ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงราว 2 ใน 3 เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์

ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงราว 2 ใน 3 เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์

รายงานฉบับล่าสุดของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลเปิดเผยว่าประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงเฉลี่ยวราว 68 เปอร์เซ็นต์ตลอดราวห้าทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญคือการบริโภคล้นเกินของมนุษย์

Living Planet Report ประจำปี ค.ศ. 2020 วิเคราะห์กลุ่มประชากรของสัตว์ป่ากว่า 4,392 ชนิดพันธุ์ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำตั้งแต่ ค.ศ. 1970 ถึง 2016 พบการหดตัวของประชากรอย่างรวดเร็ว นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายล้านปีที่โลกเผชิญกับการลดลงของประชากรสัตว์ป่าที่รวดเร็วเช่นนี้

ภูมิภาคที่เผชิญกับวิกฤตรุนแรงที่สุดคือลาตินอเมริกาและแคริบเบียนที่ประชากรสัตว์ป่าลดลงเฉลี่ย 94 เปอร์เซ็นต์โดยมีสาเหตุสำคัญจากการแปลงสภาพทุ่งหญ้าสวันนา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ การล่าสัตว์เกินระดับที่ฟื้นฟูได้ตามธรรมชาติ การปล่อยชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเข้าสู่พื้นที่ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงานระบุว่า กิจกรรมของมนุษย์คือสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวโลกซึ่งไม่มีน้ำแข็งปกคลุมสูงถึง 75 เปอร์เซ็นต์ การทำลายล้างระบบนิเวศจะเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ป่าและพืชอีกกว่า 1 ล้านชนิดพันธุ์ โดยครึ่งหนึ่งคือสัตว์และพืช ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือแมลง โดยสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจเผชิญกับการสูญพันธุ์ในอีกทศวรรษหรือศตวรรษข้างหน้า

ถึงแม้ว่ารายงานจะบ่งบอกว่าธรรมชาติกำลัง “ถูกทำลายในอัตราเร็วที่ไม่เคยพบมาก่อน” ผู้เชี่ยวชาญมองว่าแนวโน้มประชากรที่ลดลงนั้นยังสามารถหยุดยั้งและฟื้นฟูได้ หากเราดำเนินแผนแก้ไขอย่างเร่งด่วน เช่น เปลี่ยนแปลงวิธีที่เราผลิตและรับประทานอาหาร รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำจืดถูกทำลายอย่างรวดเร็วที่สุด ข้อมูลระบุว่าเราสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกราว 85 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลา นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในแหล่งน้ำจืดลดลงราว 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปีตั้งแต่ ค.ศ. 1970 

“แหล่งน้ำจืดคือระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมลงรุนแรงที่สุด” Rebecca Shaw หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์จาก WWF อธิบาย “คุณจะเห็นภาพของธรรมชาติที่กำลังจะล่มสลาย ซึ่งอยู่ในอัตราที่น่าหวั่นใจ แต่เราก็เชื่อจริงๆ ว่า หากทั่วโลกพยายามอย่างเต็มที่ เราก็ยังคงมีความหวัง”

“แต่อย่างไรก็ดี เราก็ยังมองเห็นการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของประชากรสัตว์ป่าในระบบนิเวศน้ำจืด เนื่องจากวิธีที่เรากั้นแม่น้ำโดยการสร้างเขื่อน และการที่เราใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อผลิตอาหารป้อนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก” เธอกล่าวเสริม

 

ความเสื่อมโทรมมีสาเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์ 

“การที่จะตอบสนองไลฟ์สไตล์ในศตวรรษที่ 21 เราใช้ทรัพยากรโลกในระดับที่มากเกินไปถึง 56 เปอร์เซ็นต์” รายงานระบุ

Rebecca Shaw ให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า ประชากรสัตว์ป่าที่ลดลงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของโลกในการสนับสนุนการดำรงชีวิตของเราในอัตราที่ลดลงเช่นกัน

“เรามักให้ความสำคัญกับชนิดพันธุ์ที่กำลังใกล้สูญพันธุ์ หรือกำลังเผชิญภัยคุกคามครั้งใหญ่ แต่กว่าที่ชนิดพันธุ์จะเดินถึงจุดนั้น มันก็แทบไม่มีฟังก์ชันในทางระบบนิเวศอีกต่อไปแล้ว” Shaw อธิบาย

ผู้เขียนรายงานยังระบุอีกว่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก “ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สัตว์ป่าลดจำนวนลงคือแหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ซึ่งมีสาเหตุจากภาคการเกษตร การขยายพื้นที่การเกษตรเพื่อใช้ผลิตอาหาร” Shaw ให้สัมภาษณ์กับ CNN

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชนิดพันธุ์เผชิญกับการสูญพันธุ์ในอนาคต หากผู้นำโลกยังไม่ทำอะไร

นักวิทยาศาสตร์ยังเตือนอีกว่า ธรรมชาติที่ถูกทำลายลงก็ไม่ต่างจากหายนะของมนุษยชาติ

“รายงานฉบับนี้เตือนให้เรารู้ว่า ทำลายธรรมชาติก็ไม่ต่างจากการทำลายอนาคตของเรา เพราะโลกใบนี้คือบ้านของเรา ยิ่งมนุษย์รุกล้ำพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นบ้านของธรรมชาติ เรากำลังทำลายสัตว์และพืชป่าอีกทั้งยังเร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดจากสัตว์สู่คน เช่น โควิด-19” Carter Roberts ผู้บริหารและประธาน WWF สหรัฐอเมริการะบุในคำแถลงการณ์

 

โรคระบาดจากสัตว์สู่คน

“เรากำลังทำลายป่าเขตร้อน เปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่การเกษตรเพื่อผลิตอาหารป้อนประชากรที่เพิ่มขึ้นของโลก โดยเฉพาะโปรตีนจากสัตว์” Shaw กล่าว “ในกระบวนการตัดไม้ทำลายป่า และการตัดแบ่งผืนป่าออกเป็นส่วนๆ เพื่อนำที่ดินมาผลิตอาหาร เรากำลังเปิดทางให้นักล่าเข้ามาล่าสัตว์ป่าป้อนตลาดค้าสัตว์ป่าทั่วโลกเช่นกัน นั่นไม่ต่างจากการเพิ่มความเสี่ยงของการระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนชนิดใหม่ในอนาคต” 

“ยิ่งสัตว์ป่าเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารของมนุษย์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่โรคในสัตว์ป่าจะแพร่มายังมนุษย์ เรากำลังเล่นรัสเซียนรูเล็ตต์ที่มีการระบาดครั้งใหญ่เป็นเดิมพัน หากเราพ่ายแพ้เมื่อไหร่ เราก็จะเจอกับการระบาดของโรคอย่างโควิด-19 หรืออาจรุนแรงกว่าในอนาคต” เธอกล่าวสรุป

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Human activity has wiped out two-thirds of world’s wildlife since 1970, landmark report says

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก