จากขวดน้ำถึงซองยาสูบ: การศึกษาโดยสหประชาชาติกับความพยายามติดตามเส้นทางขยะพลาสติกในแม่น้ำโขงและคงคา

จากขวดน้ำถึงซองยาสูบ:  การศึกษาโดยสหประชาชาติกับความพยายามติดตามเส้นทางขยะพลาสติกในแม่น้ำโขงและคงคา

การทิ้งขยะในที่ทิ้งขยะของเทศบาลประเทศไทยอาจนำไปสู่การรั่วไหลของขยะพลาสติกในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงเมื่อเกิดลมหรือฝน เช่นเดียวกับแม่น้ำคงคาในอินเดียที่มีซองยาสูบขนาดเล็กจำนวนมหาศาลแต่ยุ่งยากอย่างยิ่งที่จะจัดเก็บ

องค์การสหประชาชาติได้ทำการศึกษาเพื่อตามหาที่มาของมลภาวะพลาสติก โดยพบว่าต้นทางขยะของเอเชียนั้นแตกต่างจากที่อื่น ทีมวิจัยระบุว่า การกำจัดมลภาวะพลาสติกจึงไม่ใช่แค่การบังคับใช้นโยบายห้ามใช้พลาสติกบางประเภทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนโยบายที่พยายามจัดการปัญหาที่ต้นตอของมลภาวะพลาสติกซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค

“จุดที่มีการรั่วไหลของพลาสติกในเอเชียนั้นค่อนข้างแตกต่างจากแหล่งอื่นในต่างภูมิภาค” คาคุโกะ นากาทานิ-โยชิดะ (Kakuko Nagatani-Yoshida) ผู้ประสานงานด้านเคมี ขยะ และคุณภาพอากาศประจำโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme) กล่าวในการนำเสนองานวิจัยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ภายใต้โครงการวิจัยที่ชื่อว่าการยกระดับมาตรการจำกัดขยะพลาสติกในแหล่งน้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนโดยประเทศญี่ปุ่น

นอกจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทีมวิจัยยังพบขยะพลาสติกที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การประมง การก่อสร้าง การขนส่ง เธอย้ำว่า “มลภาวะพลาสติกซึ่งมีลักษณะจำเพาะในพื้นที่ ก็จำเป็นต้องมีทางแก้ไขปัญหาที่เจาะจงในแต่ละพื้นที่เช่นกัน”

จากการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ สำรวจโดยการลงพื้นที่ สอบทานองค์ประกอบของขยะ รวมถึงข้อมูลจากเครื่องจักรสำรวจไมโครพลาสติก นักวิจัยพบจุดสำคัญที่นำไปสู่การรั่วไหลของขยะพลาสติก 9 จุดในกัมพูชา ลาว ไทย เวียดนาม และอินเดีย นอกจากนี้ ชุมชนในพื้นที่ยังช่วยแจ้งเบาะแสขยะพลาสติกรวมถึงจุดทิ้งขยะผิดกฎหมายผ่านแอพลิเคชันมือถืออีกด้วย

การศึกษาของสหประชาชาติพบว่า จุดที่ก่อให้เกิดการรั่วไหลของขยะพลาสติกมากที่สุดคือจุดทิ้งขยะผิดกฎหมาย โดยหนึ่งในนั้นอยู่ริมแม่น้ำมูนที่ส่งขยะต่อไปยังแม่น้ำโขง ชุมชนแออัดหรือเมืองขนาดเล็กที่ตั้งประชิดกับทางน้ำก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เสี่ยงเนื่องจากระบบการจัดเก็บขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขยะพลาสติกจากต้นน้ำมักจะสะสมให้เห็นบริเวณท่าเรือปลายน้ำ

จากองค์ประกอบที่แตกต่างกันของพลาสติกที่พบในแต่ละพื้นที่ศึกษา นักวิจัยระบุว่ารัฐควรดำเนินนโยบายและการรณรงค์ให้ตรงจุด โดยให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของขยะพลาสติกซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

ตัวอย่างเช่น เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ขยะพลาสติกกว่าครึ่งหนึ่งคือฝาขวดน้ำพลาสติก ส่วนเมืองอักราใกล้พระราชวังทัชมาฮาล พบขยะเป็นถุงพลาสติกโพลิธีนสูงถึง 62 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เวียงจันทน์ พบขวดน้ำพลาสติกสูงถึง 56 เปอร์เซ็นต์ของขยะพลาสติกทั้งหมด รวมถึงแหจับปลาและเสื้อคลุมฝนที่ทำมาจากโพลิเอธิลีนหนาแน่นก็เป็นขยะที่น่ากังวล

ทีมวิจัยยังพบไมโครพลาสติกจำนวนมากในแม่น้ำโขงและแม่น้ำคงคา โดยมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก 36 ตัวอย่างจากทั้งหมด 39 ตัวอย่าง พลาสติกจิ๋วเหล่านี้มีที่มาหลากหลาย เช่น สารเร่งการผลัดผลิว (Exfoliants) ในครีมเสริมความงาม นอกจากนี้ แหล่งน้ำในพื้นที่ปลายน้ำอย่างเมือง Can Tho ประเทศเวียดนามยังพบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในระดับที่เข้มข้นกว่าอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ไมโครพลาสติกราว 80 เปอร์เซ็นต์ยังไม่สามารถระบุถึงแหล่งที่มาได้ นักวิจัยระบุว่ายังมีความจำเป็นในการสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำให้เกิดขยะไมโครพลาสติก นอกจากนี้ รายงานยังระบุอีกว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะในเมืองขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บขยะให้ครอบคลุมบริเวณที่ใกล้กับแม่น้ำและแหล่งน้ำ

การศึกษาในระยะที่สองของสหประชาชาติจะขยายความครอบคลุมให้กว้างขึ้น และศึกษาถึงผลกระทบของมลภาวะพลาสติกในสัตว์ป่า โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่ต้องอพยพ

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก From drink bottles to tobacco sachets, UN study traces plastic pollution hot spots in the Mekong and Ganges
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิด : http://www.voicetv.co.th