การระบาดของโคโรน่าไวรัส เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การระบาดของโคโรน่าไวรัส เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ถ้าอย่างนั้นการแก้ปัญหาโลกร้อนก็ควรจะมีความเท่าเทียมกันกับการแก้ปัญหาการระบาดของ COVID-19

ความเร็ว และขอบเขตของการระบาดของ COVID-19 สร้างความสยองให้กับรัฐบาลทั่วโลก และทำให้ตลาดหุ้นเกิดอาการชะงัก ตั้งแต่ไวรัสปรากฏตัวครั้งแรกในมณฑล Hubei ของจีน ทำให้เกิดผู้ติดเชื้อกว่า 700,000 คน และผู้เสียชีวิตกว่า 33,000 คนทั่วโลกภายในเวลา 6 เดือน

การแพร่ระบาดได้บังคับให้รัฐบาลต้องดำเนินการรักษาสมดุลระหว่างความปลอดภัยสาธารณะและความเป็นอยู่ที่ดี และการรักษาอัตรากำไรและเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ แต่สุดท้ายการเกิดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และการล่มสลายของการป้องกันทางสาธารณสุข ได้บังคับให้ประเทศต่าง ๆ สั่งกักบริเวณประชาชนของตัวเอง

มาตรการที่เคร่งครัดรัดกุมอย่างไม่เคยมีมาก่อนจากรัฐบาล และสถาบันระหว่างประเทศทั่วโลกที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ได้แต่ทำให้พวกเราสงสัยเกี่ยวกับปัญหาอื่นทั่วโลกที่ต้องการการดำเนินการเร่งด่วนเหมือนกัน เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ความเป็นจริงทั้งสองกรณีนี้ค่อนข้างคล้ายกัน โดยทั้งคู่ต่างก็ส่งผลกระทบถึงแก่ความตายของสายพันธุ์ต่าง ๆ และส่งผลอย่างมากต่อรูปแบบของเศรษฐกิจในปัจจุบันของโลก (เศรษฐกิจที่แสวงหาการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเหมือนกับว่าคุณภาพชีวิตในการอยู่รอดของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมัน) 

ในความเป็นจริงแล้วการระบาดของ COVID-19 เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังนั้นเราจึงไม่ควร “จำกัด” การแพร่กระจายของไวรัส ถ้ายึดจากการกระทำต่อสิ่งที่เราคิดว่าเป็น “ปกติ” ก่อนที่ COVID-19 ระบาด ถ้าเราสามารถที่จะเพิกเฉยต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ก็ไม่น่าจะยากอะไรถ้าเราจะเพิกเฉยต่อ COVID-19 ด้วย

องค์กร Greenpeace ได้นำป้ายขนาดใหญ่ไปวางใกล้ ๆ กับรถบรรทุกไม้ซุงเพื่อทำการประท้วง และต่อต้านการทำลายป่าที่ Bukit Tiga Puluh ในจังหวัด Jambi ของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ.2010 [File: Reuters/Beawiharta]

ต้นตอที่เหมือนกันของปัญหาโลกร้อน และ COVID-19

แม้จะมีการปฏิเสธต่อการมีตัวตนของปัญหาสภาพภูมิอากาศในแวดวงของผู้กำหนดนโยบายหลายแห่ง แต่ในตอนนี้มันเป็นที่ชัดเจนสำหรับคนส่วนใหญ่ทั่วโลกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยมีภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

เพื่อที่จะทำการผลิตอย่างต่อเนื่องและสามารถประกาศได้ว่าเศรษฐกิจของพวกเขากำลังเติบโต มนุษย์ได้ทำการเก็บเกี่ยวทรัพยากรธรรมชาติบนโลกใบนี้ (น้ำ เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม้ ที่ดิน แร่ ฯลฯ) และแล้วจับมันเสียบเข้ากับวงจรอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิด สินค้า และบริการต่าง ๆ เช่น รถยนต์ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ โทรศัพท์ อาหารแปรรูป และที่สำคัญของเสียมากมาย

กระบวนการนี้เป็นการลดความสามารถตามธรรมชาติของสภาพแวดล้อมที่จะรักษาสมดุลของตัวเอง เช่นการตัดไม้ทำลายป่านำไปสู่การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงโดยป่า ในขณะเดียวกัน CO2 จำนวนมากก็ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล สิ่งนี้คือสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกของเรา

กระบวนการเดียวกันนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาการระบาดของ COVID-19 และการระบาดอื่น ๆ เพราะ “กิเลส” ในทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้นทำให้มนุษย์ต้องรุกล้ำธรรมชาติ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการพบเจอกับเชื้อโรคใหม่ ๆ มากขึ้น

ในขณะเดียวกันการเติบโตของมนุษย์นี้ก็ได้เพิ่มความต้องการทางอาหารขึ้นอย่างมาก มนุษย์จึงได้สร้างฟาร์มขนาดใหญ่ ที่ซึ่งปศุสัตว์จำนวนมากถูกนำเข้าไปเพาะเลี้ยงอย่างแออัด นักชีววิทยา Rob Wallace ระบุในหนังสือของเขา “Big Farms Make Big Flu” ว่าสภาพแวดล้อมแบบนี้เป็นสภาพที่เหมาะสมมากสำหรับการกลายพันธุ์ และการเกิดขึ้นของเชื้อโรคใหม่ ๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบ E, Nipah virus, Q fever และอื่น ๆ 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (The US Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ประมาณการว่าโรคติดเชื้อใหม่ 75% มาจากการติดต่อของคนกับสัตว์ ยกตัวอย่างเช่นการระบาดของเชื้ออีโบลา และ Coronavirus เช่น MERS เริ่มต้นการระบาดโดยมีการแพร่ครั้งแรกจากสัตว์สู่มนุษย์ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ถูกมนุษย์รบกวน ในกรณีของ COVID-19 กำลังเป็นที่สงสัยว่าไวรัสถูกส่งไปยังมนุษย์ครั้งแรกที่ตลาดสดในเมืองหวู่ฮั่น ประเทศจีน ที่ซึ่งมีสัตว์ป่าถูกขายอยู่ด้วย

ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์ป่าจำนวนมากทั้งตัวนิ่ม ชะมด สุนัขจิ้งจอก ห่านป่า และหมูป่า มีมูลค่าทางอุตสาหกรรมมากกว่า 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐในประเทศจีน และได้รับมุมมองจากประชาชนคนจีนในชนบทว่าเป็นธุรกิจที่จะทำให้รวยอย่างรวดเร็ว

ต้นกำเนิดของไวรัสทำให้มันเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของวิธีที่ทุนนิยมเปลี่ยนชีวิตให้กลายเป็นผลกำไรสามารถทำลายชีวิตมนุษย์ได้โดยตรง ในแง่นี้การระบาดใหญ่อย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจากรูปแบบการผลิตและการบริโภคแบบทุนนิยมที่ไม่ถูกจำกัด และเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย

การระบาดของ COVID-19 เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ที่แสดงให้เห็นวิธีที่ทุนนิยมเปลี่ยนสินค้า (ทรัพยากรธรรมชาติ) ให้กลายเป็นผลกำไรว่ากระบวนการนี้ส่งผลเสียโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์ กระบวนการผลิตและการบริโภคแบบทุนนิยมที่ไม่มีการจำกัดและควบคุม เป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่อันตรายต่อชีวิตมนุษย์

ความล้มเหลวที่จะควบคุมการระบาดของ COVID-19 ก็เป็นเพราะแรงผลักดันทุนนิยมของเศรษฐกิจโลก ในสหรัฐอเมริกามีบางคนอ้างว่าการสูญเสียกำไรของประเทศนั้นไม่คุ้มค่ากับการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และธุรกิจนานกว่า 15 วัน

กลุ่ม World Bank ได้กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าการกู้คืนสถานการณ์เศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 ต้องการการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การให้สินเชื่อ การปรับลดกฎระเบียบที่มากเกินไป เงินอุดหนุน และการปรับระบบการออกใบอนุญาตที่เคร่งน้อยลง เป็นการเพิ่มทางเลือกและโอกาสในการฟื้นฟูที่เร็วขึ้น

นโยบายใหม่ที่จะคลายการควบคุมทางธุรกิจเสรีส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างไม่จำกัด จะทำให้เกิดความหายนะในโลกหลังจบสถานการณ์ COVID-19 การระงับกฎหมายและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกาเป็นสัญญาณที่น่าตกใจกับการอ้างว่าจะกลับไปสู่สถานการณ์ “ปกติ” นั้นอาจจะหมายถึงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติครั้งยิ่งใหญ่

แต่อย่าลืมว่าโลกกำลังร้อนขึ้นอยู่นะ

แม้ว่าทั้ง COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นล้วนแต่เป็นปัญหาที่เกิดมาจากพฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสม และปัญหาทั้งคู่ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อมนุษย์ แต่รัฐบาลทั่วโลกยังเห็นปัญหาทั้งสองนั้นเป็นปรากฏการณ์ไม่เกี่ยวเนื่องกัน จึงเป็นสาเหตุของการตอบสนองที่แตกต่างกันอย่างมากต่อปัญหาทั้งสอง

ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ถึงแม้ว่าจะมีความล่าช้าแตกต่างกันไป แต่ก็มีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการเคลื่อนไหว และการรวมกลุ่มของผู้คนเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส ถึงแม้จะต้องแลกด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

สิ่งเดียวกันไม่ได้เกิดขึ้นกับแผนการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาตรการการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันได้รับการเอาใจใส่ และมีความก้าวหน้าของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังประสบอยู่น้อยมาก การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นไม่เป็นไปตามแผนที่แต่ละประเทศได้ตกลงกันไว้ในอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเราคงจะไม่ได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ในเร็ว ๆ นี้

ในด้านต่าง ๆ ของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีความคืบหน้าด้วยอัตราเร็ว และเกิดขึ้นในสถานที่ที่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าสำหรับพวกเราบางคนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจไม่ชัดเจนหรือสามารถสัมผัสได้ แต่มันกำลังเกิดขึ้นจริง ๆ นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์บางอย่างซึ่งหากมนุษย์ก้าวข้ามไปจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ เช่น การเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ การสูญเสียประชากรของแมลง และการละลายของ Permafrost (ชั้นดินเยือกแข็ง)

ในขณะที่เราไม่ได้รับการอัพเดทรายวันเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตที่เกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกับ COVID-19 แต่บอกเลยว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันตรายกว่าไวรัสมาก

ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกนั้นร้อนขึ้น 3-4 องศาเซลเซียส กว่าอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจะทำให้เกิดภัยพิบัติต่อโลกใบนี้ได้ มันจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสามารถในการผลิตอาหารของเราโดยการลดความอุดมสมบูรณ์ในดิน การทำให้เกิดความแห้งแล้ง และการที่มีผู้ผสมเกสรดอกไม้ที่ลดลงจากการสูญเสียประชากรของแมลง และอาจเกิดภัยพิบัติอื่น ๆ เช่น ปรากฏการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงอย่างพายุเฮอริเคน ทำให้เกิดน้ำท่วมในเมืองชายฝั่งที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลน้อย ๆ และทำให้เกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรงทั่วโลก ซึ่งการที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นก็จะทำให้เกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้น

การปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ เช่น การปลูกป่าการชดเชยการปล่อยคาร์บอน การเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (ธุรกิจมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) การบริโภคอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ และยุทธวิธีที่คล้ายคลึงกันอื่น ๆ อาจจะไม่สมารถหยุดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเรายังไม่จัดการสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อน ซึ่งก็คือกระบวนการผลิต และการบริโภคในภาคอุตสาหกรรม วิถีชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันนั้นมีการใช้พลังงานที่สูงมาก ซึ่งถ้าพวกเราไม่แก้ในจุดนั้นเราก็ไม่มีทางที่จะลดปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

การตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อ COVID-19 ของมนุษย์ทุกคนทั่วโลกแสดงให้เห็นถึงความสามารถอันน่าทึ่งของสังคมเราในการที่จะ “หยุด” การดำเนินการธุรกิจตามปกติลงอย่างทันทีทันใด มันแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนนั้นมีความสามารถที่จะ “หยุด” ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เพียงแค่ทุก ๆ คนให้ความร่วมมือ และพร้อมใจกันทำ

มาตรการปิดเมือง และให้ผู้คนพยายามอยู่แต่ในบ้านของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกได้ส่งผลให้เห็นแล้วถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลพิษที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่นในประเทศจีนปริมาณการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศของคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงอย่างน้อย 25% และไนโตรเจนไดออกไซด์ 37%

ลงมือทำ

การลดลงชั่วคราวของก๊าซเรือนกระจกในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าดีใจนัก เพราะการลดลงในครั้งนี้เป็นผลมาจากมาตรการปิดเมือง และมาตรการอยู่แต่ในบ้าน ซึ่งทำให้ในตอนนี้มีผู้ตกงานนับล้านคน และกว่าพันล้านคนกำลังต่อสู้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่มีสาเหตุมาจากจากการระบาดของ COVID-19

ในขณะที่หลายคนกำลังเรียกร้องให้มีกำหนดมาตรการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหมือนกับที่เกิดขึ้นในการตอบสนองต่อการระบาดของ COVID-19 แต่ก็ไม่ควรลืมอย่างนึงว่ามาตรการที่จะมาแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องมีความเป็นธรรมต่อทุก ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะคนจนและคนที่อ่อนแอในสังคม ซึ่งมีความเปราะบาง และความเชื่อมโยงอย่างมากต่อการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ สิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะหยุดภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เรากำลังจะเผชิญ แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดการระบาดใหญ่ของโรคต่าง ๆ เช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

การจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยุติธรรม ควรมีการปฏิรูปกระบวนการทางเศรษฐกิจเพื่อกระทำการ “ย้อนกลับการพัฒนา” ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการที่คนจะมีสุขภาพดีมากกว่าการทำยอดกำไรของบริษัทต่าง ๆ ขั้นตอนแรกในการสร้างความมั่นใจว่าการย้อนกลับการพัฒนานี้จะได้รับการดำเนินการอย่างจริงจัง คือการตรวจสอบว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกนั้นได้ประกาศออกไปนั้นได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการกระบวนการที่มีส่วนแก้ไขกับปัญหาโลกร้อนอย่างแท้จริง

เราต้องทำทุกอย่างเพื่อป้องกันสถานการณ์ที่ธุรกิจขนาดใหญ่ หรือผู้มีอำนาจของรัฐที่ไร้จริยธรรมได้ใช้โอกาสนี้สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ หรือสังคม ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องถูกกักกันตัวอยู่ที่บ้าน

รัฐบาลทั่วโลกควรมีการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การสนับสนุนการผลิตพลังงานสะอาด และการพัฒนาระบบการผลิตต่าง ๆ ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาของธุรกิจ และอาชีพต่าง ๆ ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจหลังการระบาดของ COVID-19 ในขณะเดียวกันรัฐบาลควรสนับสนุนสิ่งจำเป็นเพื่อพัฒนาพื้นฐานความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย เช่น การศึกษาฟรี การรักษาพยาบาลฟรี และการครอบครองที่อยู่อาศัยในราคาไม่แพง

การตอบสนองของพวกเราในปัจจุบันต่อปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทำให้เห็นว่าพวกเราทุกคนมีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อแก้ปัญหาได้ มันช่วยพวกเราในการเตรียมความพร้อมให้เราคุ้นเคยกับวิถีชีวิตหลาย ๆ อย่างที่จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการการลดปัญหาโลกร้อนได้ เช่น การลดการบริโภคที่ไม่จำเป็น การลดการเดินทาง การลดการเกิดขยะ การทำงานที่บ้านมากขึ้น และการพึ่งพาการบริโภคของในท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีมากของกิจกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบค่อนข้างเท่าเทียมต่อคนในทุก ๆ ระดับของสังคม และเป็นการกระทำที่ไม่ว่าจะเป็นใคร ทำงานอะไร อยู่ที่ไหน ก็สามารถเข้าถึงได้

COVID-19 นั้นอาจจะไม่ใช่การยกตัวอย่างที่เหมาะสมที่สุด แต่การตอบสนองต่อการระบาดของไวรัสที่รวดเร็ว และจริงจัง เป็นตัวอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจของการให้ความช่วยเหลือ และความร่วมมือซึ่งกัน แถมยังพิสูจน์ให้เห็นว่ามนุษย์ส่วนใหญ่นั้น มีความสามารถในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกได้ 

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก The coronavirus outbreak is part of the climate change crisis
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร