ผู้ร้ายก็ไม่ใช่ พระเอกก็ไม่เชิง : บทบาทของพลาสติกในยุคไวรัสระบาดเมืองกับสถานะที่ไม่ชัดเจน

ผู้ร้ายก็ไม่ใช่ พระเอกก็ไม่เชิง : บทบาทของพลาสติกในยุคไวรัสระบาดเมืองกับสถานะที่ไม่ชัดเจน

การเฟื่องฟูของวงการอนุรักษ์ที่กระจายตัวไปทั่วโลก ส่งผลให้แนวคิดการดูแลสิ่งแวดล้อมถูกส่งผ่านไปยังผู้คนมากมาย แคมเปญต่าง ๆ ถูกหยิบยกขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะและรับมือกับปัญหาที่เกิดจากการทำลายธรรมชาติของมนุษย์

‘พลาสติก’ กลายเป็นตัวละครสำคัญที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในแวดวงคนอนุรักษ์ พลาสติกอาจเปรียบเสมือน ‘ผู้ร้าย’ ที่คอยสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่ขณะเดียวกันหลายคนอาจมองว่า พลาสติกเหล่านี้เปรียบเสมือน ‘ผู้วิเศษ’ ที่เทคโนโลยีได้สรรสร้างขึ้นมา เพื่อให้มนุษย์ได้ใช้สอยในชีวิตประจำวัน 

ในบทความนี้ผู้เขียนไม่ขอตีความว่าพลาสติกดีหรือไม่ดี แต่จะขอหยิบยกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมหาบทสรุปวาทกรรมทางสิ่งแวดล้อมผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ที่พลาสติกมีส่วนร่วม ทำให้เห็นว่าพลาสติกอาจไม่ใช่ผู้ร้ายและไม่ใช่ผู้วิเศษ

พลาสติกขยะตัวร้ายกับแนวทางการแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อม

หากกล่าวเรื่องราวในอดีต พลาสติกถูกผลิตขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1868 โดย จอห์น เวสลีย์ ไฮแอท (John Wesley Hyatt) นักวิทยาศาสตร์ ชาวอเมริกัน ซึ่งต่อมาพลาสติกได้กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในชื่อเซลลูลอยด์ (Celluloid) เมื่อกาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เซลลูลอยด์ จึงถูกพัฒนาตามกระบวนอันทันสมัย กลายเป็นพลาสติกชนิดต่าง ๆ ที่เราพบเห็นได้ในทุกวันนี้และเป็นปัญหา เมื่อสิ่งอำนวยความสะดวกชนิดนี้กลายเป็น ‘ขยะ’ ที่สร้างปัจจัยส่งผลให้สภาพทางสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป

รายงานจากกรีนพีซระบุว่า ทั่วโลกผลิตขยะพลาสติกประมาณ 6,300 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว ถูกนำไปรีไซเคิลราว 9% เข้าโรงงานเผาขยะ 12% และหลงเหลือปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมถึง 79% ได้มีการคาดการณ์ต่อไปว่า หากปัจจัยการผลิตและการจัดการยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในปี 2593 ขยะพลาสติกประมาณ 12,000 ล้านตันจะยังคงหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม

Photo : www.tes.com

สำหรับประเทศไทยนั้น มีปริมาณขยะพลาสติกและโฟมมากถึง 2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 7,000 ตันต่อวัน จำแนกเป็นถุงพลาสติก 80% ซึ่งต้องใช้เวลาย่อยสลายยาวนานถึง 450 ปี กลายเป็นประเทศที่มีปัญหาด้านขยะพลาสติก ซึ่งมีปริมาณมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก 

จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้เกิดมาตรการงดแจกถุงพลาสติก ที่ถูกประกาศใช้นับตั้งแต่วันแรกของการย่างก้าวเข้าสู่ปี 2563 อันมีห้างร้านเอกชนกว่า 90 บริษัททั่วประเทศให้ความร่วมมือ ซึ่งหากลองพิจารณาดูแล้ว ถุงพลาสติกที่จะหายไปจากมือผู้บริโภคนับตั้งแต่ 1 มกราคม เป็นถุงก๊อบแก๊บ แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อันเป็นถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564) ของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ 

แม้มาตรการดังกล่าวจะออกมาเพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกเกลื่อนเมือง – เกลื่อนทะเล แต่หากมองถึงข้อเท็จจริงในทุกวันนี้ ขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือพลาสติกชนิดต่าง ๆ ถูกหยิบขึ้นมาเพื่อใช้ในตามวาระต่าง ๆ อันเกิดขึ้นจากสถานการณ์

มาตรการล็อกดาวน์ กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ขยะพลาสติกในครัวเรือนมีจำนวนเพิ่มขึ้น อันเกิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของประชาชน อย่างที่เห็นได้ชัดคือ หลายคนเลือกบริการจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่แทนการรับประทานอาหารที่ร้าน โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า บริการจัดส่งอาหารทำให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 15 – 20% 

Photo : www.hosbeg.com

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 พลาสติกลายเป็นองคาพยพสำคัญที่วงการแพทย์ขาดแคลนไม่ได้

แม้ในมุมสิ่งแวดล้อมเรื่องราวของพลาสติกจะเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในฐานะผู้ทำลายโลกแต่ ณ ปัจจุบันอันเป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยต้องพบกับวิกฤตการระบาดของโควิด-19 พลาสติกถูกยกชูอีกครั้งในฐานะผู้ป้องกันโรค

ดังนั้น เราจึงสามารถพบเห็นพลาสติกในรูปแบบต่าง ๆ และอุปกรณ์ที่มีส่วนประกอบของพลาสติก ผ่านปรากฏการณ์ไวรัสระบาดเมืองที่เกิดขึ้นในตอนนี้ เรียกได้ว่าพลาสติกถือเป็นส่วนสำคัญและกลายเป็นองคาพยพชิ้นหนึ่งของร่างกายไปแล้ว 

ไม่ว่าจะเป็น หน้ากาก N95 หน้ากากอนามัย เสื้อกาวน์ หน้ากากครอบหน้าเพื่อป้องกันการกระเด็นของละอองน้ำและสารคัดหลั่ง หรือเฟสชิลด์ กระบอกสูบของเหลว สายยางสำหรับคนไข้ ชุดตรวจ หรือแม้แต่ถุงพลาสติกที่คนที่กักตัวอยู่บ้านเองก็ต้องหามาห่อหุ้มหน้ากากที่ใส่ไปแล้วก่อนทิ้งลงถังขยะเพื่อไม่ให้เชื้อโรคกระจายตัว สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นคงไม่มีใครพูดได้เต็มปากว่า พลาสติกเป็นวัสดุที่ ‘ทำลายโลก’ เนื่องจากคุณูปการในฐานะอุปการณ์ป้องกันโรค 

ในขณะที่ คำแนะนำของสำนักงานมาตรฐานอาหารแห่งสหราชอาณาจักร (Food Standard Agency – FSA) ที่ระบุว่า เชื้อโรคที่มักจะปนเปื้อนอยู่ในวัสดุหรืออาหารอันถูกบรรจุใน ‘ถุงผ้า’ อาจจะหลุดไปเกาะสะสมอยู่บนถุงผ้าได้นานถึง 10 วัน พลาสติกจึงกลายเป็นอีกวัสดุทางเลือกเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส

อย่างไรก็ตาม การใช้พลาสติกเป็นจำนวนมากอาจส่งผลให้เกิดการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด เพราะเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา สำนักข่าวมติชนออนไลน์ มีการเผยแพร่ข่าวที่สะเทือนวงการอนุรักษ์ ซึ่งข่าวดังกล่าวมีการพาดหัวว่า ‘เอกชนลุ้นรัฐอนุโลมห้างฯ กลับมาใช้ถุงพลาสติกเพื่อรีไซเคิลแทน มิ.ย.นี้’ 

สิ่งที่น่าสนใจในข่าวนี้คือ ทางสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทยได้ร่วมหารือกับภาครัฐและโมเดิร์นเทรดอันเป็นกลุ่มธุรกิจสมัยใหม่ อันหมายถึงห้างสรรพสินค้า ห้างมินิมาร์ต และร้านค้าชั้นนำ ว่าด้วยกาหารือกันในเรื่อง การนำพลาสติกที่มีความหนาเกิน 36 ไมคลอน มาใช้ ซึ่งนายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทยหวังว่ารัฐจะอนุโลมในจุดนั้น

Photo : www.thestar.com.my

หรือพลาสติกอาจไม่ใช่ตัวปัญหา แต่ปัญหาอาจอยู่ที่มนุษย์ ?

มาถึงตรงนี้ผู้เขียนจึงเกิดคำถามขึ้นในหัวว่า แล้วอะไรคือแนวทางการแก้ปัญหาที่ ‘ถูกต้อง’ และ ‘สมควร’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิกฤตการณ์ที่มนุษย์และสิ่งแวดล้อมต้องเผชิญหน้ากับไวรัส 

ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า พลาสติกอาจไม่ใช่ตัวปัญหา แต่ปัญหาอาจอยู่ที่มนุษย์ หากพูดถึงอายุขัยแล้ว พลาสติกมีวงจรชีวิตที่ยาวนานกว่า 450 ปี ก่อนจะย่อยสลายได้หมด ดังนั้น สิ่งที่มนุษย์ควรตระหนักคือ ใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่าตามคุณสมบัติความคงทนของมัน ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือ เมื่อมีการใช้พลาสติกน้อยลงก็จะทำให้ผู้ผลิตต้องลดอัตราการผลิตลง 

ขอยกกรณีที่น่าสนใจในประเทศสวีเดน ซึ่งในสวีเดนแห่งนี้มีกระบวนการจัดการขยะที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่นำขยะกลับมาใช้เป็นพลังงานได้โดยแทบไม่ก่อให้เกิดมลพิษใด ๆ และสามารถนำขยะไป Reuse ได้จำนวนมากถึง 96% และยังมีโครงการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตใช้เองภายในประเทศได้มากกว่า 810,000 ครัวเรือน 

ขณะเดียวกัน ประเทศดังกล่าวมีระบบมัดจำค่าขวดพลาสติกเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคต้องคืนขวด และสิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ เริ่มมีการริเริ่มมัดจำถุงพลาสติกโดยมีราคาคิดเป็นเงินบาทไทยจะอยู่ที่ 1.86 บาท ต่อใบ เป็นมาตรการป้องกันการทิ้งถุงพลาสติกไปอย่างเสียเปล่า 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ประเทศจำเป็นที่จะต้องใช้พลาสติกจำนวนมากในทางการแพทย์และการดูแลตัวเอง ภาครัฐและประชาชนต้องใส่ใจและช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม โดยการใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า และกำจัดด้วยวิธีการที่ถูกต้อง สุดท้ายนี้ผู้เขียนเชื่อว่า พฤติกรรมของมนุษย์เนี่ยแหละคือสิ่งชี้วัดความ ‘ดีร้าย’ ของพลาสติก

 


ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม ทั่วโลกกำจัดขยะ (พลาสติก) แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ร่วมกันอนุรักษ์พลังงาน
คนไทยใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5,300 ตัน/วัน เอกชนหนุนยกเลิกพลาสติกใช้ครั้งเดียว
โรคระบาดมา พลาสติกได้เวลาพิสูจน์ตัวเอง
ขยะจากโควิด-19 ซุกวันนี้ รอจัดการวันหน้า
ภาพเปิดเรื่อง SEBASTIEN BOZON / AFP
บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร