หลักจริยธรรมแห่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน

หลักจริยธรรมแห่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน

ความจริงที่เกิดขึ้น

“ถ้ากล่าวถึงเรื่องการสร้างนโยบายเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนแล้วนั้น วิทยาศาสตร์สามารถบอกอะไรเราได้เยอะมากเกี่ยวกับการจัดการเรื่องนี้ จนในที่สุดผู้แทนจากรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก ก็ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดการปัญหานี้อย่างเป็นธรรม และเสมอภาคกับทุกฝ่าย” – (RICHARD SOMERVILLE, 2008)

โลกที่มนุษย์ที่ต่างคนต่างมีความคิด และอิสรภาพในการกระทำส่งผลให้การแก้ ปัญหาโลกร้อน ทำได้ดีที่สุดแค่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์แก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจากปลายทาง แต่ในทางกลับกันในโลกอุดมคตินั้นแต่ละประเทศควรจะมีข้อตกลง และร่วมมือกันอย่างแข็งขันกันเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนโดยการลด และหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากต้นตอ

แต่เราไม่ได้อยู่โลกแห่งอุดมคติใบนั้น ในโลกแห่งความจริงนั้นถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยขนาดไหน ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เหล่ามนุษย์นั้นยอมทำตามวิธีแก้ไขปัญหาที่ควรจะทำได้ทั้งหมด วิทยาศาสตร์อาจจะสามารถกำหนดนโยบายการแก้ปัญหา หรือคาดการณ์ความรุนแรงของปัญหา หรือแสดงให้เห็นถึงข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ได้สอนไว้ว่าวิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่เคยเพียงพอ จึงต้องพิจารณาตามหลักอื่นๆด้วย เช่น มนุษยธรรม และความเสมอภาคกัน เพื่อที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงต่างๆ ในการแก้ปัญหา

นี่เป็นความจริงทางจริยธรรมที่สำคัญสามข้อที่ทำให้การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นยุ่งยาก และซับซ้อนขึ้น

  1. การจะสร้างสมดุลระหว่างสิทธิ์และความรับผิดชอบของประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา
  2. ความขัดแย้งทางความคิดในเรื่องการประเมินโครงสร้างทางวิศวกรรมที่ออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน (ยกตัวอย่างเช่น กรณีกำแพงกันคลื่นที่ยังมีข้อถกเถียงในว่าเป็นการแก้ไขปัญหาหรือทำให้เกิดปัญหาหนักขึ้นในการที่น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง)
  3. การกำหนดความรับผิดชอบของคนรุ่นเราต่อคนรุ่นอนาคตที่ต้องอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังสร้างในวันนี้

ผลงานของมนุษย์

พิธีสารมอนทรีออลในปี 1987 ที่พูดถึงสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลกและข้อตกลงที่ตามมาเกี่ยวกับการจัดการสารนั้นๆ ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างของสนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมถึงแม้ว่าการแก้ปัญหาโอโซนโดยการเลิกใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลกนั้นจะง่ายกว่าการเลิกใช้เชื้อเพลิงปิโตรเลียมมาก แต่วิธีการที่ใช้แก้ปัญหานั้นเองได้ให้บทเรียนสำหรับการจัดการกับปัญหาโลกร้อนอื่นที่ตามมา ในการจัดการกับสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลก ทั้งภาครัฐ, ภาคอุตสาหกรรม และนักวิทยาศาสตร์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ช่วยกันวิจัยสารทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจากที่พิธีสารมอนทรีออลนั้นได้เรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นแกนหลักในการแก้ปัญหา เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่ผลิตสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลกเป็นจำนวนมาก จึงต้องสนับสนุนทั้งเงินทุนและความรู้ที่จะใช้ในผลิตสารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทดแทนสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลกด้วย 

หลายส่วนของสังคมต่างยอมรับว่าข้อตกลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพต้องมีมิติด้านจริยธรรมด้วย การประชุมพระคาทอลิกของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศในแถลงการณ์ว่า “ข้อตกลงนั้นต้องสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความยุติธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่ทำให้คนยากจนตกอยู่ในความเสี่ยงหรือเกิดการมอบภาระที่ไม่สมสัดส่วนและไม่ยุติธรรมระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศที่พัฒนาแล้ว.”

ในปัจจุบันนี้เกือบทุกประเทศในโลกได้เห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกนั้นต้องถูกควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ แต่คำถามสำคัญต่อมาคือ “ต้องมีปริมาณเท่าไรล่ะถึงจะปลอดภัย”

แนวความคิดด้านความอันตรายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกของประเทศต่างๆนั้นไม่เหมือนกัน เพราะสภาพความเสี่ยงของแต่ละประเทศจากปัญหานี้มีไม่เท่ากัน ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงไม่สามารถกำหนดให้ได้ว่าระดับปริมาณก๊าซเรือนกระจกเท่าใดถึงจะเรียกว่าปลอดภัย ไม่เหมือนกับที่ทางการแพทย์นั้นกำหนดว่าระดับคลอเรสเตอรอลเท่าใดจึงจะปลอดภัยต่อโรคหัวใจ สภาพภูมิอากาศโลกนั้นมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก

อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ข้อมูลของ IPCC ได้ทำให้เห็นว่าระดับความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกนั้นสัมพันธ์กับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศถือว่ารายงานเหล่านี้เป็นมาตรฐานที่สำคัญในการศึกษาและยังได้ใช้รายงาน IPCC เป็นตำราเรียนสำหรับนักศึกษาด้วย รายงานนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานวิจัยที่มีน้ำหนักมากโดยสมาคมวิชาชีพวิทยาศาสตร์ จนถึงกับทำให้ IPCC นั้นได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2007 รายงานนี้ยังได้ชี้นำให้สหภาพยุโรปกำหนดเป้าหมายที่จะพยายามไม่ให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิโลกเฉลี่ยในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมกลางศตวรรษที่19(ประมาณ14องศาเซลเซียส)

ในเดือนธันวาคม 2007การประชุมใหญ่ด้านภูมิอากาศที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติที่บาหลี นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศกว่า 200 คนจากกว่า 20 ประเทศ ได้ลงนามเพื่อเผยแพร่แถลงการณ์ ความว่า ภายในปี 2050 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลกจะต้องลดลงอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ ของปี 1990 นักวิทยาศาสตร์ยังได้กล่าวอีกว่าเป้าหมายของการกระทำนี้คือการรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่เทียบเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2-equivalent) ให้ต่ำกว่า 450 ppm

ไม่น่าแปลกใจที่การเจรจาที่บาหลีนั้นไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่จะให้ประเทศต่างๆยอมรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีการกำหนดเป้าหมายของทั้งการจำกัดระยะเวลาและปริมาณ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่หลักการทางวิทยาศาสตร์ไม่น่าเชื่อถือ แต่เป็นการที่แต่ละประเทศไม่ยอมที่จะตัดสินใจบนพื้นฐานของหลักวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีประเด็นอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น การเมือง

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการกระทำเพื่อจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศต่างๆไม่เพียงแต่ต้องใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่น และผลประโยชน์ของประเทศ แต่ยังต้องสนใจในประเด็นด้านความเสมอภาค และจริยธรรมในสังคมด้วย ถึงแม้ว่าชั้นบรรยากาศนั้นจะเหมือนกันในทั่วโลก แต่ว่าผลกระทบจากสภาพชั้นบรรยากาศโลกร้อนขึ้นนั้นกลับส่งผลต่างกันในแต่ละประเทศ ในแต่ละมุมของโลกด้วย ในขณะนี้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลได้ให้พลังงานมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ของพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ดังนั้นประเทศต่างๆ จะยอมรับมาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ต่อเมื่อพวกเขาได้รับการชดเชยสิ่งที่เสียไปอย่างยุติธรรม

ความเห็นที่แตกต่าง

ความแตกต่างเชิงมุมมอง และการกระทำในอดีตกับปัจจุบัน ของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทุกหนึ่งในสี่ของโมเลกุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ได้เกิดขึ้นมาจากการกระทำของมนุษย์ โดยส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อเป็นพลังงาน หากถามลึกมากขึ้นไปกว่านั้นอีกว่าประเทศไหนมีส่วนในการรับผิดชอบต่อการเพิ่มขึ้นนี้ คำตอบนั้นชัดเจนมากว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีประชากรคิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ได้ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปริมาณหนึ่งในสี่ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ได้ผลิตขึ้น

แต่ในอนาคตนั้นหากถามว่าใครจะมีส่วนมากกว่าในการเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ คำตอบคือประเทศที่กำลังพัฒนา และมีประชากรจำนวนมาก เช่น จีน และอินเดีย กำลังผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นจำนวนมากเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศจีนซึ่งตอนนี้ได้ทำการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ทุกๆสัปดาห์ ได้ทำการแซงสหรัฐอเมริกาไปแล้วในฐานะประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ข้อกังวลที่เกิดขึ้นจากเรื่องนี้คือหลักจริยธรรมในเรื่องสิทธิ และความรับผิดชอบของประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนา

อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านจริยธรรมคือความคาดหวังในทางวิศวกรรม และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อที่จะตอบโต้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีวิธีการมากมายที่ดูจะเป็นไปได้ถูกเสนอขึ้นมา เช่น การนำกระจกบานใหญ่ไปวางไว้ในอวกาศ ทำให้โลกสะท้อนแสงมากขึ้น เพื่อลดปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น เมื่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิเลสของมนุษย์มีมากขึ้น มนุษย์ก็พยายามหาทางแก้ปัญหาทางลัดด้วยเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าการลดกิเลสของตนลง

ผู้เขียนเชื่อว่าสิ่งนี้ควรถูกต่อต้าน เพราะถึงมองในแง่ดีที่สุด ถ้าเทคโนโลยีสามารถใช้ได้ผลจริง มันก็จะทำให้คนรุ่นหลังสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไปยิ่งไปกว่านั้นเทคโนโลยีอาจจะสร้างปัญหาเพิ่มเติมได้อีก ยกตัวอย่างเช่นถึงแม้ว่าโลกจะเย็นลงจากการนำกระจกไปไว้ในอวกาศ ทำให้เราสามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้มากขึ้น ก็จะส่งผลกระทบทำให้น้ำในมหาสมุทรนั้นมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นจากการละลายของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

การมีเทคโนโลยีไว้นั้นดีกว่าการที่ไม่มีแน่นอน แต่ผู้เขียนรู้สึกถึงเทคโนโลยีเหล่านี้เปรียบเสมือนระเบิดนิวเคลียร์ ควรจะศึกษาและรู้จักมันไว้ แต่ไม่ควรจะนำมันออกมาใช้ เพราะดูเหมือนมันจะเป็นการไร้สิ้นความรับผิดชอบมากกว่าถ้าเรานำเทคโนโลยีเหล่านี้มาแทรกแซงโลกใบนี้ โดยยังไม่แน่ใจถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด เปรียบกับการรักษาที่จะทำให้ผลข้างเคียงนั้นแย่ไปกว่าตัวโรคเสียอีก หากจะเปรียบเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นทางเลือกสุดท้ายของสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ก็ขอให้เราได้ทำทุกอย่างที่ทำได้ก่อน เพื่อหลียกเลี่ยงสถานการณ์นั้น

ข้อสรุปจากบทความ

สุดท้ายนี้ประเด็นความเสมอภาคกันระหว่างรุ่นสู่รุ่นนั้นต้องมีข้อตกลงกันว่าจะตัดสินใจทำแบบไหน เพราะการตัดสินใจนั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้คนที่ในขณะนี้ยังไม่ได้แม้แต่ลืมตาดูโลก ระบบภูมิอากาศโลกนั้นมีกลไกการหน่วงเวลาหลายอย่างในตัวเอง ผลที่ตามมาของภาวะเรือนกระจกที่เพิ่มสูงจะปรากฏขึ้นหลังจากเวลาผ่านไปหลายทศวรรษหรือนานกว่านั้น ทั้งมหาสมุทร, หิมะ และน้ำแข็ง ที่มีการแสดงผลกระทบที่ช้าต่อการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก เราได้ทำให้ลูกหลานเราประสบกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลต่อเนื่องหลายศตวรรษ ตอนนี้เราได้รับประโยชน์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลราคาถูกและอุดมสมบูรณ์ เราได้ใช้ชั้นบรรยากาศโลกเป็นที่ทิ้งขยะแบบฟรีๆ เสียแต่ว่าการทำเช่นนั้นเราผลักภาระให้กับเด็กและลูกหลานของเรา

ผู้เขียนเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายที่ปรารถนาจะช่วยเหลือสังคมให้รอดพ้นจากภัยพิบัติครั้งนี้จะต้องใส่มากกว่าความรู้ แต่จะต้องใส่คุณธรรม, จริยธรรม และความเสมอภาค ลงไปเป็นส่วนหนึ่งในทุกครั้งที่ทำวิจัย เราควรให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงปริมาณที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางจริยธรรม ในการตัดสินใจที่จะทำบางสิ่งในแต่ละสังคมที่มีความแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นผู้กำหนดนโยบายจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคต่างๆ ของโลกและภาคเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างไร งานวิจัยนั้นจะต้องวิจัยถึงผลกระทบอย่างละเอียดลงไปในหัวข้อต่างๆ เช่น น้ำจืดสำหรับอุปโภค/บริโภค, ภัยแล้ง, น้ำท่วม, พายุ และปรากฏการณ์ธรรมชาติอื่นๆ ที่มีผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปเรื่อยๆ สู่ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกที่อยู่ท่ามกลางความไม่รู้ของเรา จึงทำให้ค่าใช้จ่ายที่ต้องแลกในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะแตกต่างกันอย่างมากทั่วโลกและระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับกำลังพัฒนาและงานวิจัยต่างๆนั้นก็จะมีส่วนเป็นอย่างมากในการทำความเข้าใจกับตัวแปรเหล่านี้

การรวมข้อพิจารณาดังกล่าวเข้ากับการเจรจาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงไม่ได้กลายเป็นเพียงความฝัน ประสบการณ์ได้สอนเราว่าการจะได้วิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นจะต้องมีพื้นฐานทางจริยธรรมด้วย พิธีสารมอนทรีออลและข้อตกลงที่ตามมาเพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดจากมนุษย์ต่อโอโซนในชั้นบรรยากาศแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการคำนึงถึงจริยธรรมอย่างชัดเจน

ให้เหล่ามวลมนุษย์ได้รับรู้ถึงความเสียหายที่เราได้ทำกับระบบภูมิอากาศและแก้ไขมัน เพื่อลดความเสียหายที่เราจะสร้างเพิ่มขึ้นในอนาคต นั่นคือความรับผิดชอบทางศีลธรรมและจริยธรรมของเราที่จะต้องมีต่อโลกใบนี้, ต่อลูกหลานของเรา และต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้

 


ภาพเปิดเรื่อง Emily Hiestand
ถอดความและเรียบเรียงจาก The Ethics of Climate Change
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร