทั้ง 2 วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบหวนคืนกลับมาสู่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์เราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ขณะเดียวกัน การเติบโตของจำนวนประชากรและความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นยังสวนทางกับจำนวนทรัพยากรที่ค่อยๆ ลดน้อยลงในทุกขณะ

ในรายงานของสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ประชากรโลกปัจจุบันที่มีอยู่ 7.6 พันล้านคน จะสูงถึง 8.6 พันล้านคนภายใน ค.ศ. 2030 และอาจมีมากถึง 9.8 พันล้านคนภายใน ค.ศ. 2050 ซึ่งหมายความว่า มนุษย์เราจะมีความต้องการทรัพยากร อาหาร โครงสร้างพื้นฐาน และการใช้ที่ดินอย่างมหาศาล

John Knox ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และศาสตราจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัย Wake Forest อธิบายว่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมีผลกระทบที่ร้ายแรงและกว้างขวางต่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ เช่น ผลผลิตประมงและการเกษตรลดลง แหล่งที่มาของยาจะหมดลง และโรคติดต่อจะเพิ่มขึ้น

 


เรื่อง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
เรียบเรียงจาก UN Biodiversity Plan Calls For Protecting 30% Of Earth By 2030 โดย Chris D’Angelo และ We have 10 years to save Earth’s biodiversity as mass extinction caused by humans takes hold, UN warns โดย Jessie Yeung,
ภาพประกอบ Sutanta Aditya/Barcroft Media via Getty Images