ฆาตกรรมกินสมอง โศกนาฏกรรมชิงรังจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ฆาตกรรมกินสมอง โศกนาฏกรรมชิงรังจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทุกๆ ปี Pied Flycatcher นกจับแมลงตัวเล็กสีขาวดำ จะบินจากแอฟริกาตะวันตกไปยุโรปเหนือเพื่อสร้างรังและเลี้ยงลูก แต่ตอนนี้ฤดูใบไม้ผลิที่แสนสดใสกำลังกลายเป็นเรื่องราวสยองขวัญเสียแทน เมื่อเจ้านกจับแมลงต้องเผชิญหน้ากับนกติตใหญ่สายพันธุ์ท้องถิ่นที่ดูจะก้าวร้าวมากยิ่งขึ้น

เจ้านกติตใหญ่เจ้าอารมณ์ไม่เพียงแต่ไล่นกจับแมลงไปให้พ้นรัง แต่พวกมันจะไล่ล่า จิกจนตาย แล้วกินสมองของนกจับแมลง

อะไรคือสาเหตุทำให้เจ้านกติตใหญ่กลายเป็นร่างเป็นซอมบี้กระหายเลือด ?

สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้สัตว์บางสายพันธุ์ต้องเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาในการทำรัง ในอดีตนกติตใหญ่ จะมีช่วงเวลาผสมพันธุ์อยู่ราวสองสัปดาห์ก่อนที่นกจับแมลงจะบินมาถึง นกจับแมลงจึงสามารถเข้าไปใช้รังของนกติตใหญ่ได้โดยไม่ต้องเผชิญหน้ากัน แต่เมื่อเร็วๆ นี้ สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปทำให้พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของนกติตใหญ่เปลี่ยนไปจากเก่า ขณะที่เจ้านกจับแมลงจากแอฟริกาไม่ได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทางฝั่งยุโรป พวกมันซึ่งบินมาถึงเร็วกกว่าเดิมเล็กน้อย จะพบว่ารังส่วนใหญ่นั้นมีนกติตใหญ่ครอบครองอยู่ โดยจะเหลือรังเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่สามารถเข้าไปใช้งานได้โดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับเจ้าถิ่น

ดังนั้น สงครามของเหล่าปักษาจึงเริ่มขึ้น และผลของมันก็เป็นเรื่องน่าสลดสำหรับเหล่านกจับแมลง

Jelmer Samplonius จาก University of Edinburgh ผู้ศึกษาพฤติกรรมของนก บอกว่า “เมื่อนกจับแมลงและนกติตใหญ่มาเผชิญหน้าพร้อมกัน มันจึงสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นจากการแย่งชิงรัง”

ในรายงานของ Jelmer Samplonius ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology อธิบายว่า นกจับแมลง ถูกออกแบบรูปร่างให้ตัวเรียวเล็กเพื่อการบินในระยะไกล พวกมันไม่อาจสู้นกที่ตัวใหญ่กว่าได้ คู่แข่งที่ก้าวร้าวมากขึ้น มาพร้อมกรงเล็บที่แข็งแรง ทั้งนกติตใหญ่ยังมีพฤติกรรมที่ดุร้ายมากยิ่งขึ้นในฤดูผสมพันธุ์

“เมื่อนกจับแมลงบินเข้าสู่รังที่มีนกติตใหญ่อยู่ มันไม่มีโอกาสที่จะรอดเลย” Samplonius กล่าวเสริม

 

Jelmer Samplonius กับนกจับแมลง / PHOTO Rob Buiter

 

สิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นปรากฎการณ์ใหม่ชวนให้ประหลาดใจ แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนเคยเห็นความขัดแย้งทำนองนี้มาแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน

กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Turku ประเทศฟินแลนด์ ได้ศึกษาการแข่งขันทำรังของนกติตใหญ่และนกจับแมลงในฟินแลนด์ พวกเขาเคยเตือนว่า มีการปะทะกันของทั้งสองสายพันธุ์กันเป็นครั้งคราว

ในระหว่างปี พ.ศ. 2496 ถึง 2548 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Turku พบว่า มีนกจับแมลง 53 ตัวถูกฆ่าอยู่ตรงบริเวณพื้นที่สร้างรัง และนกที่ตายส่วนใหญ่เป็นนกตัวผู้

เรื่องที่น่าสนใจ นักวิจัยระบุว่า ในจำนวน 15 “คดีฆาตรกรรม” จาก 53 คดี  นกติตใหญ่จะไม่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีเหตุฆาตรกรรมเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักวิจัยของประเทศฟินแลนด์ไม่ได้บันทึกเรื่องราวการกินสมองเอาไว้ แต่ได้เขียนเตือนเอาไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นการปรับสมดุลให้กับนกทั้งสองสายพันธุ์”

กลับมาที่การศึกษาของ Samplonius เขาศึกษาปฏิสัมพันธ์ของทั้งสองสปีชีส์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึง 2560 พบว่าในบางปีทั้งสองสายพันธุ์ไม่ได้เข้ารังในช่วงเวลาที่ซ้อนทับกันมากนัก แต่มันไม่ใช่เรื่องยากที่จะสังเกตเห็นว่ามีนกจับแมลงตายอยู่ในรังของนกติตใหญ่

ทีมวิจัยของ Samplonius  พบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ หนึ่งในสิบของนกจับแมลงที่ถูกนกติตใหญ่ฆ่าจะถูกกินสมอง

แต่ก็เป็นเรื่องโชคดีว่า เหล่านกจับแมลงที่ตายไปไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรโดยรวมของสายพันธุ์ เพราะนกจับแมลงเพศผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีแนวโน้มเป็นพวก “ส่วนเกิน” ที่บินมาถึงรังช้ากว่าตัวอื่นๆ และไม่น่าจะหาคู่ครองได้

อย่างไรก็ตามนักวิจัยได้เตือนว่า หากแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินต่อไป นกจับแมลงจะเป็นผู้แพ้ในสงครามครั้งนี้ ซึ่งผู้ศึกษาระบุเอาไว้ว่า “ผลของความขัดแย้งระหว่างสองสายพันธุ์จะชัดเจนยิ่งขึ้นในอนาคต”

 


เรียบเรียงจาก Climate Change Turns Cute Birds Into Brain-Eating Zombies โดย Lina Zeldovich
เรียบเรียงโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์