ชะตากรรมกอริลลาภูเขาในแอฟริกา ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

ชะตากรรมกอริลลาภูเขาในแอฟริกา ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

นักอนุรักษ์เตือนโคโรน่าไวรัสมีความเสี่ยงระบาดสู่กอริลลาภูเขาในแอฟริกา และรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลงอาจทำให้เกิดการล่าสัตว์เพิ่มมากขึ้น

.
อุทยานแห่งชาติวิรุงกาในสาธารณะรัฐประชาธิปไตยคองโก ถือเป็นถิ่นอยู่อาศัยสำคัญของลิงกอริลลาประมาณหนึ่งในสามของโลก ได้ประกาศหยุดกิจกรรมเที่ยวชมกอริลลาภูเขายาวถึงวันที่ 1 มิถุนายน โดยอ้างตามคำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์ที่ออกมาระบุว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งรวมถึงลิงกอริลลามีโอกาสติดไข้หวัดโควิด-19 ได้ไม่ต่างคน

กอริลลาภูเขาเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มเจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจเช่นเดียวกับที่เป็นมนุษย์เป็น และโรคไข้หวัดสามารถฆ่าลิงกอริลลาได้ (อ้างอิงตามรายงาน World Wide Fund for Nature) ซึ่งจุดนี้ถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าใกล้ลิงกอริลลาระหว่างเข้าชมมากเกินไป

ปัจจุบันมีกอริลลาภูเขาอยู่ราว 1,000 ตัว อาศัยอยู่ในพื้นที่คุ้มครองของประเทศคองโก ยูกันดา และรวันดา ซึ่งภาคการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้สำคัญ ทว่าการระบาดของโควิด-19 ได้นำไปสู่การออกมาตรการป้องกันที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

การตัดสินใจปิดการท่องเที่ยวชั่วคราวของอุทยานแห่งชาติวิรุงกา ได้รับเสียงสนับสนุนที่ดีจากนักอนุรักษ์ในภูมิภาค

Paula Kahumbu หัวหน้าผู้บริหารของกลุ่มอนุรักษ์ Wildlife Direct จากประเทศเคนยา กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า “จำเป็นต้องทำทุกวิถีทางที่เป็นไปได้” เพื่อปกป้องกอริลลาภูเขาที่เหลืออยู่น้อยมากในธรรมชาติ

“เรารู้ว่ากอริลลานั้นไวต่อโรคของมนุษย์มาก” นักอนุรักษ์กล่าว “ถ้าใครมีอาการป่วยหรือเป็นไข้หวัดพวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าชมกอริลลา และด้วยโคโรน่าไวรัสที่อาจไม่แสดงอาการในบางกรณี ก็หมายความว่ายิ่งทำให้กอริลลามีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม นักอนุรักษ์ตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการที่มีอยู่อาจยังไม่ดีพอสำหรับการปกป้องสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์นี้

Gladys Kalema-Zikusoka สัตวแพทย์ชาวยูกันดาและผู้ก่อตั้ง Conservation Through Public Health ได้ทำงานวิจัยเรื่องการท่องเที่ยวชมกอริลลาภูเขาร่วมกับมหาวิทยาลัยโอไฮโอ ให้ความเห็นว่า “มาตรการในการปกป้องกอริลลาจากมนุษย์นั้นไม่มีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ”

เกือบทุกครั้งนักท่องเที่ยวมักละเมิด “กฎการรักษาระยะห่าง”

“สิ่งที่พบในงานวิจัยคือ กฎการรักษาระยะห่าง 7 เมตรนั้นแทบไม่ได้รับความร่วมมือเกือบตลอดเวลา หรือราว 98% ของเวลาทั้งหมดในการเข้าชม” เธอกล่าว “แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ 60% มาจากนักท่องเที่ยวที่ไม่สนใจกฎ และ 40% เป็นการละเมิดกฎที่เกิดจากลิงกอริลลาเอง”

สัตวแพทย์ชาวยูกันดา เสนอว่า หากไม่สามารถป้องกันปฏิสัมพันธ์ด้วยการรักษาระยะห่าง มาตรการอย่างหนึ่งที่ช่วยปรับปรุงความปลอดภัยได้ คือ ให้นักท่องเที่ยวสวมหน้ากากตลอดเวลาเข้าชม

ในประเทศยูกันดา ณ ขณะนี้ ยังไม่มีการประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวอย่างคองโก แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรปและที่อื่นๆ จะลดน้อยลงก็ตาม

Bashir Hangi โฆษกองค์การสัตว์ป่าในยูกันดากล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องจะหยุดการท่องเที่ยวหรือไม่ในตอนนี้เป็นเรื่องทางวิชาการ เนื่องจากแทบจะไม่มีกิจกรรมท่องเที่ยวเกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดของไวรัสอยู่แล้ว

ถึงกระนั้น โฆษกองค์การสัตว์ป่า ก็กล่าวว่า นักท่องเที่ยวที่มาต้องได้รับการตรวจคัดกรองอาการไข้หวัดและอาการอื่นๆ และต้องปฏิบัติตามกฎ เช่น ไม่เข้าใกล้กอริลลาในระยะเกิน 7 เมตร ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสและผ่านการกักกันของยูกันดาแล้ว ต้องมีเอกสารรับรองการแยกตัวมาแสดงก่อนจึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าชมกอริลลา

Amos Wekesa จาก Great Lakes Safaris กลุ่มจัดทัวร์ชมกอริลลาในรวันดาและยูกันดา กล่าวว่า ตอนนี้ธุรกิจการท่องเที่ยวกำลังซบเซา นักท่องเที่ยวขอเลื่อนทัวร์หรือไม่ก็ขอเรียกคืนเงินค่าใช้จ่ายล่วงหน้ากันทั้งนั้น

ประชากรกอริลลาภูเขาของภูมิภาคแอฟริกาลดลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากการล่า โรคภัยไข้เจ็บ และการบุกรุกที่อยู่อาศัยโดยมนุษย์ กอริลลาภูเขาถูกระบุว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งหรือใกล้สูญพันธุ์ตั้งแต่ปี 1996 ถึงแม้จำนวนประชากรในปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากความพยายามในการอนุรักษ์ แต่ก็ยังเกิดการสูญเสียดำเนินควบคู่กันมาตลอด

กอริลลาบางตัวเสียชีวิตเนื่องจากสาเหตุทางธรรมชาติ เช่น ตกลงมาจากต้นไม้ หรือถูกฆ่าตายในการต่อสู้ระหว่างตัวผู้เพื่อแย่งดินแดนและขึ้นเป็นจ่าฝูง ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีกอริลลาภูเขา 4 ตัว ตายเพราะถูกฟ้าผ่า

ในรวันดา การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจอันดับต้นๆ ในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองกอริลลาในทุกมิติ ไม่เว้นแม้แต่การจัดกิจกรรมตั้งชื่อให้ลูกกอริลลาเกิดใหม่

ทั้งนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นกุญแจสำคัญในการอนุรักษ์กอริลลาภูเขา เนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถนำรายได้บางส่วนไปช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น หรือจัดทำโครงการเพื่อยุติการล่า ใบอนุญาตในการทำทัวร์ลิงกอริลลามีค่าใช้จ่ายสูงถึง 600 ดอลลาร์สหรัฐในยูกันดา ส่วนในรวันดามีมูลค่าถึง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ

อุทยานแห่งชาติวิรุงกา ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองขึ้นในปี ค.ศ. 1925 นับเป็นอุทยานแห่งชาติที่แรกของทวีปแอฟริกา และปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก

บางคนกังวลว่าการสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัส อาจนำไปสู่การล่าสัตว์อีกครั้ง ซึ่งความเสี่ยงนี้มีมานานจากความไม่สงบในพื้นที่คองโกตะวันออก

นักอนุรักษ์ได้เรียกร้องถึงรัฐบาลตลอดจนถึงผู้บริจาคให้ช่วยสนับสนุนอุทยานแห่งชาติในแอฟริกา เพื่อช่วยให้อุทยานแห่งชาติสามารถดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ได้อย่างต่อเนื่องในขณะที่กำลังปิดตัว

พรานล่าสัตว์จะสร้างความเสียหายให้กับลิงกอริลลาได้มากยิ่งขึ้น หากพวกเขารู้ว่ามาตราการในการป้องกันกำลังลดลงPaula Kahumbu หัวหน้าผู้บริหารของกลุ่มอนุรักษ์ Wildlife Direct กล่าวเป็นข้อสังเกตทิ้งท้าย

 


เรื่อง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
เรียบเรียงจาก Africa’s mountain gorillas also at risk from coronavirus โดย Rodney Muhumuza
ภาพประกอบ Mountain gorillas in the Virunga National Park in eastern Congo (AP Photo/Jerome Delay-File)