การอนุรักษ์นาก มีผลดีต่อทั้งระบบนิเวศและมูลค่าทางเศรษฐกิจ

การอนุรักษ์นาก มีผลดีต่อทั้งระบบนิเวศและมูลค่าทางเศรษฐกิจ

การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรนากทะเลบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ชุมชนชายฝั่งและกลุ่มชาวประมงที่พึ่งพาการจับหอยเม่นและปูทะเลหาเลี้ยงชีพรู้สึกไม่พอใจ เพราะเข้าใจว่านากทะเลที่ชื่นชอบการลิ้มรสหอยเม่นกำลังแย่งแหล่งรายได้ของพวกเขาไป

แต่จากการประเมิน ‘ผลประโยชน์ระยะยาว’ พบว่า การเพิ่มขึ้นของนากทะเลช่วยให้ระบบนิเวศป่าสาหร่ายทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของปลามากหลายชนิด ทั้งยังช่วยในเรื่องการกักเก็บคาร์บอน และเพิ่มมูลค่าในฐานะสถานที่ท่องเที่ยว ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 53 ล้านเหรียญต่อปีทีเดียว

ข้อมูลดังกล่าว อ้างอิง จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ที่กล่าวภายใต้เงื่อนไขว่า ‘หากสามารถสร้างการจัดการที่ดี’ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้จะช่วยชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการทำประมงหอยในพื้นที่ได้ถึง 7 ล้านเหรียญต่อปี

งานวิจัยเรื่อง Cascading social-ecological costs and benefits triggered by a recovering keystone predator ที่กล่าวถึง เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจครั้งแรกที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนและผลประโยชน์ที่เกิดจากการฟื้นฟูประชากรนากทะเล (บริเวณชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา) พร้อมกันนี้ ยังเป็นการประเมินข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศในระยะยาว จากการทำหน้าที่ของนักล่าชั้นนำอย่างนากทะเล

เอ็ดเวิร์ด เจ เกรก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสถาบันทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย อธิบายว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการประเมินภาพรวมที่จะเกิดขึ้นเมื่อจำนวนนากทะเลเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่าเมื่อมีนากทะเลระบบนิเวศชายฝั่งสมบูรณ์มากกว่าเดิมถึง 40% และในระยะยาวจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการหาปลาสูงถึง 9 ล้านดอลลาร์ ช่วยเรื่องการกักเก็บคาร์บอนสูงถึง 2 ล้านดอลลาร์ และสามารถเพิ่มมูลค่าในฐานะแหล่งท่องเที่ยวได้สูงถึง 42 ล้านดอลลาร์ต่อปี

มูลค่าที่เกิดขึ้นนั้นมาจากอะไร กล่าวคือ การหาอาหารการกินของนากทะเลจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านระบบนิเวศครั้งใหญ่ นากทะเลจะกินหอยเม่น ซึ่งจะช่วยให้ป่าสาหร่ายทะเลได้มีโอกาสฟื้นตัว (ป่าสาหร่ายทะเลเป็นอาหารของหอยเม่น) เมื่อป่าสาหร่ายทะเลมีสุขภาพดี ก็จะช่วยทำหน้าที่เก็บกักคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความอุดมสมบูรณ์ตรงนั้นก็ช่วยดึงดูดสิ่งมีชีวิตในทะเล อาทิ แมวน้ำ ปลาเซลมอนและปลาชนิดต่าง ๆ ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อย่างวาฬให้ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ต่อไป

กล่าวโดยสรุป สามารถอธิบายได้ว่า การฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตให้กลับเข้ามาสู่สมดุลของระบบนิเวศจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่ส่งผลถึงมนุษย์เรา และสามารถใช้เป็นโมเดลการประเมินสถานการณ์การฟื้นจำนวนประชากรของสัตว์นักล่าในพื้นที่อื่น ๆ ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้ตั้งข้อสังเกตและกล่าวเตือนว่า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบนิเวศอาจกระจายออกไปอย่างไม่เท่าเทียม หากขาดการจัดสรรที่ดี โดยเฉพาะกับชุมชนพื้นเมืองและกลุ่มประมงท้องถิ่นที่ไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมือที่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ขณะที่กลุ่มประมงเชิงพาณิชย์อาจสามารถปรับตัวได้มากกว่า ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่ได้ประเมินในเรื่องวัฒนธรรมหรือประเพณีที่ยากจะตีค่าออกมาเป็นราคาได้

นักวิจัยหวังว่า การประเมินผลกระทบการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในวงกว้างนี้ จะช่วยบรรเทาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ และสร้างความเข้าใจและการยอมรับของสาธารณชนต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศเมื่อมีสัตว์ผู้ล่าเข้ามารักษาสมดุล

ในอดีต นากทะเลเคยอาศัยอยู่ร่วมกับชนพื้นเมืองในภูมิภาคมาเป็นเวลาหลายพันปี ก่อนพวกมันจะถูกล่าจนใกล้สูญพันธุ์จากการค้าในอุตสาหกรรมขนสัตว์ การฟื้นตัวของนากทะเลในขณะนี้จึงเป็นโอกาสดีในการสร้างการจัดการเสียใหม่ เพื่อให้คนอยู่ได้ และนากทะเลก็อยู่ได้ด้วยเช่นกัน

 

อ้างอิง
– Edward J. Gregr. Recovery of sea otter populations yields more benefits than costs. www.sciencedaily.com

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม