ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้หลายเมืองใหญ่หายไปจากแผนที่ใน พ.ศ. 2593

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้หลายเมืองใหญ่หายไปจากแผนที่ใน พ.ศ. 2593

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อประชากรมากกว่าเดิมราว 3 เท่าใน พ.ศ. 2593 จากที่พยากรณ์ไว้ในอดีต อ้างอิงจากงานวิจัยล่าสุด ภัยคุกคามดังกล่าวจะลบเมืองใหญ่ติดทะเลหลายเมืองออกจากแผนที่

คณะวิจัยของงานชิ้นนี้ได้ใช้วิธีการคำนวณระดับความสูงของพื้นดินใหม่ที่แม่นยำมากขึ้นจากภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการประเมินผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยพบว่าตัวเลขที่เคยประมาณการก่อนหน้านี้มองโลกในแง่ดีเกินไป งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าประชากรราว 150 ล้านคนจะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลในอีกราว 30 ปีข้างหน้า

 

พื้นที่เวียดนามทางตอนใต้จะจมหายไปแทบทั้งหมด (ซ้าย) การคาดการณ์ใน พ.ศ. 2593 เดิม (ขวา) การคาดการณ์ใน พ.ศ. 2593 จากงานวิจัยชิ้นใหม่ ภาพจาก The New York Times

แผนที่แรกแสดงให้เห็นพื้นที่ซึ่งจะจมน้ำภายใน พ.ศ. 2593 หากเปรียบเทียบกับแผนที่ใหม่จะพบว่าทางตอนใต้ของประเทศจะจมอยู่ใต้ทะเล ประชากรเวียดนามราว 20 ล้านคนหรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดอยู่อาศัยบนพื้นที่ที่กำลังจะจม เมืองโฮจิมินฮ์ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศจะหายไปจากการคาดการณ์ของ Climate Central องค์กรด้านวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร Nature Communications โดยการพยากรณ์ดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นหรือพื้นดินที่สูญหายไปจากการกัดเซาะชายฝั่ง

การวัดระดับน้ำทะเลมาตรฐานซึ่งใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมนั้นต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการแยกระดับพื้นดินจริงๆ กับยอดไม้หรือดาดฟ้าตึก Scott A. Kulp นักวิจัยจาก Climate Central ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะวิจัยให้ความเห็น โดยเขาและ Benjamin Strauss กรรมการผู้จัดการ Climate Central ได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินอัตราความผิดพลาดก่อนที่จะปรับแก้

 

พื้นที่บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ซ้าย) การคาดการณ์ใน พ.ศ. 2593 เดิม (ขวา) การคาดการณ์ใน พ.ศ. 2593 จากงานวิจัยชิ้นใหม่ ภาพจาก The New York Times

ในประเทศไทย ประชากรราวร้อยละ 10 ในปัจจุบันอาศัยบนที่ดินซึ่งจะจมอยู่ใต้น้ำใน พ.ศ. 2593 หากเทียบกับเพียง 1 เปอร์เซ็นต์จากการประมาณการในอดีต กรุงเทพฯ เมืองหลวงที่เป็นทั้งศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจก็แทบไม่มีอนาคต

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างแรงกดดันต่อเมืองในหลากหลายทาง Loretta Hieber Girardet หนึ่งในผู้อยู่อาศัยที่กรุงเทพฯและเจ้าหน้าที่บนนเทาสาธารณภัย องค์การสหประชาชาติ แสดงความเห็น ถึงแม้ว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้พื้นที่หลายแห่งถูกน้ำท่วม มันก็จะผลักดันให้เกษตรกรที่ยากจนยังต้องทิ้งที่ดินเพื่อหางานในเมือง “นี่เป็นผลลัพธ์ที่เลวร้ายมาก” เธอกล่าว

 

พื้นที่บริเวณเซี่ยงไฮ้และเมืองโดยรอบของประเทศจีน (ซ้าย) การคาดการณ์ใน พ.ศ. 2593 เดิม (ขวา) การคาดการณ์ใน พ.ศ. 2593 จากงานวิจัยชิ้นใหม่ ภาพจาก The New York Times

 

ในเซี่ยงไฮ้ หนึ่งในเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของเอเชีย ระดับน้ำที่สูงขึ้นจะเข้าท่วมใจกลางเมืองและเมืองอื่นๆ โดยรอบ ข้อค้นพบไม่ได้ระบุถึงจุดจบของพื้นที่ดังกล่าว แต่ข้อมูลประมาณการว่ามีประชากร 110 ล้านคนอยู่อาศัยในบริเวณนั้นซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะลช่วงน้ำขึ้นสูงสุด โดย Benjamin Strauss มองว่าอาจมีมาตรการป้องกัน เช่น กำแพงทะเล หรือพนังกั้นน้ำอื่นๆ เมืองใหญ่เหล่านั้นจำเป็นต้องลงทุนมูลค่ามหาศาลกับโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น และจำเป็นต้องรีบดำเนินการเพื่อเตรียมรีบมือ

ถึงแม้ว่าจะมีการลงทุนในมาตรการป้องกันดังกล่าวแต่มาตรการเหล่านั้นย่อมมีข้อจำกัด Benjamin Strauss เสนอตัวอย่างเมืองนิวออร์ลีนส์ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลแต่ถูกถล่มย่อยยับใน พ.ศ. 2548 เนื่องจากพนังกั้นน้ำและแนวป้องกันอื่นๆ ถล่มลงเมื่อเจอกับพายุเฮอร์ริเคนแคเธอรินา “แล้วเราอยากอยู่ในหลุมที่ลึกแค่ไหน?” เขาตั้งคำถาม

 

พื้นที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก (ซ้าย) การคาดการณ์ใน พ.ศ. 2593 เดิม (ขวา) การคาดการณ์ใน พ.ศ. 2593 จากงานวิจัยชิ้นใหม่ ภาพจาก The New York Times

การคาดการณ์ชิ้นใหม่เสนอว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองมุมไบ ศูนย์กลางทางการเงินของอินเดียวและหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกลบจากแผนที่ มุมไบสร้างขึ้นบนพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นหมู่เกาะที่เชื่อมต่อกัน พื้นที่ใจกลางเมืองซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานจึงมีความเปราะบางอย่างยิ่ง

ในภาพรวมแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลในแต่ละประเทศควรเตรียมความพร้อมในปัจจุบันเพื่อให้ประชากรสามารถอพยพย้ายถิ่นฐานได้ภายในประเทศ อ้างอิงจากคำแนะนำของ Dina Ionesco จากองค์กรเพื่อการอพยพสากล (International Organization for Migration) องค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเพื่อประสานกิจกรรมสำหรับผู้อพยพและการพัฒนา

“เราพยายามที่จะส่งสัญญาณเตือน” Dina Ionesco กล่าว “เรารู้ว่าปัญหาเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้น” ในยุคปัจจุบัน เรายังไม่เคยเผชิญกับการเคลื่อนย้ายประชากรขนาดใหญ่เช่นนี้

การสูญหายของมรดกทางวัฒนธรรมก็ย่อมนำมาซึ่งความเสียหายที่ไม่อาจประเมินค่าได้ เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ ก่อตั้งโดยอเล็กซานเดอร์มหาราชราว 330 ปีก่อนคริสตกาลอาจจะต้องจมหายไปจากระดับน้ำที่สูงขึ้น ในพื้นที่อื่นๆ การย้ายถิ่นฐานซึ่งเกิดจากระดับน้ำทะเลอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในภูมิภาค

บาสรา (Basra) เมืองใหญ่อันดับสองในประเทศอิรักอาจจมอยู่ใต้น้ำภายใน พ.ศ. 2593 หากนั่นเกิดขึ้นจริง ผลกระทบอาจกระเทือนไปมากกว่าภายในเขตแดนอิรัก อ้างอิงจาก John Castellaw พลเรือเอกเกษียณอายุราชการซึ่งเคยเป็นผู้คุมกองกำลังของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามอิรักแสดงความเห็น การสูญเสียที่ดินจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะ “เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐในภูมิภาค ซึ่งอาจเป็นการจุดไฟความขัดแย้งของกองกำลังติดอาวุธขึ้นมากครั้ง และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการก่อการร้าย” John Castellaw ปัจจุบันเป็นกรรมการที่ปรึกษาของ Center for Climate and Security องค์กรวิจัยในวอชิงตัน แสดงความเห็น “นี่เป็นเรื่องที่มากกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม” เขากล่าว “มันเป็นปัญหาของมนุษยชาติ ความมั่นคง และเป็นไปได้ว่าจะเป็นเรื่องทางการทหาร”

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Rising Seas Will Erase More Cities by 2050, New Research Shows
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง Vietnam News Agency/AFP via Getty Images