การสูญเสียพื้นที่ป่าในภูมิภาคแม่โขงกับกลไกธรรมาภิบาล

การสูญเสียพื้นที่ป่าในภูมิภาคแม่โขงกับกลไกธรรมาภิบาล

การสูญเสียพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ในภูมิภาคแม่โขงมีทั้งต้นเหตุและหนทางแก้ปัญหาที่ฝังรากในการจัดการป่าไม้ อ้างอิงจากการศึกษาชิ้นล่าสุดโดยศูนย์วิจัยเพื่อประชาชนและผืนป่า (Center for People and Forests: RECOFT) มหาวิทยาลัยแห่งบริติชโคลัมเบีย (University of British Columbia) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าสากล หรือ WWF

ผู้เขียนระบุว่า แม้กฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้ของประเทศในภูมิภาคแม่โขงนับว่าได้มาตรฐาน แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้เพื่อพลิกเทรนด์การตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า

กฎหมายและนโยบายของประเทศในลุ่มน้ำโขงคือสาเหตุให้ยังมีความหวัง เพราะตัวบทดังกล่าวสนับสนุนการปกป้องทรัพยากรป่าไม้ และการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่แต่ละหน่วยงาน ไม่ใช่เพียงหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น แต่รวมถึงทุกภาคส่วน ทำงานร่วมกันให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่ากฎหมายนั้นทำงานเพื่อคุ้มครองทรัพยากร พร้อมทั้งชุมชน และสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในป่าแห่งนั้นด้วย

พื้นที่ป่าในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงลดลงราวร้อยละ 5.1 ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ถึง 2558 แม้ว่าตัวเลขจะเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นในประเทศลาวและเวียดนาม แต่ประเทศอื่นๆ ก็ยังเผชิญกับปัญหาพื้นที่ป่าลดลงและความเสื่อมโทรมของป่าไม้จากการขยายตัวของพื้นที่เกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การทำเหมือง ไฟป่า และข้อพิพาทกับชุมชน

รายงานฉบับดังกล่าวนำเสนอทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ ในแง่การรับรู้ถึงกลไกธรรมาภิบาลในการจัดการป่าไม้ ประเทศ 5 ประเทศคือลาว กัมพูขา เวียดนาม พม่า และไทย ได้รับการประเมินบนฐานเงื่อนไข 3 ประการคือนโยบาย กฎหมาย และกรอบแนวคิดเชิงสถาบัน; การวางแผน และกระบวนการตัดสินใจ; การนำแผนไปปฏิบัติ การบังคับใช้และการทำตามกฎหมาย

ทั้ง 5 ประเทศได้คะแนนค่อนข้างดีในแง่นโยบาย กฎหมาย และกรอบแนวคิด แต่สองเงื่อนไขที่เหลือยังค่อนข้างน่ากังเวล เนื่องจากขาดความโปร่งใสในกระลวนการตัดสินใจ และการนำแผนไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่น

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประเมินดังกล่าวมีทั้งตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และชุมชนพื้นถิ่น ต่างแสดงความกังวลในประเด็นดังกล่าว โดยในประเทศพม่า ไทย และเวียดนาม มองว่ากลไกธรรมาภิบาลในการจัดการป่าไม้นั้น “อ่อนแอและเต็มไปด้วยปัญหา” ส่วนในกัมพูชาถูกประเมินว่าล้มเหลว ส่วนลาวนั้นได้รับการประเมินในระดับพอใช้และมีพื้นที่ให้ปรับปรุง

ถึงแม้การศึกษาชิ้นนี้จะเน้นที่มุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละประเทศ แต่มุมมองในระดับภูมิภาคนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการลักลอบตัดไม้และค้าไม้ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ขณะที่ประเทศไทยและเวียดนามถูกจับตามองว่าเป็นศูนย์กลางของการค้าไม้ผิดกฎหมาย โดยประเมินว่าไม้ที่ซื้อขายในเวียดนามราว 1 ใน 5 คือไม้ที่นำเข้ามาจากแหล่งที่ผิดกฎหมาย ประเทศลาว กัมพูชา และพม่า ก็คือต้นทางของการค้าเหล่านั้น ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งหลังจากเวียดนามได้ประชุมและตกลงกับสหภาพยุโรปว่าจะไม่ให้มีการส่งออกไม้ผิดกฎหมายจากเวียดนามไปยังสหภาพยุโรป

“ธรรมาภิบาลการจัดการป่าไม้ เป็นประเด็นที่ซับซ้อนและอ่อนไหวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางออกหนึ่งที่เรามองว่ามีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือการสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน เพื่อให้ชุมชนสามารถส่งเสียงของตัวเองได้” David Grittern เจ้าหน้าที่อาวุโสจาก RECOFTC และหัวหน้าทีมวิจัยให้สัมภาษณ์

“รายงานฉบับนี้ถือเป็นเสียงสะท้อนจากโครงการป่าไม้แม่โขง (Mekong Forest Project) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการป่าไม้ นอกจากนี้ เราก็ให้ความสำคัญในการสร้างความตระหนักต่อสาธารณชนเพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากไม้ที่อาจเป็นปลายทางของปัญหาการค้าไม้ผิดกฎหมาย”

รายงานดังกล่าวระบุทางแก้ไขไว้คือการพัฒนาระบบกำกับดูแลธรรมาภิบาลการจัดการป่าไม้ เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับธรรมาภิบาลป่าไม้ที่ค่อนข้างจำกัดของภาคประชาสังคม สื่อมวลชน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ ยังควรมีการฝึกอบรมสร้างเสริมศักยภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกด้วย

คณะวิจัยยังระบุว่า ผู้บริโภคเองก็สามารถมีส่วนในการปกป้องป่าในภูมิภาคแม่โขง ปัญหาที่หลายประเทศประสบคือผู้ลบริโภคไม่ตระหนักว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างไม่ยั่งยืน การเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะและการสร้างการตระหนักเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ที่ซื้อหามาใช้กับความยั่งยืนและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรตลอดห่วงโซ่อุปทานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

ถอดความและเรียบเรียงจาก Study examines forest loss in Mekong region
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง : NTNVNC VIA PIXABAY/VICTOR TANGERMANN