นักอนุรักษ์ตัดนอแรด เพื่อช่วยชีวิตแรดจากขบวนการลักลอบล่าสัตว์ป่า

นักอนุรักษ์ตัดนอแรด เพื่อช่วยชีวิตแรดจากขบวนการลักลอบล่าสัตว์ป่า

ทีมเจ้าหน้าที่เริ่มลงมือทำงานกันอย่างรวดเร็วในทันทีที่แรดสงบลง มอเตอร์ของเลื่อยไฟฟ้าก็เริ่มหมุนและได้ตัดเอา “นอ” ซึ่งเป็นส่วนที่แสดงสัญญะของพวกมันออกไป เคราตินสีขาวปลิวว่อนไปในอากาศ เสมือนเกล็ดหิมะที่ลอยละล่องลงมาเกลื่อนพื้น เมื่อสวิทซ์เลื่อยไฟฟ้าถูกปิด สิ่งที่เหลืออยู่มีเพียงต้นขั้วของสิ่งที่เคยเป็น “นอ”

“มันเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดสำหรับเรา ไม่ใช่สำหรับแรด” Mark Gerrard กรรมการผู้จัดการของ Wildlife ACT องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเพื่อปกป้องสัตว์ป่าบรรยายให้สื่อมวลชนฟัง “เรามีหน้ากากที่เอาไว้ปิดบนใบหน้า เพื่อปกปิดการมองเห็นของกับแรด มีที่อุดหูสอดเข้าไปในหู… เพื่อลดอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ เราต้องเตือนตัวเองว่า [นอแรด] นี้เป็นเพียงเคราติน – มันเป็นเพียงแค่เล็บเท่านั้น”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่จาก Ezemvelo KZN Wildlife ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาลแอฟริกาใต้ ได้ทำงานร่วมกับ Wildlife ACT เพื่อ “ตัดนอ” ให้กับประชากรแรดขาว (Ceratotherium simum) ทั้งหมดในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Spioenkop ในจังหวัด KwaZulu-Natal ของประเทศแอฟริกาใต้ ความพยายามนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อยับยั้งมิให้มีแรดต้องถูกฆ่าตาย จากผู้ลอบล่าสัตว์ที่ต้องการเอานอของพวกมันไป อันเป็นชะตากรรมที่เกิดขึ้นบ่อยเกินไป สำหรับสายพันธุ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์นี้
.
.

 

Photo : Casey Pratt / Love Africa

.
Gerrard บอกว่าเขาไม่สามารถเปิดเผยจำนวนแรดขาวใน KwaZulu-Natal ได้ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ถึงกระนั้นเขาได้ยืนยันว่ายังมี “จำนวนมาก” ในพื้นที่นี้ – อันถือเป็นหมุดหมายสำคัญของผู้ลักลอบล่าสัตว์ในอดีตที่ผ่านมา

“การตัดนอแรดออกไป จะช่วยลดแรงจูงใจแก่ผู้ลักลอบล่าสัตว์ที่เข้ามาในพื้นที่อนุรักษ์ เพราะผลตอบแทนที่พวกเขาจะได้รับนั้นต่ำ หรืออาจเป็นศูนย์ แต่พวกนักล่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าเดิมในการพยายามลักลอบเข้ามาในพื้นที่อนุรักษ์” เขากล่าว

แรดใช้เขาด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงการป้องกันอาณาเขตตามนิสัยของสัตว์ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตัดนอแรดออกให้ครบทุกตัว Gerrard อธิบายว่าด้วยวิธีนี้จะทำให้ไม่เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม จะไม่มีแรดตัวใดได้รับอภิสิทธิ์

Michael Knight ผู้อำนวยการ IUCN SSC African Rhino Specialist Group กล่าวว่า การตัดนอแรดให้กับประชากรทั้งหมด เป็นการป้องกันการลอบล่าสัตว์ที่ดีที่สุด
.
.

Photo : Casey Pratt / Love Africa

.
“คุณต้องทำอย่างนี้กับสัตว์ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด [ไม่เช่นนั้น] ผู้ลักลอบล่าสัตว์จะพูดว่า ‘พวกมันทำกับสัตว์เพียงแค่หนึ่งหรือสองตัวเท่านั้น แต่ยังมีให้พวกเราเข้าไปล่าอีกมากมาย’” Michael Knight กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน “ดังนั้นคุณต้องจัดระเบียบให้ดีพอสมควร”

Mark Gerrard กล่าวว่า นักอนุรักษ์ได้เริ่มตัดนอให้กับแรดในเขตอนุรักษ์ KwaZulu-Natal มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ผลที่เกิดขึ้นทำให้จำนวนแรดที่ถูกล่ามีจำนวนลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่การตัดนอแรดออกเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถปกป้องแรดได้ทั้งหมด นอกจากโครงการนี้แล้ว การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและลาดตระเวนพื้นที่รอบๆ พื้นที่อนุรักษ์ยังเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป และยังต้องออกไปทำงานเชิงรุกกับชุมชนท้องถิ่นรอบพื้นที่ด้วย

ปี พ.ศ. 2557 เป็นหนึ่งในปีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับแรดแอฟริกา โดยข้อมูลเชิงสถิติระบุว่ามีการลักลอบล่าสัตว์เกิดขึ้นถึง 3,000 ครั้งทั่วทั้งทวีป ในจำนวนนั้นมี 1,175 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้ แต่นับจากวันนั้นเป็นต้นมาการลักลอบล่าแรดในแอฟริกาใต้ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2562 มีแรดถูกฆ่า 594 ตัว และต่อมาในปี พ.ศ. 2563 มีแรดถูกฆ่า 394 ตัว

Elise Serfontein ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งองค์กร NGO Stop Rhino Poaching กล่าวว่าเหตุการณ์การลักลอบล่าสัตว์ในแอฟริกาใต้ลดลงในช่วงที่มีการล็อกดาวน์จากการระบาดของ COVID-19 แต่จำนวนก็เพิ่มขึ้นทันทีที่รัฐบาลยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าว เธอเสริมว่า เจ้าหน้าที่ในเขตสงวนสัตว์ป่าของประเทศกำลังพยายามทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้สัตว์ป่าของพวกเขาปลอดภัย แม้จะขาดรายได้จากการท่องเที่ยวไปก็ตาม
.
.

Photo : Casey Pratt / Love Africa

.
“เราไม่สามารถละสายตาลงได้เลย” Serfontein บอกกับสื่อมวลชน “ตลาดพ่อค้าและตลาดผิดกฎหมายยังคงดำเนินการอยู่ตลอด และแม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะมีแรดตายเฉลี่ยเพียงวันละหนึ่งตัว แต่นั่นก็หมายความว่าขบวนการล่าสัตว์ ยังคงกัดกินทรัพยากรสัตว์ป่าอันเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของเราไป

“ฉันเชื่อว่าการตัดนอแรดเป็นวิธีแก้ไขปัญหาระยะกลางที่ดี ที่ต้องทำร่วมกับการดูแลพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ” เธอกล่าวเสริม “ ใช่! สัตว์ที่ถูกโกนขนไปแล้วก็ยังถูกนำไปต้มยำทำแกง แต่สิ่งนี้จะช่วยให้แรงจูงใจของพวกลักลอบล่าสัตว์ลดลง นักอนุรักษ์กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อให้สัตว์มีชีวิตอยู่ และเราจำเป็นต้องสนับสนุนการตัดสินใจ และความพยายามของพวกเขา”

Mark Gerrard กล่าวว่าหน่วยงานของเขายินดีช่วยเหลือการตัดนอแรด แต่เรื่องนี้จำเป็นต้องทำซ้ำเป็นประจำเพื่อรักษาผลลัพธ์ในเชิงบวก (นอแรดจะใช้เวลาประมาณ 18 – 24 เดือน ในการงอกขึ้นมาใหม่เหมือนเดิม) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการจัดการมีค่าใช้จ่ายที่สูง จึงอาจมีแรดจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รับการจัดการ

“เมื่อคุณได้ลงมือทำแล้ว คุณก็ต้องทำมันต่อไป – และคุณต้องประชาสัมพันธ์ด้วยด้วย” Michael Knight ให้ความเห็น “คุณต้องบอกต่อออกไปสู่สาธารณะ ตะโกนออกไปว่า แรดของฉันถูกฆ่า อย่ามาทำอย่างนี้ที่นี่อีกเลย”
.
.

Photo : Casey Pratt / Love Africa

.
แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีประชากรแรดขาวมากที่สุดในแอฟริกา การสำรวจในปี พ.ศ. 2560 พบว่ามีอยู่มากกว่า 15,600 ตัว

อย่างไรก็ตาม ในปีเดียวกันนั้นนั่นเป็นปีที่แอฟริกาใต้ได้อนุญาตให้มีการค้าขายนอแรดภายในประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งทำให้มีนักอนุรักษ์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะทำให้การลักลอบล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมายทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แต่ถึงกระนั้นในความเห็นของ Michael Knight เขาไม่คิดว่ามันจะเกิดผลกระทบต่อประชากรแรดในประเทศสักเท่าไหร่

“การซื้อขายมันค่อนข้างเป็นเรื่องจำกัด” Michael Knight กล่าว “แล้วใครจะซื้อล่ะ ? อาจมีคนที่ซื้อไปเพื่อหวังการลงทุนในอนาคต แต่มันก็เป็นความเสี่ยง เพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ และในตอนนี้การค้านอแรดระหว่างประเทศถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย”

เมื่อถูกถามว่า จะวัดความสำเร็จของความพยายามตัดนอแรดได้อย่างไร Mark Gerrard มีความชัดเจนในคำตอบว่า “ไม่มีสัตว์ถูกล่า”

“ความสำเร็จสำหรับผมจะอยู่ในช่วงเวลาสองปี (เมื่อ) ยังไม่มีสัตว์ที่ถูกล่าในพื้นที่อนุรักษ์” เขากล่าว “และผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือความสำเร็จน่าจะอยู่ที่ความต้องการนอแรดเริ่มลดลง ดังนั้น ในสองปีนี้เราจึงไม่จำเป็นต้องตัดนอแรดเพิ่มอีก”

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก South African dehorning initiative aims for ‘zero poached’ white rhinos

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม