ลาวประกาศเดินหน้าเขื่อนอีกหนึ่งแห่งบนลำน้ำโขงสายหลัก

ลาวประกาศเดินหน้าเขื่อนอีกหนึ่งแห่งบนลำน้ำโขงสายหลัก

รัฐบาลลาวได้ประกาศแผนที่จะสร้างเขื่อนขนาดยักษ์แห่งที่สี่บนแม่น้ำโขงสายหลัก ไม่กี่เดือนหลังจากที่เขื่อนขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าทางการเงินเมื่อการเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าถูกเลื่อน

ประเทศลาวได้แจ้งต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ว่าจะก่อสร้างเขื่อนกำลังการผลิต 770 เมกะวัตต์ที่ปากเลย์ (Pak Lay) จังหวัดไซยะบุรี ซึ่งไม่ไกลจากพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ยังคุกรุ่นด้วยความไม่เห็นพ้องต้องกันของหลายฝ่าย

การแจ้งดังกล่าวตามหลังการตัดสินใจของประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าจะเลื่อนการเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากเบ็ง กำลังการผลิต 912 เมกะวัตต์ เนื่องจากรายงานของประเทศไทยระบุว่ามีการผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการภายในประเทศ

Maureen Harris ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำสากล (International Rivers) องค์กรภาคเอกชนที่เฝ้าจับตาการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ระบุว่าการแจ้งเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนปากเลย์นั้นค่อนข้างผิดปกติ

“โครงการก่อสร้างดังกล่าวเดิมทีวางแผนไว้ว่าจะเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2565 การริเริ่มกระบวนการดังกล่าวเร็วกว่าหลายๆ โครงการที่ผ่านมา” เธอแสดงความเห็น “ตอนนี้ยังไม่มีการระบุผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ หรือผู้ที่จะทำการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนดังกล่าวในหนังสือที่แจ้งต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง”

 

แผนที่แสดงจุดที่จะก่อสร้างเขื่อนปากเลย์ / PHOTO Voice of America

ความกังวลถึงผลกระทบ

Maureen Harris คาดว่าน่าจะมีความกังวลเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวในประเทศไทย ในการประชุมครั้งใหญ่ ณ ประเทศกัมพูชาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตัวแทนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้นำเสนอการประเมินทางวิทยาศาสตร์จากแผนการพัฒนาบนแม่น้ำโขง เกี่ยวกับปริมาณปลาและอุปทานอาหารทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้งบประมาณกว่า 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยพบว่าหากมีการก่อสร้างตามแผนจริง ปริมาณปลาราวร้อยละ 39 ถึงร้อยละ 40 ซึ่งมีมูลค่าราว 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะหายไปจากลำน้ำโขงตอนล่างภายใน พ.ศ. 2573

เธอยังเสริมอีกว่า การยื่นก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่ดูจะเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากคำถามที่ยังไร้คำตอบว่า จะทำอย่างไรเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของเขื่อนที่กำลังก่อสร้างและดำเนินการของลาวในปัจจุบัน ตามที่รายงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงอ้างอิงถึง

เลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเขียนอีเมล์ถึงสำนักข่าว VOA ว่า การที่ลาวยังคงแจ้งถึงการก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่ รวมถึงว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการแสดงให้เห็นว่าลาวนั้นไม่กังวลต่อผลกระทบข้างต้นแม้แต่น้อย

“เราสามารถมองเห็นความตั้งใจของลาวในการส่งโครงการเพื่อรับคำปรึกษาล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและความบาดหมางระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องไปถึงขั้นประเทศท้ายน้ำขู่จะวางระเบิดเขื่อนเหนือน้ำ” เลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุถึงสถานการณ์สมมติ “การยื่นหนังสือโครงการก็เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งไร้อารยะเฉกเช่นในอดีต”

ในขณะเดียวกัน ตัวแทนประเทศกัมพูชาในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่า แม้เขื่อนของลาวที่สร้างในแม่น้ำโขงสายหลักอาจสร้างความกังวลค่อนข้างมาก แต่ปัญหาดังกล่าวได้รับการจัดการโดยกลไกของกรรมาธิการแม่น้ำโขง “ประเด็นแรกที่นับว่าเป็นเรื่องสำคัญคือการอพยพของปลา รองลงมาก็เช่น การปิดกั้นตะกอนและกระแสน้ำ รวมถึงนิเวศลำน้ำที่จะถูกเปลี่ยนแปลง” เขาระบุ “เราไม่สามารถตอบตกลงหรือปฏิเสธโครงการแบบตรงๆ ได้ แต่เราจะพูดคุยกันก่อน โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาที่คณะกรรมาธิการว่าจ้างให้ทำการวิจัย หรือแหล่งอ้างอิงอื่นๆ ที่เรามี”

ขณะที่คุณนวลละออ วงศ์พินิจวโรดม ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง ประเทศไทย ระบุว่าเธอยังไม่สามารถแสดงความเห็นได้จนกว่าจะได้อ่านหนังสือจากรัฐบาลลาว ส่วนตัวแทนจากประเทศเวียดนามไม่ตอบรับการติดต่อจาก VOA

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกทั้งสี่ประเทศในคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงจะมีเวลา 6 เดือนเพื่อสอบทานเอกสารเรื่องโครงการเขื่อนปากเลย์ที่รัฐบาลลาวส่งมา รวมถึงกำหนดมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้หยุดโครงการดังกล่าว

 

เขื่อน Dashaoshan มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ที่กั้นแม่น้ำโขงตอนบน / PHOTO AP

 

ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

นักอนุรักษ์ และเหล่าผู้สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนมองว่าการเลื่อนเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากเบงจะเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” จากพลังงานน้ำ สู่พลังงานหมุนเวียนแหล่งอื่น เช่น แสงอาทิตย์ หรือลม องค์การพลังงานสากล (International Energy Agency) ระบุว่าระดับราคาพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงราวร้อยละ 73 จาก พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2560 และคาดว่าราคาจะลดลงอีกครึ่งหนึ่งในอีก 2 ปีข้างหน้า ทำให้สามารถแข่งขันได้กับพลังงานน้ำ

เขื่อนปากเลย์จะไม่ดำเนินการจนกระทั่ง พ.ศ. 2572 และต้นทุนในการก่อสร้างก็ยังไม่มีการเปิดเผย Han Phoumin นักเศรษฐศาสตร์พลังงานมองว่าไฟฟ้าพลังงานน้ำยังเป็นทางเลือกที่สามารถแข่งขันได้ในเชิงต้นทุน และสามารถเป็นพลังงานฐาน (baseload power) และมีความได้เปรียบในการผนวกกับโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าในปัจจุบัน

“แต่หากเขื่อนนี้วางแผนจะดำเนินการใน พ.ศ. 2572 กว่าจะถึงตอนนั้น ผมมองว่าการพัฒนาและจัดเก็บไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลมนน่าจะสามารถแข่งขันได้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพพอที่จะเป็นพลังงานฐาน เมื่อนั้นพลังงานทั้งสองรูปแบบก็จะเอาชนะพลังงานน้ำได้” เขาระบุ

อย่างไรก็ดี การขายไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนปากเลย์อาจไม่ใช่ปัญหา ในภูมิภาคอาเซียนที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าความต้องการไฟฟ้าอาจเพิ่มขึ้นเป็นสองถึงสามเท่าตัว แต่สิ่งที่ต้องมองหาคือนักลงทุนที่พร้อมจะเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าระยะยาว เพราะโครงการลักษณะนี้ไม่มีโอกาสเดินหน้าได้หากไม่มีการเซ็นสัญญาดังกล่าว

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Laos Announces Another Controversial Dam on the Mekong โดย David Boyle
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์