ฟื้นป่าทั่วโลกคือเครื่องมือสำคัญในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ฟื้นป่าทั่วโลกคือเครื่องมือสำคัญในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การฟื้นฟูป่าทั่วโลกอาจช่วยดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี อ้างอิงจากการวิเคราะห์ชิ้นล่าสุด โดยระบุว่ายังมีพื้นที่ว่าง เช่น สวนสาธารณะ ป่าไม้ และพื้นที่รกร้างเพียงพอที่จะปลูกต้นไม้อีกราว 1.2 ล้านล้านต้นบนพื้นผิวโลก หากเป้าหมายดังกล่าวสามารถบรรลุได้ ก็จะช่วยลดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากกว่าทุกๆ ทางเลือกอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแหล่งพลังงานเป็นพลังงานลม หรือการกินอาหารมังสวิรัติ

การขาดข้อมูลที่แม่นยำทำให้ผู้เชี่ยวชาญเสียเวลาไปหลายปี และประเมินปริมาณต้นไม้บนพื้นผิวโลกน้อยกว่าความเป็นจริง งานวิจัยล่าสุดรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจภาคพื้นดินและภาพถ่ายดาวเทียม คณะวิจัยนำโดย Dr. Thomas Crowther ประเมินจำนวนต้นไม้บนโลกว่ามีราว 3 ล้านล้านต้น หรือราว 7 เท่าของตัวเลขที่ประเมินโดยองค์การนาซ่า

การใช้เครื่องมืออย่างการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) หรือปัญญาประดิษฐ์ ทำให้เราวิเคราะห์ฐานข้อมูลปริมาณมหาศาล และทำให้นักวิจัยสามารถประมาณตัวเลขต้นไม้ที่สามารถปลูกได้บนพื้นที่ว่างเปล่าทั่วโลก Dr. Thomas Crowther ระบุว่า การที่นักวิทยาศาสตร์มองข้ามการปลูกต้นไม้ นั่นหมายความว่าเราประเมินศักยภาพของต้นไม้ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก

โครงการ Drawdown ซึ่งเป็นโครงการประเมินผลลัพธ์ที่เกิดจากความพยายามลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกด้วยวิธีการต่างๆ ระบุว่าทางเลือกอันดับต้นๆ คือพลังงานลมบนพื้นดิน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิลอุปกรณ์ทำความเย็นอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ หากดำเนินการตามแผนดังกล่าวได้จริง ตัวเลือกข้างต้นจะสามารถลดปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้ถึง 80 กิกะตัน ในขณะที่การปลูกป่าสามารถลดภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในอันดับที่ 15 หรือราว 15 กิกะตันเท่านั้น

งานวิจัยชิ้นใหม่ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของโครงการฟื้นฟูป่าและปลูกต้นไม้ โดยพบว่า “ตอนนี้ต้นไม้ 3 ล้านล้านต้นกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ 400 กิกะตัน และหากเราสามารถขยายผลอีกล้านล้านต้นก็จะสามารถกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 100 กิกะตัน นั่นคือปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์ในระยะเวลาราวหนึ่งทศวรรษ” Dr. Thomas ให้สัมภาษณ์

แม้ว่างานวิจัยยังไม่สามารถระบุตัวเลขที่แน่นอนได้ แต่เขาระบุว่าการปลูกต้นไม้อาจเป็นหัวใจสำคัญในการรับเมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยงานวิจัยชิ้นดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในงานประชุมวิชาการ American Association for Advancement of Science ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา

แน่นอนว่าการปลูกต้นไม้บนทุกพื้นที่ว่างบนโลกอาจเป็นสมมติฐานที่ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่งานวิจัยชิ้นดังกล่าวก็ทำให้การปลูกต้นไม้ถูกกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้ง ในฐานะเป็นกิจกรรมหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตบนโลก

องค์การสหประชาชาติกำลังเดินหน้าโครงการต้นไม้พันล้านต้น (Billion Tree Campaign) แต่หลังจากงานวิจัยชิ้นดังกล่าวเผยแพร่ ก็มีการเปลี่ยนชื่อโครงการรณรงค์เป็นต้นไม้ล้านล้านต้น (Trillion Tree Campaign) โดยปัจจุบันมีการปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 17 พันล้านต้นในพื้นที่ที่เหมาะสมทั่วโลก

“เราไม่ได้มุ่งเป้าไปที่พื้นที่เมืองหรือพื้นที่เกษตร แค่เน้นพื้นที่ซึ่งเสื่อมโทรม หรือที่ดินซึ่งถูกทิ้งร้าง การฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าวอาจช่วยให้เราสามารถเอาชนะความท้าทายสำคัญในปัจจุบันของโลก คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ” Dr. Thomas กล่าวสรุป “นี่คือสิ่งสวยงามเพราะทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ต้นไม้จะทำให้ผู้คนในเมืองมีความสุขมากขึ้น ช่วยเพิ่มคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ และผลิตนิเวศบริการ การปลูกต้นไม้จึงเป็นเรื่องที่จับต้องได้ และเห็นผลได้จริง”

 


เรียบเรียงจาก Massive restoration of world’s forests would cancel out a decade of CO2 emissions, analysis suggests
เรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง เกศรินทร์ เจริญรักษ์