ความเสี่ยงของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในญี่ปุ่น

ความเสี่ยงของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นวางแผนที่จะลงทุนจำนวนมหาศาลในเทคโนโลยีถ่านหินเพื่อใช้ทดแทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ค่อยๆ ปิดตัวลง

รายงานชิ้นใหม่เปิดเผยว่า แผนของญี่ปุ่นที่ต้องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่บนการคาดการณ์ที่ผิดพลาด และไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่อาจด้อยค่าในอนาคต (stranded assets) มูลค่ากว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การศึกษาดังกล่าวจัดทำขึ้นโดย Smith School of Enterprise and the Environment มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่ระบุว่า ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นควรทบทวนแผนการลงทุนมูลค่ามหาศาลในเทคโนโลยีถ่านหินเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ปิดตัวลง โดยระบุว่า แผนดังกล่าวจะทำให้นโยบายพลังงานของญี่ปุ่นเดินไปในทิศทางตรงข้ามกับของประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่นเอง

นับตั้งแต่แผ่นดินไหวที่ Tohuku เมื่อ พ.. 2554 ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ ทำให้ญี่ปุ่นต้องกลับมาทบทวนนโยบายพลังงานครั้งใหญ่ อย่างไรก็ดี มีนักวิจารณ์หลายคนโจมตีว่ารัฐบาลของอาเบะปล่อยให้นโยบายพลังงานหลังเหตุการณ์ฟุกุชิมะโดนแทรกแซงโดยบริษัทที่มุ่งมั่นในการสนับสนุนเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ในรายงานคาดการณ์เหตุการณ์ที่เป็นไปได้ 3 รูปแบบที่มีข้อสรุปตรงกันคือ บริษัทพลังงานของญี่ปุ่นจะเผชิญกับการบังคับให้ตัดจำหน่ายและตีมูลค่าสินทรัพย์ใหม่เป็นค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการดำเนินการตามแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในประเทศญี่ปุ่นนี่คือข้อความบางส่วนจากรายงาน ที่จะถูกนำเสนอต่อวุฒิสมาชิก ล็อบบียิสต์ภาคธุรกิจ และผู้นำจากบริษัทต่างๆ

ปัจจุบัน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แทบทุกแห่งยกเว้นแห่งเดียวที่เคยผลิตพลังงานคิดเป็นร้อยละ 29 ของพลังงานทั่วญี่ปุ่นถูกปิดดำเนินการ  ส่วนต่างดังกล่าวถูกทดแทนโดยใช้พลังงานจากน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ และถ่านหิน

Ben Caldecott นักวิจัยหลักในรายงานระบุว่า ปัจจุบันมีการวางแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ 49 แห่ง เพื่อผลิตไฟฟ้า 28 กิกะวัตต์ โดยแผนดังกล่าวไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะจะผลิตไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละ 191 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ปิดตัวลงไปหลังจากเหตุการณ์ที่ฟุกุชิมะ

การผลิตที่เกินความต้องการ พร้อมกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ จะสร้างความเสี่ยงที่สินทรัพย์กว่าร้อยละ 25 ของบริษัทพลังงานจะกลายเป็นสินทรัพย์ด้อยค่าในอนาคต (stranded assets) เนื่องจากจะถูกตัดจำหน่ายและกลายเป็นหนี้สินก่อนถึงเวลาหมดอายุการใช้งาน

Ben Caldecott อธิบายเพิ่มเติมว่า จุดอ่อนที่สุดของแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินของญี่ปุ่นคือ การมองข้ามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่อาจถูกขัดขวาง (disruption) โดยเทคโนโลยีใหม่จนกลายเป็นโรงงานที่ล้าสมัย

การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก เป็นร้อยละ 15 ภายในเวลาเพียง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ลดลงร้อยละ 39 และร้อยละ 41 ตามลำดับภายในเวลา 5 ปีเช่นเดียวกัน ในขณะที่แผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทำขึ้นภายใต้สมมติฐานว่าภาคพลังงานในประเทศจะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ทำให้ปลอดภัยสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ แต่ข้อสมมติฐานดังกล่าวตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศ G20 แห่งอื่นๆ

ญี่ปุ่นคิดจริงๆ หรือว่าจะสามารถดำรงการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ในอีก 50 ปีข้างหน้า เพราะนั่นคือสิ่งที่แผนระบุไว้ และรัฐบาลญี่ปุ่นก็ตัดสินใจเดินหน้าตามแผนดังกล่าว Ben Caldecott สรุป

 


ถอดความจาก Japan warned of flaw in coal-fired power plants project โดย Leo Lewis
ถอดความโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์