การเปลี่ยนแปลงของภาคขนส่งทางเรือ เมื่อ มลภาวะ ย้ายจากอากาศมาสู่ทะเล

การเปลี่ยนแปลงของภาคขนส่งทางเรือ เมื่อ มลภาวะ ย้ายจากอากาศมาสู่ทะเล

นักวิเคราะห์และภาคประชาสังคมตั้งข้อสังเกตว่า กติกาสากลชุดใหม่บังคับให้เรือบรรทุกสินค้าลดการปล่อย มลภาวะ ทางอากาศลงโดยเลือกใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น อาจทำให้เกิดมลภาวะทั้งซัลเฟอร์และไนเตรตลงในมหาสมุทรมากขึ้น

นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization หรือ IMO) จะห้ามไม่ให้เรือใช้เชื้อเพลิงที่มีสารซัลเฟอร์มากกว่า 0.5% เทียบกับมาตรฐานปัจจุบันที่ 3.5%

กฎเกณฑ์ดังกล่าวส่งสัญญาณอย่างเป็นทางการถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนับตั้งแต่การใช้น้ำมันแทนถ่านหินเมื่อราวศตวรรษที่ผ่านมา แต่เรือเดินสมุทรยังได้รับอนุญาตให้ใช้เชื้อเพลิงที่มีซัลเฟอร์สูงหากมีการติดตั้งสครับเบอร์ซึ่งเป็นอุปกรณ์ดักจับมลภาวะ

สครับเบอร์ระบบปิดจะเก็บน้ำส่วนใหญ่ซึ่งใช้ในการกรองซัลเฟอร์ออกจากปล่องเพื่อนำไปทิ้งที่ท่าเรือ แต่สครับเบอร์ระบบเปิดจะดักซัลเฟอร์จากปล่องแล้วปล่อยลงสู่ทะเล “การติดตั้งสครับเบอร์ระบบเปิดเป็นเรื่องที่คิดมาดีแล้วหรือ?” บิล เฮมมิงส์ (Bill Hemmings) จากแนวร่วมการขนส่งสะอาด (Clean Shipping Coalition) ประกาศแสดงจุดยื่น ณ สำนักงานใหญ่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศในกรุงลอนดอน โดยเขาระบุว่ามาตรการดังกล่าวสามารถใช้เป็นข้อเตือนใจสำหรับแนวคิดแบบครึ่งเดียวในการจัดการกับมลภาวะ

“ในอนาคต เราอาจจะมองย้อนกลับมาแล้วถามตัวเองว่าจะย่ำไปบนความผิดพลาดซ้ำเดิมอีกหรือไม่ แล้วเราได้บทเรียนอะไรบ้างจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เขาสรุป

 

จุดบอดของระบบ

มีการศึกษาที่ใช้เวลาหลายปีเพื่อทดสอบว่าสครับเบอร์ระบบเปิดซึ่งปล่อยซัลเฟอร์ลงสู่ทะเลนั้นเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลหรือไม่ ไฮโดรคาร์บอนและไนเตรตจะทำให้เกิดภาวะแอลจีบลูม (algae bloom) โลหะหนักซึ่งจะส่งผลให้อวัยวะภายในทำงานผิดพลาดและนำไปสู่ตัวอ่อนที่ผิดปกติหรือเปล่า

ผลการศึกษายังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน และองค์การทางทะเลระหว่างประเทศเองก็ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสครับเบอร์ “มันดูเป็นจุดบอดเล็กๆ และดูเหมือนว่าจะถูกละเลยอย่างมาก” อลัน เกลเดอร์ (Alan Gelder) รองประธานจากบริษัทที่ปรึกษา Wood Mackenzie ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์

“ถึงแม้การศึกษาบางชิ้นจะระบุว่าผลกระทบจากสครับเบอร์ระบบเปิดจะน้อยมากๆ หากเทียบกับปริมาณน้ำมหาศาลในมหาสมุทร ซึ่งมีการปนเปื้อนซัลเฟตอยู่แล้ว แต่ระบบดังกล่าวจะเป็นการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศโดยการย้ายมันมาเป็นมลภาวะทางทะเลแทน”

ทริสทัน สมิธ (Tristan Smith) จาก University College London กล่าวในการประชุมขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศว่าการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่าความเสียหายจากสิ่งแวดล้อมในมหาสมุทรเปิดอาจมีน้อยมากๆ “ในบางพื้นที่ เช่น ทะเลบอลติกซึ่งมีสัตว์น้ำหนาแน่นและมีความเปราะบาง ผลกระทบก็อาจจะรุนแรงมากขึ้น”

 

บรรเทาการเสียชีวิตทั่วโลก

เป้าหมายของมาตรการใหม่คือการเพิ่มสุขภาวะที่ดีของมนุษย์ ซึ่งในประเด็นนั้น กฎเกณฑ์นี่ก็นับว่าน่าจะประสบความสำเร็จ แต่การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยแก๊สเรือนกระจก หรือประเด็นเรื่องมลภาวะ อาจไม่ใช่ประเด็นหลักของมาตรการดังกล่าว

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อปีที่ผ่านมาพบว่าการปล่อยแก๊สซัลเฟอร์จากเรือเดินสมุทรทำให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรของประชากรกว่า 400,000 คนจากมะเร็งปอด และโรคกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงโรคหอบหืดในเด็กอีกกว่า 14 ล้านคนในแต่ละปี

หลัง พ.ศ. 2563 ตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะลดลงเหลือ 250,000 คนและ 6.4 ล้านรายตามลำดับ

สิงคโปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ห้ามไม่ให้ใช้สครับเบอร์ระบบเปิดตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ประเทศจีนก็เตรียมจะขยายการห้ามทิ้งน้ำปนเปื้อนจากสครับเบอร์ในหลายเมืองชายฝั่ง

การทำตามมาตรการใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศน่าจะครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวลงทุนจากอุตสาหกรรมน้ำมัน การขนส่ง และกลั่นปิโตรเลียมร่วมพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หลายคนก็ยังมีคำถามกับการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว

“นี่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ในท้ายที่สุด คุณก็เพียงหาซื้ออุปกรณ์ที่จะเก็บเอาซัลเฟอร์ไปทิ้งลงน้ำก็แค่นั้น” นักค้าน้ำมันผู้คร่ำหวอดในวงการแสดงความเห็น

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Going Overboard? Shipping Rules Seen Shifting Pollution From Air to Sea
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์