ทะเลสาบที่เป็นแหล่งอาหารของชาว ลุ่มน้ำโขง กำลังเผชิญภาวะขาดแคลนปลา

ทะเลสาบที่เป็นแหล่งอาหารของชาว ลุ่มน้ำโขง กำลังเผชิญภาวะขาดแคลนปลา

ในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นสถานที่ที่โตนเลสาบและแม่น้ำโขงสบกัน คนงานจำนวนมากกำลังเตรียมการขั้นสุดท้ายสำหรับงาน Bon Om Touk เทศกาลทางน้ำประจำปีราวต้นเดือนพฤศจิกายน นี่คืองานเฉลิมฉลองครั้งใหญ่และมีการประกาศวันหยุดยาว 3 วันทั่วประเทศ โดยมีการแข่งเรือประเพณี การดื่มสังสรรค์ และงานรื่นเริงมากมาย ใน ลุ่มน้ำโขง

นี่คือเทศกาลฉลองความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ อย่างไรก็ดี ปีนี้กัมพูชาอาจมีเรื่องให้ฉลองน้อยกว่าเดิม

เขื่อนที่แม่โขงตอนบนและภัยแล้งครั้งปรากฎการณ์ทำให้แม่โขงมีระดับน้ำต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ สององค์ประกอบนี้ทำให้โตนเลสาบต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติ

“มันคือชีพจรของแม่โขง” Brian Eyler ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Stimson Center และผู้เขียนหนังสือ ‘วันสุดท้ายของแม่น้ำโขง (Last Days of the Mighty Mekong)’ ให้สัมภาษณ์ “ชีวิตของแม่โขงแสดงออกผ่านโตนเลสาบ แต่ละปี ทะเลสาบแห่งนี้เป็นแหล่งปลาน้ำจืดกว่า 500,000 ตันให้กับชาวกัมพูชา และปลาอีกจำนวนกว่า 2.6 ล้านตันตลอดทั่วทั้งลุ่มน้ำโขง” ซึ่งประกอบด้วยไทย เวียดนาม และลาว

 

 

ความลับของผลิตภาพอันน่าอัศจรรย์ของโตนเลสาบคือระบบกระแสน้ำหลากแบบทางเดียว (monotonal flood pulsed system) โดยทั่วไปแล้ว โตนเลสาบจะไหลลงสู่แม่โขงแต่ในหน้ามรสุม น้ำในแม่โขงนั้นมีมากพอที่จะผลักกระแสน้ำให้ไหลกลับสู่แม่น้ำที่มีปลายทางอยู่ที่โตนเลสาบ “กระบวนการดังกล่าวทำให้ทะเลสาบขยายตัวราว 5 เท่าเมื่อเทียบกับฤดูร้อน มันไม่ได้นำมาซึ่งน้ำปริมาณมหาศาล แต่ยังรวมถึงตะกอนซึ่งเป็นต้นธารของสายใยอาหารของปลา รวมถึงไข่ปลาและลูกปลาซึ่งจะไหลเข้าสู่ทะเลสาบเพื่อหาแหล่งที่อยู่อาศัยและเติบโตเป็นปลาเต็มวัย”

ไม่ได้มีเพียงปลาเท่านั้นที่อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบแห่งนี้ นกน้ำทั่วโลกจะอพยพไปยังบริเวณดังกล่าวในช่วงฤดูหนาวของแต่ละปี เมื่อเข้าสู่ฤดูน้ำแล้ง น้ำที่เคยหลากเข้าสู่โตนเลสาบก็จะถอยย้อนกลับ ส่งผ่านตะกอน ปลา และไข่ปลา กลับคืนสู่แม่น้ำโขงไปยังแหล่งเพาะพันธุ์ในลาว ไทย และเวียดนาม

โดยปกติแล้ว กระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานหลายเดือน แต่ในปีนี้เนื่องด้วยสภาวะแล้งจัด กระบวนการนี้เกิดขึ้นเพียง 6 สัปดาห์ Brian Eyler กล่าวว่าในประเทศที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรอาศัยแหล่งโปรตีนจากปลา นี่คือปัญหาใหญ่ยักษ์เพราะน้ำที่น้อยลงนั้นย่อมหมายถึงปลาที่น้อยลงเช่นกัน โดยสถานการณ์ดังกล่าวพบทั้งในโตเลสาบและลำน้ำโขง

 

 

“เมื่อปีที่แล้ว ชาวประมงจะได้ปลาราว 5 ถึง 10 กิโลกรัมเพื่อนำไปจำหน่าย แต่ในปีนี้พวกเขาจับได้เพียง 1 ถึง 2 กิโลกรัมเท่านั้น” Khout Phany พ่อค้าปลาให้สัมภาษณ์ ณ ริมน้ำซึ่งเธอรับซื้อปลาสดๆ จากเรือชาวประมง “ระดับน้ำในแม่น้ำที่ลดลงทำให้การหาปลามีปัญหา”

เธอกล่าวเสริมอีกว่า มีชาวประมงจำนวนน้อยลงถนัดตาเพราะพวกเขาทราบดีว่าปีนี้ปลาจะน้อยและหายาก Sam Sokeng ล่องเรือเข้ามาหาเพื่อจำหน่ายปลาที่จับได้ เขาใช้เวลาเหนือลำน้ำสองคืนแต่กลับได้ปลาน้อยมาก “ปีที่แล้ว ผมทำเงินได้วันละเกือบ 75 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปีนี้เงินที่จับปลาได้ยังแทบไม่พอค่าน้ำมันกับค่าเหยื่อ”

Tim Chhoeun ชาวประมงอีกคนหนึ่งเล่าว่าเขาออกเรือกับภรรยาตลอดทั้งคืน “ปีที่ผ่านมา ผมจับปลาได้วันละ 10 กิโลกรัมแต่ปีนี้ผมจับได้แค่ 3 ตัว” ภรรยาของเขา Chhum South ให้สัมภาษณ์ว่าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เธอคงต้องไปทำงานในบริษัทไร่มันสำปะหลังของจีนเพื่อหาเงินให้พอเลี้ยงชีพรวมถึงให้เด็กๆ ในครอบครัว “ฉันไม่อยากให้พวกเขาต้องมาเป็นชาวประมง” เธอกล่าว “ฉันบอกเสมอให้พวกเขาเรียนให้หนักเพื่อหางานดีๆ แล้วจะได้ไม่ต้องลำบากเหมือนฉัน”

 

 

ไม่ไกลจากตรงนั้น Phap Phalla นั่งอยู่บนพื้นบ้านของเธอซึ่งยกพื้นสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก เธอเล่าว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ระดับน้ำนั้นสูงจนทั่วเข้าบ้านของเธอ เธออยู่ที่นี่กว่า 40 ปีแล้ว สามีของเธอเป็นครูสอนในโรงเรียนชุมชน ส่วนเธอทำงานเป็นชาวประมงและในองค์กรภาคเอกชนที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตโดยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เธอเล่าว่าปีนี้เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เธอเคยประสบมา “เดือนธันวาคมจะเป็นช่วงที่มีการทำประมงมากที่สุด” เธอกล่าว “แต่ทั้งปลาและน้ำต่างหายไปหมดแล้ว แล้วชาวประมงจะจับอะไร?”

หลายคนคงต้องเข้าเมืองไปทำงานหรือไปเป็นแรงงานในต่างประเทศเพื่อเอาตัวรอด องค์กรภาคเอกชนที่เธอทำงานอยู่ก็ประสบความสำเร็จอยู่บ้าง โดยหางานให้ชาวประมงไปเป็นผู้ประกอบการรายย่อยโดยใช้เงินทุนจากสหภาพยุโรป แต่เธอก็ยังคงกังวลว่าปีหน้าจะเผชิญกับภัยแล้งเช่นนี้อีกหรือไม่ ในมุมมองของเธอ สภาพของโตนเลสาบในปัจจุบันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประมงเกินขนาด และเขื่อนเหนือลำน้ำโขงสายหลักทั้งในประเทศลาวและจีนที่กั้นเส้นทางอพยพของปลา ตะกอน และกระแสน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงตอนล่าง ซ้ำร้ายยังมีเขื่อนพลังงานไฟฟ้าอีกหลายแห่งที่วางแผนจะก่อสร้าง

“หากเขื่อนทั้ง 11 แห่งในแม่น้ำโขงตอนล่างก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็คงเรียกได้ว่าเป็นฉากจบของแม่โขงที่เคยรุ่งเรือง” Brian Eyler กล่าว “สำหรับผลผลิตที่เราได้รับจากแม่น้ำ ความสามารถของแม่น้ำที่จะเกื้อหนุนให้ลุ่มน้ำโขงตอนล่างเป็นพื้นที่ที่สามารถจับปลาน้ำจืดได้มากที่สุดในโลก”

นักสิ่งแวดล้อมร้องขอให้ชะลอการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงกระแสหลักออกไปก่อน พวกเขาต้องการให้ลาวและกัมพูชามองหาพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า หากสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นจริง โตนเลสาบก็คงไม่รอด เช่นเดียวกับความมั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่ของประชาชนอีกนับล้านซึ่งพึ่งพาทะเลสาบและแม่โขงมากว่าทศวรรษ

 

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก The Lake That Feeds The Mekong Basin Is Facing A Shortage Of Fish
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์