ความไม่สมเหตุสมผลของงบสิ่งแวดล้อมที่ลดลง ในร่างงบประมาณปี 2565

ความไม่สมเหตุสมผลของงบสิ่งแวดล้อมที่ลดลง ในร่างงบประมาณปี 2565

กลายเป็นกระแสร้อนในสังคม ที่ต่างพูดถึงเมื่อมีการเปิด “ร่างงบประมาณประจำปี 2565” ในวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท โดยต่างจับตากันที่การเพิ่ม – ลด งบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมีหลายฝ่ายมองตรงกันว่างบประมาณรายส่วนที่ลดลง ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของประเทศไทยทุกวันนี้
.

โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณด้านสาธารณสุขที่พูดถึงกันในวงกว้าง โดยลดลงจากปี 2564 ที่ได้งบประมาณ 158,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2565 กลับได้งบประมาณเพียง 153,000 ล้านบาท ทั้งที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่มีความแน่นอน

และแน่นอนว่างบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกส่วนที่ถูกหั่นลดไปถึง 47.14 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อน ซึ่งดูสวนกระแสกับการที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เคยให้สัญญาใจกับประชาชนว่าจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องมลพิษ PM 2.5 เพื่อเร่งกำหนดแนวทาง และแผนปฏิบัติให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’

แต่หากมองดูงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมใน ร่างงบประมาณประจำปี 2565 จะพบว่า งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมปี 2565 ถูกหั่นลดลงจาก 16,143 ล้านบาทในปี 2564 เหลือ 8,534 ล้านบาทในปี 2565 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.275 ของงบประมาณรายจ่ายรวม เมื่อเทียบกับงบด้านอื่น นับได้ว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปี

โดยเฉพาะหากผู้อ่านได้เห็นงบประมาณการป้องกันประเทศและรักษาความสงบภายในถูกปรับลดเพียง 6.02 เปอร์เซ็นต์ และงบการบริหารทั่วไปของรัฐถูกปรับลดเพียง 0.48 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอัตราการดังกล่าวดูไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ ในยุคที่ไวรัสกำลังระบาดหนักเป็นระลอกที่ 3
.

ความสัมพันธุ์ระหว่างโควิด-19 กับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม

นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยประสบกับภาวะการระบาดโควิด -19 สิ่งที่เกิดเป็นเงาตามมาในมิติปัญหาสิ่งแวดล้อม คือปริมาณขยะที่เพิ่มพูนขึ้นจากปัจจัยจำเป็นหลายด้าน 

กรณีที่หนึ่ง เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดรอบใหม่ (ระลอกที่ 3) หลายหน่วยงานโดยเฉพาะองค์กรเอกชน ได้มีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work From Home) ส่งผลให้การเติบโตของบริการจัดส่งอาหาร (Food Delivery) เพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดรุนแรงในเดือนเมษายน 2564 กรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนขยะพลาสติกร้อยละ 28.32 หรือคิดเป็นปริมาณ 2,515.37 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค.64 ที่มีสัดส่วนขยะพลาสติกร้อยละ 20.71 หรือคิดเป็นปริมาณ 1,867 ตันต่อวัน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.61

กรณีที่สอง ปัจจัยป้องกันด้านสุขภาพ ที่ส่งผลให้ประชาชนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันไวรัส รวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่หมอและพยาบาลจำเป็นต้องใช้ โดยช่วงระบาดระลอกที่สามในระยะแรก สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานครเปิดเผยรายงานปริมาณขยะมูลฝอยติดเชื้อที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 15 ตันต่อวัน หากเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้จะพบว่า จำนวนขยะมูลฝอยติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 ตันต่อวัน โดยส่วนใหญ่เป็นหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ถุงมือ กระดาษชำระ กล่อง บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ขวด แม้กระทั่งชุด PPE อุปกรณ์ทางการแพทย์ 

ดังนั้น การที่รัฐบาลจะลดงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมถึง 47.14 เปอร์เซ็นต์ ย่อมทำให้การจัดการปัญหาขยะในช่วงไวรัสระบาดเมืองด้อยประสิทธิภาพ
.

ร่างงบประมาณปี 2565 ที่สวนทางกับปัญหา

จากร่างงบประมาณประจำปี 2565 ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมถูดปรับลดลง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าภาครัฐไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามลภาวะ

เดชรัตน์ สุขกำเนิด กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มองว่าหากพิจารณาจากงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในส่วนของงบประมาณการหยุดการเผา ซึ่งจะเห็นว่างบประมาณที่เกี่ยวข้องส่วนนี้ จะมีอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ ประมาณ 40 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพย์ยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีก 7 ล้านบาท กรมควบคุมมลพิษอีกประมาณ 6 ล้านบาท และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมอีกประมาณ 10 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จประมาณ 65 ล้านบาท 

เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงการลงทุนของรัฐกับการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศน้อยมากในปีงบประมาณต่อไป หากเฉลี่ยต่อหัวของประชากรก็ตกแค่ ‘หัวละหนึ่งบาท’

“มันไม่ใช่ในแง่ของความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจ หรือความสำคัญที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติอย่างเดียว แต่มันอาจเป็นการตัดไปตามอำนาจต่อรอง หรือความจำเป็นที่ทางราชการ (คนตั้งงบประมาณ) ที่เขาจะให้ความสำคัญเรื่องไหนก่อนหลัง เหมือนเขามองแค่เรื่องอำนาจต่อรองโดยไม่ได้ดูโจทย์เลย เพราะถ้าเขาดูจากโจทย์ จะพบว่างบประมาณหลาย ๆ ส่วนไม่ควรปรับลด ตรงข้ามกับงบประมาณของกระทรวงกระทรวงกลาโหมที่ถูกตัดไปเพียงเล็กน้อย ในขณะที่งบบุคลากรทางสาธารณสุข การศึกษา และสิ่งแวดล้อมกลับถูกลดลงมาก มันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เอาโจทย์ หรือปัญหาที่ควรแก้ไขมาเป็นตัวตั้ง 

การปรับลดงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม อาจจะกลายภาพสะท้อนที่ทำให้ประชาชนเห็นตรงกันว่า การประกาศให้เรื่องการแก้ไขปัญหามลภาวะให้เป็นวาระแห่งชาติ ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย ไม่ได้มองว่าประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาเรื่องอะไร จึงจะสามารถตอบสนองพื้นฐานของปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่

“ฉะนั้นถือเป็นความจำเป็นมากที่รัฐต้องไปทำงบประมาณมาใหม่ เพราะปีก่อน ๆ เรายังไม่เห็นภาพความเดือดร้อน และวิกฤตมันอาจไม่ชัดเจนแบบปีนี้ ซึ่งในแง่งบประมาณ ปีนี้ถือเป็นปีแรกในรอบ 10 ปี ที่งบประมาณลดลง” เดชรัตน์ สุขกำเนิด กล่าว
.

มุมมองโบราณที่เห็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นรายจ่าย

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ขยายความต่อว่า ภาครัฐยังมองว่างานบางภาคส่วนเป็นเรื่องทางรายจ่าย อย่างเช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงมีความพยายามตัดลดงบประมาณที่ไม่มีอำนาจต่อรองลง แต่ประเทศอื่นมองว่ามันเป็นภาคที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ  ไม่ว่าจะเป็นรายได้การท่องเที่ยวหรือต้นทุนด้านสุขภาพของประชาชน 

อาทิ การปลูกต้นไม้ในเมืองเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอสังหาริมทรัพย์ในเมือง ส่งผลให้เกิดนิเวศบริการที่ดีต่อมนุษย์ในด้านสุขภาพ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เป็นการลงทุน

แม้ปัจจุบันจะเป็นช่วงวิกฤต แต่เงินฝากในธนาคารก็เริ่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในบัญชีที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านบาท อธิบายได้ว่าโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคนรวยมาก ทำให้เป็นปัญหาเรื่องเงินฝากที่ไม่ได้ถูกหมุนเวียนไปใช้ในการลงทุน ฉะนั้น รัฐบาลสามารถนำเงินส่วนนี้มาลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ‘การตั้งกองทุนโซล่าเซลล์’ ให้ประชาชนไปติดตั้งและผ่อนชำระคืน ถือเป็นการลดรายจ่ายของพี่น้องประชาชนส่วนหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเงินก้อนก็จะคืนเจ้าของได้ ต่อจากนั้นก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กลับพี่น้องประชาชนที่ติดตั้งโซล่าเซลล์ หรือการจัดตั้ง ‘ธนาคารต้นไม้’ โดยในด้านหนึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายจริง ๆ ของการปลูกต้นไม้อยู่ที่ค่าแรงงาน ซึ่งจะทำให้ในเมืองมีต้นไม้เพิ่มขึ้น เมื่อต้นไม้ค่อย ๆ โต นำไปใช้ก็จะมีเงินทยอยกลับคืนสู่ผู้ลงทุน  

เมื่อส่องร่างงบประมาณปี 2565 ทำให้ผู้เขียนคิดว่า ร่างงบประมาณฉบับนี้ ‘ไม่สมควรผ่านความเห็นชอบ’ จาก ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ซึ่งเราควรจะส่งสัญญาณให้รัฐบาลทำงบประมาณฉบับใหม่ขึ้นมา อย่างน้อยงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมก็ควรได้เท่าเดิม หรือถ้าจำเป็นต้องลด ก็ไม่ควรลดเกิน 5.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราการลดลงโดยทั่วไปของงบประมาณฉบับนี้ 

ในฐานะผู้เสียภาษี และคนที่จะต้องอยู่กับสภาพแวดล้อม นี่เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องติดตาม ไม่ควรปล่อยเลยผ่านไป เพราะมันสัมพันธ์กับความเป็นอยู่ของเราในอนาคต 

ซึ่งขณะนี้กำลังมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในช่วงวันที่ 31 พฤษภาคม ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2564

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ