ร่วมเป็นสายตรวจโซเชี่ยลปกป้องสัตว์ป่าของแผ่นดิน

ร่วมเป็นสายตรวจโซเชี่ยลปกป้องสัตว์ป่าของแผ่นดิน

เนื่องในวันที่ 3 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับกลุ่มองค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า เผยแพร่สื่อรณรงค์บนโซเชี่ยลมีเดียอย่างเฟสบุ๊คภายใต้แนวคิด “ร่วมปกป้องสัตว์ป่าของแผ่นดิน” พร้อมเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกันทำหน้าที่สายตรวจโซเชียล เป็นหูเป็นตา และแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบเห็นการล่า ค้า และครอบครองสัตว์ป่าผิดกฎหมายผ่านสายด่วนกรมอุทยานฯ 1362

การณรณรงค์ผ่านโซเชี่ยลมีเดียในครั้งนี้ริเริ่มจากกรณีที่นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย และพวกตกเป็นผู้ต้องหาลักลอบล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่พอใจ และหันมาสนใจในประเด็นการปกป้องสัตว์ป่าที่เป็นมรดกทางธรรมชาติของประเทศ มากยิ่งขึ้น โดยการรณรงค์ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากองค์กรไม่แสวงผลกำไรประกอบไปด้วย สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย, มูลนิธิฟรีแลนด์ (Freeland), มูลนิธิโลกสีเขียว (Green World Foundation), องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN), มูลนิธิรักสัตว์ป่า (Love Wildlife Foundation), กลุ่มเนเจอร์ เพลิน (Nature Play and Learn), มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (Seub Nakhasathien Foundation), เครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า ทราฟฟิค (TRAFFIC), องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)

เพจกลุ่มบนเฟสบุ๊คทั้งที่เป็นแบบเปิดสาธารณะ และแบบกลุ่มปิด คือช่องทางบนโลกออนไลน์ที่สามารถพบเห็นการลักลอบล่า ค้า และครอบครองสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างเปิดเผย โดยคนไทยบางส่วนอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าสัตว์ที่ตัวเองได้มา หรือซื้อหามานั้นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งการครอบครองถือว่าผิดกฎหมาย

ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการพิเศษเพื่อปราบปรามการกระทำผิดด้านสัตว์ป่าของกรมอุทยานฯ ที่มีชื่อว่า ทีมเหยี่ยวดง ได้จับกุมการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่า จำนวน 40 คดี ผู้ต้องหาจำนวน 41 คน ยึดสัตว์ป่าจำนวน 1,161 ตัว ซากของสัตว์ป่า จำนวน 255 ซาก และผลิตภัณฑ์จำนวน 360 ชิ้น

สื่อรณรงค์ที่ได้เผยแพร่บนโซเชียลมีเดียตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคมเป็นต้นไป ประกอบไปด้วยข้อมูลที่น่าสนใจของสัตว์ 6 ชนิดที่มักตกเป็นเหยื่อของการค้าและครอบครองโดยผิดกฎหมายมากที่สุดโดย เป้าหมายของการรณรงค์ก็เพื่อให้ความรู้

ด้านกฎหมายกับประชาชนที่ใช้โซเชียลมีเดีย ว่าสัตว์บางประเภทที่คนนิยมหาซื้อมาเลี้ยง หรือหาผลประโยชน์นั้น คือสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่ไม่สามารถนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงหรือขายได้

และเชิญชวนให้ช่วยกันสืบและจับภาพหน้าจอที่แสดงถึงการกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงรายละเอียดผู้ค้า และแจ้งมาที่สายด่วน 1362 หรือที่

 

ทั้งนี้การเป็นสายสืบโซเชียลอย่างปลอดภัยนั้น มีข้อควรระวังดังนี้

  • อย่าถาม ทัก แชท คอมเม้นท์ หรือขอเป็นเพื่อนกับผู้กระทำผิด
  • อย่าทำให้ผู้ลักลอบค้า ผู้ซื้อ หรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าสงสัยพฤติกรรมของคุณ
  • อย่าล่อซื้อเพื่อเก็บหลักฐาน เพราะถือเป็นการสนับสนุนการค้าและคุณอาจถูกดำเนินคดี
  • อย่ากระทำการใดๆ ที่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยง

 

ในการนี้ กรมอุทยานฯ  และกลุ่มเอ็นจีโอขอความอนุเคราะห์สื่อมวลชนทุกท่านร่วมกันเผยแพร่เรื่องราวนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยเพื่อช่วยกันรักษาชีวิตสัตว์ป่าของแผ่นดินไม่ให้สูญพันธุ์ และเชิญชวนกันเป็น สายตรวจโซเชียลช่วยกันรายงานการล่า การค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือการตัดไม้ทำลายป่า