การเกษตรอินทรีย์สามารถเลี้ยงผู้คนทั่วโลกอย่างยั่งยืนได้หรือไม่?

การเกษตรอินทรีย์สามารถเลี้ยงผู้คนทั่วโลกอย่างยั่งยืนได้หรือไม่?

งานวิจัยได้ทำการศึกษาว่าการเกษตรอินทรีย์จะสามารถช่วยแก้ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารได้หรือไม่ คำตอบสั้น ๆ ก็คือถ้าเราจับมันจะได้ผลก็ต่อเมื่อเราจับมันรวมเข้ากับการลดการเกิดขยะเศษอาหาร (การใช้ผลผลิตให้คุ้มค่า) และการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง

วารสาร Nature Communications ได้ตีพิมพ์ว่า หากเราขยายการทำเกษตรอินทรีย์ไปทั่วทั้งโลกได้จริง เราสามารถลดการใช้ยาฆ่าแมลง ลดการใช้ปุ๋ย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และที่สำคัญที่สุดคือสามารถเลี้ยงปากท้องผู้คนบนโลกได้ แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องการใช้ที่ดินที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องนำไปรวมการกินอาหารที่มีให้คุ้มค่าที่สุด และการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง

ในงานวิจัยยังได้บอกอีกว่ามีแค่ 3 วิธีนี้เท่านั้นที่จะช่วยพัฒนาระบบการเกษตรให้ยั่งยืนได้ สำหรับประชากรโลก 9 พันล้านคน ภายในปี ค.ศ.2050

กรรมวิธีการทำเกษตรอินทรีย์ได้ถูกทดสอบมานานแล้วเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การไม่ใช้สารสังเคราะห์ในการกำจัดศัตรูพืช และการไม่ใช้ปุ๋ยเคมี แต่วิธีเพาะปลูกเหล่านี้ยังต้องใช้ที่ดินมากขึ้นกว่าการเกษตรแบบเดิมในการที่จะผลิตปริมาณอาหารเท่าเดิมเพราะปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ที่ต่ำกว่า ดังนั้นในตอนนี้นักวิจัยจึงต้องการที่จะพัฒนาระบบการทำเกษตรอินทรีย์ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการอาหารทั่วโลกได้ ด้วยผลกระทบการใช้ที่ดินที่ลดลง

ขั้นแรกนักวิจัยได้จำลองว่าการเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรแบบปกติไปเป็นเกษตรอินทรีย์จะส่งผลกระทบต่อตัวชี้วัดต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม และการผลิตอาหารอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นพวกเขาจึงแยกคิดตัวชี้วัดต่าง ๆ ทีละตัว ว่าตัวชี้วัดแต่ละตัวนั้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อประเด็นใหญ่ 2 ประเด็นในระบบการผลิตอาหารโลกอย่างไรบ้าง

1) การลดขยะจากเศษอาหาร
2) การลดการผลิตพืชเพื่ออาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลืองและข้าวโพด (การลดปริมาณของที่ดินที่ใช้ในการปลูกอาหารสัตว์ หมายถึงการลดจำนวนปศุสัตว์ลง และจะส่งผลให้สัดส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์ในอาหารทั่วโลกนั้นลดลง)

ผลครั้งแรกจากการจำลองสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรปกติไปเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ 100% จะใช้ที่ดินเพาะปลูกเพิ่มขึ้น 16-33% และทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นถึง 15% ภายในปี ค.ศ.2050  อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูก เมื่อไปรวมกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์

แต่อย่างไรก็ตามหากเราสามารถลดปริมาณของขยะเศษอาหาร และการปลูกพืชเพื่อผลิตอาหารสัตว์ลงได้ ความเสี่ยงในการสูญเสียที่ดินที่เป็นอันตรายจากการทำเกษตรอินทรีย์ จะถูกชดเชยด้วยประสิทธิภาพของการใช้ประโยชน์จากอาหารที่มากขึ้น นักวิจัยได้ยกตัวอย่างว่า ถ้าเราเปลี่ยนแปลงระบบอาหารของเราให้มีสัดส่วนของการผลิตอาหารแบบออร์แกนิกได้ 60% บวกกับถ้าเราสามารถลดปริมาณขยะเศษอาหาร และปริมาณอาหารที่นำไปให้กับปศุสัตว์ลงอย่างละครึ่งหนึ่ง แล้วนำปริมาณเหล่านั้นกลับมาบริโภคโดยตรง มันจะทำให้เกิดการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นแค่เพียงเล็กน้อย

การแปลงระบบการเกษตรโลกให้เป็นเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ 100% จะช่วยลดความต้องการในการใช้พลังงานที่ไม่หมุนเวียนได้ถึง 27% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดมาจากการเลิกผลิตปุ๋ยสังเคราะห์ ซึ่งจะช่วยชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้ที่ดินเพาะปลูกที่มากขึ้น แน่นอนว่าจะรวมไปถึงการใช้ยาฆ่าแมลง และการปนเปื้อนของไนโตรเจนจากปุ๋ยที่ลดลง

นักวิจัยยังคงระมัดระวังต่อผลการค้นพบตามสมมุติฐานนี้ บ่อยครั้งที่ผลการคำนวณจากแบบจำลองนั้นมีข้อผิดพลาด ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็เป็นการยากที่จะคาดเดาสถานการณ์ที่เกิดจากข้อมูลที่หลากหลายในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งนี้มีความโดดเด่นในจุดที่ความเป็นไปได้ของการทำเกษตรอินทรีย์นั้นเกี่ยวพันกับภารกิจใหญ่ในการลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลก

แต่นักวิจัยได้เน้นย้ำถึงประเด็นหลักของการศึกษาถึงประเด็นต่าง ๆ ในระบบอาหารของเรา ถ้าเราแยกมององค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ในเรื่องของปริมาณขยะเศษอาหาร การบริโภคเนื้อสัตว์ และการทำเกษตรอินทรีย์สามารถสร้างอาหารเพื่อสนองผู้คนบนโลกได้โดยไม่ต้องมีการบุกรุกที่จากป่าเพิ่ม ตามที่นักวิจัยได้สรุปไว้เกี่ยวกับการผลิตอาหารในอนาคตว่าควรจัดการกับประเด็นต่าง ๆ ในระบบการผลิตอาหารเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่มุ่งเน้นการผลิตที่ยั่งยืนอย่างเดียว

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Can organic farming feed the world—sustainably?
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร