มนุษย์ทำให้สัตว์ป่าหายไปเกือบ 70% ในเวลาเพียงครึ่งศตวรรษ

มนุษย์ทำให้สัตว์ป่าหายไปเกือบ 70% ในเวลาเพียงครึ่งศตวรรษ

รายงานฉบับใหม่จากกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ระบุว่า เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา จำนวนสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงถึง 68% โดยสาเหตุหลักเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

ตามรายงาน The Living Planet Report 2020 ได้อธิบายว่า ระหว่างปี ค.ศ. 1970 – 2016 จำนวนประชากรในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น นก ปลา สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ลดลงกว่า 4,392 ชนิด 

เนื้อหาในรายงานบ่งบอกถึงความกังวล เพราะสถิติจำนวนสัตว์ป่าที่ลดลงอย่างมากนี้อยู่ในระดับที่ไม่เคยปรากฎในรอบหลายล้านปี

โดยภูมิภาคละตินอเมริกา และแคริเบียน เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในโลก อัตราเฉลี่ยของจำนวนสัตว์ป่าลดลงมากถึง 94%

.

.
ปัจจัยที่เร่งให้จำนวนสัตว์ป่าลดลง เกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของทุ่งหญ้า ทุ่งสะวันนา ป่าไม้ และที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชุ่มน้ำ การใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่ามากเกินไป การนำสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่พันธุ์พื้นเมืองมาใส่ไว้ในระบบนิเวศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในรายงานยังระบุอีกว่า มนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงพื้นผิว (ที่ไม่ใช่น้ำแข็ง) ของดาวเคราะห์ไปอย่างมากถึง 75% ขณะเดียวกัน ความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำจืด ได้สูญสลายไปกว่า 85% นับตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรม

รีเบกกา ชอว์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของกองทุนสัตว์ป่าโลก ระบุว่า ความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำจืดที่ลดลงเกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นขวางลำน้ำ และการผลิตอาหารดูแลประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

ตามข้อมูลของกองทุนสัตว์ป่าโลก ยังระบุอีกด้วยว่าการทำลายระบบนิเวศในขณะนี้ได้คุกคามสิ่งมีชีวิตกว่า 1 ล้านชนิด สัตว์และพืชรวมกัน 500,000 ชนิด และแมลง 500,000 ชนิด และจะนำไปสู่ชะตากรรมแห่งการสูญพันธุ์ในอีกไม่กี่ทศวรรษหรือศตวรรษข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้รายงานจะบอกว่า ธรรมชาติกำลังถูกทำลายโดยมนุษย์ “ในอัตราที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์” แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เราสามารถยุติเหตุการณ์นี้ได้ โดยการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต และบริโภคอาหาร การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ

รายงานระบุว่า เพื่อการขับเคลื่อนวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 ของมนุษย์ เรากำลังผลาญความสามารถทางชีวภาพของโลกมากเกินไปอย่างน้อย 56%

ปัจจัยหลักที่ทำให้ประชากรสัตว์โลกลดลงมาจากการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์เพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม การขยายการผลิตต่าง ๆ

.

.
กองทุนสัตว์ป่าโลกเตือนว่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนี้จะคุกคามความมั่นคงทางอาหารของโลกในอนาคต

นอกจากนี้ ในคำเตือนยังระบุว่าด้วยว่า แม้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจไม่ใช่สาเหตุใหญ่ที่สุดของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในตอนนี้ แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนสิ่งมีชีวิตลดลง

นักวิทยาศาสตร์ยังเตือนอีกด้วยว่า ผลกระทบจากการทำลายล้างจะสร้างหายนะให้กับมนุษย์

“รายงานนี้เตือนเราว่า โลกกำลังอยู่บนความเสี่ยง เพราะมันคือบ้านของเรา เมื่อมนุษยชาติขยับขยายเข้าไปสู่แผ่นดินที่เคยเป็นป่า พร้อมกับการทำลายล้างสิ่งมีชีวิต แต่เรากำลังทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคจากสัตว์เช่นโควิด -19 ด้วย” คาร์เตอร์ โรเบิร์ต ประธานและซีอีโอกองทุนสัตว์ป่าโลกสหรัฐ กล่าว

โรเบิร์ต กล่าวอีกว่า ยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่ามากขึ้น การลักลอบค้าสัตว์ป่าก็จะมากขึ้น และก่อให้เกิดการระบาดของโรคจากสัตว์ป่ามากขึ้น

“ยิ่งสัตว์ป่าอยู่ในห่วงโซ่อุปทานกับมนุษย์และคนอื่น ๆ นานเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่จะแพร่ระบาดของโรคสัตว์ป่าสู่มนุษย์ก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เรากำลังเล่นรัสเซียนรูเล็ตกับภัยคุกคามของโรคระบาด และท้ายที่สุดเราจะสูญเสีย… ครั้งใหญ่”

“โควิด -19 เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น” คาร์เตอร์ โรเบิร์ต กล่าว

 


อ้างอิง Amy Woodyatt, CNN – Human activity has wiped out two-thirds of world’s wildlife since 1970, landmark report says

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม