ย้อนอ่านงานวิจัยปี 2020 สัญญาณสู่ยุคการสูญพันธุ์ ครั้งที่ 6

ย้อนอ่านงานวิจัยปี 2020 สัญญาณสู่ยุคการสูญพันธุ์ ครั้งที่ 6

สิ่งมีชีวิตทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตจากที่มาหลายแง่มุมทำให้จำนวนประชากรลดลงมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าสาเหตุมาจากเรื่องใด แนวโน้มการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ มีต้นตอร่วมอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือ เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์

วันนี้เรากำลังเผชิญอยู่กับสิ่งใด ? – ย้อนอ่านงานวิจัยปี 2020 (มกราคม – มีนาคม) ที่เป็นสัญญาณว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคการสูญพันธ์ุ ครั้งที่ 6 มาดูกันว่าโลกกำลังประสบกับ ‘หายนะทางชีวภาพ’ อย่างไรบ้าง

  1. ผลวิจัยจาก Ecological Application พบว่าหมีขั้วโลกกำลังผอมลง และมีลูกน้อยลง สุขภาพที่แย่ลงของมันเป็นผลกระทบมาจากการที่น้ำแข็งในทะเลละลาย

“การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดกายเปลี่ยนแปลงในขั้วโลกเหนือโดยส่งผลกระทบต่อหมีขั้วโลก” Krisin Laidre นักวิจัยเผยจาก Univeristy of Washington ระบุ “พวกเขาคือสัญลักษณ์ของภาวะโลกร้อน แต่พวกเขาก็เป็นตัวชี้วัดหายนะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเช่นกันเนื่องจากพวกเขาต้องพึ่งพาน้ำแข็งในทะเล”

ภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อการล่าอาหารของหมีขั้วโลกเป็นอย่างมาก เมื่อปลายปีที่แล้วหมีขั้วโลกกว่า 56 ตัว ลงมาหาอาหารในรัสเซีย เนื่องจากน้ำแข็งในทะเลละลาย ทำให้พวกมันต้องมาล่าอาหารบริเวณชายฝั่ง เข้าใกล้ผู้คนมากขึ้น

อ่านบทความฉบับเต็ม Polar bears are getting thinner and having fewer cubs. Melting sea ice is to blame

2. องค์การสหประชาชาติได้รายงานว่ามีสายพันธุ์กว่า 1 ล้านสายพันธุ์กำลังถูกคุกคาม และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และเมื่อไม่นานมานี้มีพืชถึง 571 ชนิดได้ถูกประกาศว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว 

งานวิจัยได้แสดงให้เห็นถึงอัตราการสูญพันธุ์ในช่วงเวลาปัจจุบัน ที่จุดสูงสุดของกราฟ อัตราการสูญพันธุ์พุ่งไปถึง 350 เท่าของอัตราการสูญพันธุ์ในสภาพปกติ นักวิจัยก็ได้ทำการคาดการณ์ว่าอัตราการสูญพันธุ์ในอีกประมาณ 80 ปีข้างหน้า จะสูงขึ้นกว่าอัตราการสูญพันธุ์ในสภาพปกติหลายพันเท่า

อัตราการสูญพันธุ์ของพืชในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นมาจากอัตราการสูญพันธุ์ในประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมีมนุษย์หลายร้อยเท่าในช่วงเวลาสั้น ๆ มันไม่ดีแน่สำหรับอนาคตของโลกใบนี้

อ่านบทความฉบับเต็ม ต้นไม้จะสูญพันธุ์มากกว่าอัตราปกติถึง 350 เท่า งานวิจัยชี้เหตุหลักคือการเกษตรและการขยายของเมือง

3. การศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล พบว่า การสูญพันธุ์ของสัตว์กินพืชขนาดใหญ่สองชนิดในผืนป่าอเมริกาใต้ อย่างสมเสร็จและหมูเพกคารีหนวดขาว จะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพในผืนป่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สัตว์ทั้งสองมีบทบาททางนิเวศวิทยาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในขณะที่หมูเพกคารีทำหน้าที่เป็น “รถแทรคเตอร์” ขนาดเล็กที่คอยพลิกหน้าดิน สมเสร็จยักษ์ผู้อ่อนโยนจะใช้ท้องของตัวเองขนส่งเมล็ดพันธุ์ไปยังที่ต่างๆ

นักวิจัยสันนิษฐานว่าทั้งสมเสร็จและหมูเพกคารี คือ “วิศวกรระบบนิเวศ” แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ผลลัพธ์จากการประเมินข้อมูลภาคสนาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมที่สัตว์ทั้งสองชนิดทำหน้าที่ร่วมกันมีผลกระทบเชิงบวกอย่างมากต่อความหลากหลายในระบบนิเวศ

แม้ในอดีตสามารถพบสมเสร็จและหมูเพกคารีในป่าของอเมริกาใต้ได้เกือบทุกแห่ง แต่ตอนนี้สัตว์ทั้งสองอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ในหลายพื้นที่ เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลายและการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการเกษตร

อ่านบทความฉบับเต็ม การสูญพันธุ์ของ “สมเสร็จ” และ “หมูเพกคารี” ทำให้ความหลากหลายของระบบนิเวศผืนป่าลดน้อยลง

4. ผลการศึกษาชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัยแทสมาเนียพบว่า ปูเสฉวนกว่าครึ่งล้านตัวตายเพราะมลภาวะพลาสติก บนชายหาดที่อยู่กลางไกลออกไปกลางมหาสมุทร

ทีมวิจัยประเมินว่ามีปูเสฉวนประมาณ 508,000 ตัวถูกสังหารหมู่บนเกาะโคโคส (คีลิง) ในมหาสมุทรอินเดีย และอีกราว 61,000 ตัวเสียชีวิตบนเกาะเฮนเดอร์สันกลางมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีสาเหตุมาจากเศษพลาสติกที่ผุผังเป็นขยะเกลื่อนชายหาด

จากการสำรวจพื้นที่ส่วนต่างๆ ของเกาะ ทำให้ทีมวิจัยพบข้อมูลที่น่าตกใจว่าในทุกๆ ตารางเมตรมีปูเสฉวนตกเป็นเหยื่อของขยะพลาสติกอย่างน้อย 1-2 ตัว โดยบนเกาะเฮนเดอร์สันมีขยะประมาณ 38 ล้านชิ้น ฆ่าปูปีละประมาณ 61,000 ตัว ขณะที่หมู่เกาะโคโคสมีขยะ 414 ล้านชิ้น มีปูติดกับ 508,000 ตัวต่อปี

อ่านบทความฉบับเต็ม  ปูเสฉวน กว่า 5 แสนตัว ตายเพราะขยะพลาสติก

5. นักวิทยาศาสตร์รายงานถึงอีกหนึ่งหายนะทางนิเวศซึ่งเกิดจากมวลน้ำอุ่นผิดปกติในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ถูกขนานนามว่า ‘เดอะ บล็อบ (the Blob)’

มวลคลื่นความร้อนหนาแน่นสูงได้หยุดอยู่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของแปซิฟิกตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ถึง 2559 โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้นกเมอร์เรส์ธรรมดา (Common Murres; Uria Aalgae) กว่าล้านชีวิตต้องตายลง ซึ่งนับว่าเป็นการตายของนกทะเลที่มีจำนวนมากที่สุดเท่าที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

ตัวเลขประมาณการจากซากนกเมอร์เรส์จำนวนกว่า 62,000 ซากที่ถูกซัดเข้าสู่ชายฝั่งทางตะวันตกของสหรัฐอเมริการะหว่างพ.ศ. 2558 – 2559 กินพื้นที่ตั้งแต่แคลิฟอร์เนียไปจนถึงอลาสกา โดยปกติแล้ว นกที่ตายลงในทะเลนั้นมีเพียงจำนวนไม่มากที่ถูกซัดเข้าฝั่ง นั่นหมายความว่านกที่ตายจริงๆ มีจำนวนมากกว่าซากที่เราเห็นอย่างมาก

เหล่านกที่ผอมแห้งอาจอดตายจากการแก่งแย่งเหยื่อที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากน่านน้ำที่อุณหภูมิสูงขึ้น นักวิทยาศาสตร์คาดว่าชนิดพันธุ์อื่นๆ ก็อาจได้รับผลกระทบจากมวลความร้อนไม่ต่างกัน

อ่านบทความฉบับเต็ม มวลคลื่นความร้อนในมหาสมุทรกับการตายของนกทะเลครั้งประวัติศาสตร์

6. การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่นำไปสู่การลดลงของสัตว์ป่าหลายชนิด ในขณะที่หิ่งห้อยเองก็ต้องพบกับความทุกข์ทรมานไม่ต่างกัน

แมลงปีกแข็งชนิดนี้มีความต้องการสภาพแวดล้อมบางอย่างเพื่อให้วงจรชีวิตสามารถดำเนินไปจนครบกระบวนการ และนักวิจัยพบว่าแสงไฟในยามค่ำคืนที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาถือเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงอันดับสองของหิ่งห้อย และยังรบกวนพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีของแมลงชนิดนี้

นอกจากนี้แล้วหิ่งห้อยเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อมลภาวะทางแสงมากกว่าแมลงกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่แสงสว่างยามค่ำคืนคือประเด็นสำคัญ ทว่า “การล่มสลายของแมลงที่ไม่มีใครสังเกตเห็น” ชี้ให้เห็นว่า ในกลุ่มประชากรแมลง มีแมลงมากถึง 41% ชนิดที่กำลังเผชิญหน้ากับการสูญพันธุ์ ตามรายงานล่าสุดเกี่ยวกับการลดลงของแมลง

อ่านบทความฉบับเต็ม หิ่งห้อย กำลังจะสูญพันธุ์ เหตุเพราะการสูญเสียที่อยู่อาศัย ยาฆ่าแมลง และแสงไฟยามค่ำคืน

7. บ่วงกับดักจำนวนมากในผืนป่าอาจเป็นสาเหตุที่พรากชีวิตเสือโคร่งตัวสุดท้ายไปจากประเทศลาว – นี่คือข้อสรุปจากการศึกษาชิ้นใหม่ที่ยืนยันว่า “ไม่พบหลักฐานการมีอยู่ของ เสือโคร่ง ในประเทศลาวอีกแล้ว”

จากข้อมูลประชากรเสือโคร่งของประเทศลาวที่เผยแพร่คร้ังล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2559 ระบุว่ามีเสือโคร่งเหลืออยู่ในป่าธรรมชาติ 2 ตัว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการตั้งกล้องสำรวจจำนวนประชากรเสือในปีแรกที่เริ่มวิจัย ซึ่งเป็นเพียงครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายที่ทีมวิจัยสามารถจับภาพเสือทั้งสองเอาไว้ได้ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้พบเสือทั้งสองตัวอีกเลย

อ่านบทความฉบับเต็ม อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ เสือโคร่ง ในประเทศลาว ‘สูญพันธุ์’

8. สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ประเมินให้ตัวนิ่ม 3 สายพันธุ์ มีสถานะที่ใกล้ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น

จากตัวนิ่มทั้งหมด 8 สายพันธุ์ หนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ตกเป็นเครื่องมือทางการค้าของมนุษย์มากที่สุด โดยล่าสุดตัวนิ่มสายพันธุ์แอฟริกัน 2 สายพันธุ์ คือ ลิ่นต้นไม้ท้องดำ (Phataginus tricuspis) และลิ่นยักษ์ (Smutsia gigantea) ถูกปรับสถานะจาก “สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์” เป็น “สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์” และในสายพันธุ์เอเชีย ลิ่นฟิลิปปินส์ (Manis culionensis) ถูกปรับจาก “สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์” เป็น “สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์” ขณะเดียวกัน ไม่มีสายพันธุ์ไหนที่ถูกประเมินให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้น

อ่านบทความฉบับเต็ม ตัวนิ่ม 3 สายพันธุ์ ถูกปรับสถานะให้มีความเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น

9. “ฉลามปากเป็ดจีน” (Chinese Paddlefish) หรือที่บางครั้งถูกขนานนามว่า “แพนด้าแห่งแยงซี” เป็นหนึ่งในชนิดพันธุ์ปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ตามรายงานตัวโตเต็มวัยจะมีขนาดถึง 23 ฟุต (7 เมตร) และหนักถึง 992 ปอนด์ (450 กิโลกรัม) ซึ่งในบรรดาปลาน้ำจืดมีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่สามารถเติบโตได้มากขนาดนี้

จากรายงานในวารสาร Science of the Total Environment โดย Hui Zhang นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์การประมงของจีน อธิบายว่า ประเทศจีนสร้างเขื่อนและทำประมงมากมายเกินไปจนเป็นเหตุให้สัตว์น้ำที่อยู่รอดมานานกว่า 200 ล้านปีต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุดและเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าฉลามปากเป็นดจีนได้สูญหายไปอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ปี 2005 – 2010 ที่นักวิจัยใช้เวลาค้นหาเรื่อยมานานกว่าทศวรรษ แต่ไม่เคยพบกับ “ฉลามปากเป็ดจีน” อีกเลยหลังการพบเห็นครั้งสุดท้ายในช่วงปี 2003

อ่านบทความฉบับเต็ม อวสาน ฉลามปากเป็ดจีน อีกหนึ่งผลกระทบจากประมงเกินพิกัดและการสร้างเขื่อนใหญ่คร่อมแม่น้ำ

10. รายงานล่าสุดระบุว่า โลกได้สูญเสียประชากรแมลงจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2513 เนื่องจากการทำลายล้างธรรมชาติและการใช้สารกำจัดแมลงอย่างเข้มข้น โดยที่ 40 เปอร์เซ็นต์ของแมลงที่เรารู้จักจำนวนราว 1 ล้านชนิดพันธุ์กำลังเผชิญกับภาวะสูญพันธุ์ โดยผึ้งและตัวต่อ 23 ชนิดพันธุ์ได้สูญพันธุ์ในศตวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่ปริมาณการใช้สารกำจัดแมลงเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าหากเทียบกับ 25 ปีก่อน

นักอนุรักษ์เตือนว่า “การล่มสลายของ แมลง ที่ไม่มีใครสังเกตเห็น” ควรจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นตระหนก หากแนวโน้มดังกล่าวยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ก็อาจส่งผลอย่างรุนแรงต่อมนุษยชาติและสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก

อย่างไรก็ดี นักอนุรักษ์ระบุว่าประชากรแมลงยังสามารถฟื้นตัวได้โดยการตั้งเป้าหมายที่เคร่งครัดในการลดใช้สารจำกัดศัตรูพืช รวมทั้งสร้างสวนในเมืองให้เป็นมิตรต่อสัตว์ป่า นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าแมลงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทุกระบบนิเวศในฐานะผู้ผสมเกสร เป็นแหล่งอาหาร และช่วยรีไซเคิลสารอาหาร

อ่านบทความฉบับเต็ม การล่มสลายของ แมลง อาจส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลก

“เพื่อให้คุณไม่พลาดเรื่องราวสิ่งแวดล้อมทั่วโลก” ชวนอ่านบทความสถานการณ์Climate Change & The 6th extinction มูลนิธิสืบ ฯ ได้ที่ :  www.seub.or.th/category/bloging/สถานการณ์/สิ่งแวดล้อม-ต่างประเทศ/

 


เรียบเรียง นรินทร์ ปากบารา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ กชกร พันธุ์แสงอร่าม เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร