พบ คลื่นความร้อน ขนาดยักษ์ในมหาสมุทรแปซิฟิก หวั่นเกิดวิกฤติซ้ำรอย

พบ คลื่นความร้อน ขนาดยักษ์ในมหาสมุทรแปซิฟิก หวั่นเกิดวิกฤติซ้ำรอย

มหาสมุทรชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 5 องศาฟาร์เรนไฮต์จากระดับปกติอย่างรวดเร็ว อ้างอิงจากองค์การจัดการมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (US National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) โดยมีการตั้งชื่อเล่นว่าเป็น “ คลื่นความร้อน มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกเฉียงเหนือปี ค.ศ. 2019”

 

อุณหภูมิที่สูงกว่าปกติมีการทำเครื่องหมายสีส้มและสีแดง รูปถ่าย: Noaa

คลื่นความร้อนสมุทร (Marine Heatwave) ถูกนิยามว่าเป็นเหตุการณ์ทางสมุทรศาสตร์ที่อุณหภูมิพื้นผิวของน้ำทะเลจะสูงขึ้นราวร้อยละ 90 จากอุณหภูมิที่วัดได้ในอดีตต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน เหตุการณ์คลื่นความร้อนในปัจจุบันถือว่าเป็นคลื่นความร้อนที่รุนแรงอันดับสองนับตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์ไปติดตามปรากฎการณ์นี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 อ้างจากรายงานโดย NOAA

หากผืนน้ำที่ผิดปกติยังไม่สลายตัวในเร็ววันนี้ พื้นที่ดังกล่าวก็อาจกลายเป็นพื้นที่อันตรายหรือที่เรียกว่า “ก้อน” ของน้ำอุ่นซึ่งระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2559 ได้ทำให้สาหร่ายมีพิษเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หรือปรากฎการณ์แอลจีบลูม (Algae Bloom) คร่าชีวิตสิงโตทะเลและวาฬซึ่งอยู่ในภาวะคุกคามเนื่องจากสัตว์เหล่านั้นต้องเข้ามาหากินใกล้ชายฝั่ง

นักสมุทรศาสตร์เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยเห็นมวลรูปสามเหลี่ยมในมหาสมุทรทอดยาวจากรัฐอแลสกาไปจนถึงฮาวายและทางใต้ของแคลิฟอร์เนีย สาเหตุของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิคือกระแสลมที่บางเบา แต่ภาวะดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้นยาวนานเป็นเดือนเช่นที่เกิดขึ้นในปีนี้ กระแสน้ำอุ่นยังเป็นผลตกค้างจากเหตุการณ์คลื่นความร้อนสุดขั้วครั้งล่าสุด

“มันเริ่มจากอุ่นเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ยจนกระทั่งร้อนที่สุดเท่าที่เราเคยพบภายในเวลาเพียง 3 เดือน” เนท แมนทัว (Nate Mantua) นักวิจัยและนักวิทยสาศาสตร์จาก NOAA ประจำแคลิฟอร์เนียให้สัมภาษณ์ “ผมยังไม่เห็นความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างรูปแบบภูมิภาวะอากาศลักษณะนี้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระยะยาว ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ แต่การศึกษาในสาขานี้ยังอยู่ในช่วงการพัฒนาและยังเต็มไปด้วยคำถามที่รอคำตอบ” เขากล่าวเสริม

มหาสมุทรไปดูดซับความร้อนส่วนเกินราวร้อยละ 90 ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “สถานการณ์นี้เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายทศวรรษแล้ว แต่มันก็ค่อนข้างช้าหากเทียบกับเหตุการณ์ครั้งนี้ซึ่งมหาสมุทรร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลา 3 เดือนเท่านั้น” แมนทัวระบุ

ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสัตว์ทะเล ส่วนหนึ่งเนื่องจากคณะวิจัยมีเครื่องมือสังเกตการณ์ที่จำกัดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบขนาด 10.36 ล้านตารางกิโลเมตร นักสมุทรศาสตร์เริ่มมองเห็นผลกระทบบางส่วนจากการกระจายตัวของสัตว์น้ำบางชนิดพันธุ์ เช่น ปลาทูนาที่ย้ายมาอยู่อาศัยใกล้ชายฝั่งเพื่อหลบหนีกระแสน้ำอุ่น

ผลกระทบนั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้น 50 เมตรบนสุดนับจากผิวน้ำ “หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ความร้อนอาจทะลุลงไปในความลึกที้มากกว่านี้” แมนทัวกล่าวสรุป

 


เรียบเรียงจาก Marine heatwave hits Pacific, raising fears of a new hot ‘blob’
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์