“โลกร้อน” ทำให้ฉลามต้องย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย เสี่ยงทำระบบนิเวศรวน

“โลกร้อน” ทำให้ฉลามต้องย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย เสี่ยงทำระบบนิเวศรวน

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทร กำลังสร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงให้กับระบบนิเวศทางทะเล

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทันที คือ การอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก เพื่อเข้าไปอาศัยในน่านน้ำที่มีอุณหภูมิพอเหมาะกับการดำรงชีวิต

แต่เมื่อสิ่งมีชีวิตหายไปจากที่หนึ่ง ระบบนิเวศตรงนั้นก็เปลี่ยนไป ชีวิตของมนุษย์เราเองก็ได้รับผลกระทบตามด้วย

เป็นต้นว่า จากที่เคยจับปลาได้คราวละมากๆ ที่ทะเลหน้าบ้าน ก็อาจจับได้น้อยลง หรือต้องออกเรือไกลขึ้น สิ้นเปลืองพลังงานที่ใช้เดินทางมากขึ้น

ในกรณีการอพยพย้ายถิ่นสัตว์ทะเลที่นักวิทยาศาสตร์และนักนิเวศวิทยาทางทะเลกังวลกันมาก คือ การย้ายถิ่นที่อยู่ของฉลามขาว

ตั้งแต่ปี 2014 ความร้อนในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาสู่จุดสูงสุดในปี 2020 ทำให้ฉลามขาววัยละอ่อนจำนวนหนึ่งนอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย อพยพไปทางเหนือ 600 กม. สู่น่านน้ำที่เย็นกว่าแถบอ่าวมอนเทอเรย์ – ซึ่งเป็นบ้านอันแสนสงบสุขของนากทะเลมานมนาน

พอมีฉลามเข้าไปพัวพันอยู่ด้วยกัน จำนวนนากทะเลกลับลดลงถึง 86% เพราะถูกฉลามฆ่า

นักวิทยาศาสตร์อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เป็นผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และเป็นความผิดของมนุษย์ที่ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง จนอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรร้อนขึ้น

ไม่ใช่ความผิดของฉลามขาวแต่อย่างใด

เมื่อนักล่าต้องย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ ทำให้พวกมันได้พบเจอเหยื่อชนิดใหม่ๆ มากขึ้น นำไปสู่การล่าที่ไม่เคยมีมาก่อน และนั่นจะทำให้ระบบนิเวศแถบนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

โดยเฉพาะฉลามขาวที่ถูกจัดให้อยู่ในฐานะสัตว์ผู้ล่าลำดับต้นๆ ของห่วงโซ่อาหาร การเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่ ย่อมนำไปสู่ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง

จากการติดตามการอพยพของฉลามหนุ่มฝูงดังกล่าว ยังทำให้นักวิทยาศาสตร์พบเรื่องน่ากังวลอีกอย่าง – เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลลดลงแล้ว ฉลามฝูงนั้นกลับไม่ยอมย้ายไปอยู่บ้านเก่า ยังคงสะบัดครีบอย่างสบายอารมณ์อยู่ในที่อยู่ใหม่

และอาจหมายความว่า สมดุลของนิเวศทางทะเลจะพังทลายลงถึงสองแห่ง

นอกจากฉลามแล้วยังมีสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรอีกมาก ที่มีส่วนร่วมในการทำลายสมดุล เนื่องจากมีปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นผู้ผลักดัน

ในบางกรณีอาจไม่ใช่สัตว์น้ำทุกตัวที่ย้ายถิ่นแล้วสามารถอยู่รอดได้อย่างฉลามขาว ตรงกันข้าม การย้ายถิ่นอาจทำให้สถานะเหยื่อของสัตว์บางชนิดถูกผลักเข้าสู่คมเขี้ยวของสัตว์ผู้ล่าได้ไวขึ้น

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทำให้การกระจายทรัพยากรตามธรรมชาติในเรื่องอาหาร “หยุดชะงัก” เนื่องจากเกิดการต่อสู้แข่งขันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สิ่งที่เลวร้ายที่สุด สัตว์บางชนิดอาจไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ หากสัตว์เหล่านั้นเอาตัวรอดไม่ได้ จำนวนสัตว์ทะเลจะลดลงอย่างแน่นอน

 


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน