ภาพสะท้อนปัญหาจาก COVID-19 ผ่านมุมมองของระบบอาหาร และวิธีที่เราแก้ไข

ภาพสะท้อนปัญหาจาก COVID-19 ผ่านมุมมองของระบบอาหาร และวิธีที่เราแก้ไข

จากการที่มีผู้ป่วยยืนยันโรค COVID-19 เพิ่มขึ้นทั่วโลก สัญชาตญาณของมนุษย์ทุกคนที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งคือการทำให้แน่ใจว่าพวกเขามีอาหารเพียงพอที่จะอยู่รอดจากสถานการณ์นี้ ภาพของชั้นวางของในร้านขายของชำที่ว่างเปล่า และร้านอาหารปิดกิจการ สัญญาณเตือนที่สำคัญว่าเราต้องพึ่งพาระบบอาหารของเรามากแค่ไหน และการกระจายอาหารจากส่วนกลางเป็นอย่างไรในสังคมของเรา

ในขณะที่วิกฤต COVID-19 แพร่กระจายไปทั่วโลก เรามีโอกาสที่จะรวบรวมบทเรียนเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นหากเราต้องการพัฒนาระบบอาหารที่มีความมั่นคง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยืดหยุ่นต่อวิถีชีวิตชุมชนและวัฒนธรรม

Dr. Roy Steiner และทีมของเขาจากมูลนิธิ Rockefeller เป็นมูลนิธิที่ทำเกี่ยวกับการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน และเพียงพอมาอย่างยาวนาน พวกเขาได้นำเสนอห้าภาพสะท้อนปัญหาในด้านอาหารจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 สำหรับการสร้างระบบอาหาร และโภชนาการที่ดีขึ้น เพื่อเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารทั่วโลกให้มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นี่คือห้าภาพสะท้อนบทเรียนเหล่านั้น 

1. การควบคุมตลาดขายสัตว์ และเนื้อสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ สำหรับปรุงอาหาร เป็นที่แน่นอนว่าไวรัสเริ่มแพร่กระจายสู่มนุษย์ผ่านระบบของอาหาร แต่เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีการย้ายจากโฮสต์ดั้งเดิมของมันไปยังสัตว์ที่ถูกขายตลาดเพื่ออาหารได้อย่างไร อาจเป็นเพราะความจริงที่ว่าโรคนี้เริ่มแพร่สู่มนุษย์ครั้งแรกในตลาดซึ่งขายทั้งปศุสัตว์ และสัตว์ป่าสำหรับเป็นอาหาร นี่คือสัญญาณเตือนว่ามนุษย์เราไม่ควรบุกรุก และหาประโยชน์จากพื้นที่ป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่ในโลก เพราะมันจะส่งผลกระทบอย่างหนักถ้าเราไม่รักษาสมดุล และตระหนักถึงคุณค่าต่อธรรมชาติที่เหลืออยู่อย่างยั่งยืน 

2. ชั้นวางขายของชำที่ว่างเปล่าไม่เพียงแต่เป็นผลมาจากแนวโน้มของมนุษย์ที่จะกักตุนสินค้าในช่วงเวลาที่อันตราย แต่ยังเตือนให้เห็นว่าระบบอาหารของเราจะถูกรบกวนได้ง่ายขาดความยืดหยุ่นและปริมาณที่เพียงพอ หลายประเทศในโลกพึ่งพาระบบการขนส่งอาหารจากศูนย์กลาง ซึ่งแท้จริงแล้วการพัฒนาระบบอาหารท้องถิ่นในแต่ละที่ให้มั่นคงนั้นเป็นระบบที่มีความยั่งยืนกว่า เราต้องปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเพื่อจะสนับสนุนความเจริญ และความมั่นคงในพื้นที่ท้องถิ่นต่าง ๆ ให้พึ่งพาตนเองได้ยามเกิดสถานการณ์คับขัน สิ่งนี้อาจจะต้องการเงินสนับสนุนเยอะในช่วงแรก ๆ เช่น การทำสนับสนุนการเกษตรท้องถิ่นในการผลิตอาหารที่หลากหลาย และมีปริมาณเพียงพอสำหรับคนในท้องถิ่นนั้น ๆ เราอาจจะต้องพึ่งพาภาครัฐในการกำหนดนโยบาย และแนวทางทั้งการสนับสนุน และการดำเนินการที่ชัดเจน เพื่อระบบอาหารที่มั่นคงในการรับมือกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไป

3. คนส่วนใหญ่ในโลกได้รับปริมาณสารอาหารที่มีประโยชน์ไม่เพียงพอ ระบบอาหารในหลายประเทศตั้งใจที่จะผลิตอาหารที่ให้พลังงานเยอะในราคาถูก แต่สิ่งที่มันไม่ได้ตั้งใจให้ผู้บริโภคก็คือโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ซึ่งโรคเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยตรง เช่น ชาวอเมริกันกว่า 30 ล้านคนที่เป็นโรคเบาหวานประเภท 2 และประชาชนกว่า 820 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้นจาก COVID-19

4. ระบบอาหารท้องถิ่นที่ยั่งยืนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจได้ ถึงเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยแต่ภาคการผลิตทางการเกษตรและร้านค้าปลีกนั้นได้รับผลกระทบจากจุดนี้น้อย เนื่องจากผู้คนยังต้องกินอาหารเพื่ออยู่รอด ระบบอาหารที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน รวมไปถึงระบบอาหารในท้องถิ่น และภูมิภาคที่แข็งแกร่งสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้คนจำนวนมาก และช่วยให้ผู้คนฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

5. ผลกระทบต่อคนจน ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติเช่นนี้การสร้างความมั่นใจว่าคนจน และคนที่อ่อนแอซึ่งมักจะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดยังคงมีงานทำ และสามารถเข้าถึงการได้รับสารอาหารจำเป็นอย่างเพียงพอ ขณะที่ตลาดค้าขายอาหาร และร้านอาหารทั่วโลกถูกปิด คนหลายล้านคนกลายเป็นคนตกงาน จำเป็นต้องมีกลไกที่ดีกว่าเพื่อสนับสนุนปัญหาความไม่ยั่งยืนเหล่านี้

ถ้าผลกระทบของวิกฤต COVID-19 ทำให้เราต้องสร้างเศรษฐกิจทั่วโลกขึ้นมาใหม่ นี่จะเป็นโอกาสที่ดีในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบางอย่างในระบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งจะต้องใช้ทั้งวิสัยทัศน์ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งมีขั้นตอนสำคัญคร่าว ๆ ดังนี้

1. การเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคไปสู่อาหารที่ดีต่อสุขภาพ และสร้างความมั่นคงให้กับระบบการผลิตอาหารในระดับท้องถิ่น เช่น ผลไม้ ผัก ถั่ว ปลา และธัญพืช ที่สามารถผลิตได้ในระดับท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงในด้านนี้จะต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือ และแนวทางในการปฏิบัติทั้งด้านความรู้เฉพาะทาง และด้านเศรษฐศาสตร์ หากเราประสบความสำเร็จสิ่งนี้จะลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพลงอย่างมาก ทำให้ผู้คนมีสุขภาพ และระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น และช่วยให้เราสามารถรับมือกับโรคระบาดในครั้งต่อ ๆ ไปได้

2. ลดผลกระทบจากระบบการผลิตอาหารของเราต่อสิ่งแวดล้อม โดยการหยุดการบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตร และป้องกันการล่าสัตว์ป่าเพื่อการบริโภคของมนุษย์ ด้วยการขยับไปสู่รูปแบบการบริโภคอาหารจากพืชมากขึ้น เราสามารถลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของโรคจากสัตว์สู่คนได้มากขึ้น

3. ระบบการกระจายสินค้าต้องโปร่งใส และมีความเท่าเทียม ระบบขนส่งต้องมีการประสานงานที่ดีทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งยังต้องสร้างความมั่นใจในคุณภาพของอาหารด้วย

มูลนิธิ Rockefeller ได้ริเริ่มโครงการในระยะยาวเพื่อพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยพวกเขาได้ปล่อยโครงการสำหรับชิงทุนชื่อ “Food System Vision Prize” โดยที่ผู้ชนะของรางวัลในโครงการนี้จะได้รับงบประมาณในการสร้างระบบอาหารของท้องถิ่นนั้น ๆ ให้มีความยั่งยืน มีสุขภาพดี และมีความยืดหยุ่นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ในอนาคต พวกเขาได้กล่าวว่าการเรียนรู้จากผู้เข้าแข่งขันในโครงการนี้เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ที่ดีมากในการวางแผนการทำงานสำหรับชุมชนที่อยากจะพัฒนาระบบอาหารของพวกเขาเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนขึ้นกว่าเดิม

Dr. Roy Steiner และทีมของเขายังได้ยืนยันว่าหลังจากผ่านพ้นวิกฤติ COVID-19 ไปนั้น “จะต้องมีการสร้างระบบเศรษฐกิจขึ้นใหม่ทั่วโลก” เพื่อความมั่นคงทางอาหารของทุก ๆ คน บทเรียนที่สำคัญที่สุดจากวิกฤติครั้งนี้คือการที่ทุก ๆ คนบนโลกนี้ว่าจะยอมรับว่าเรานั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม เศรษฐกิจ และธรรมชาติที่เชื่อมต่อกัน และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มนุษย์เพียงคนเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญใด ๆ ในสังคมของเราได้หากไม่มีการร่วมมือกัน

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Five COVID-19 reflections from a food system perspectives—and how we could take action
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร