ผลกระทบจากไฟป่าดอยหลวงเชียงดาว สัตว์ป่า พืชพรรณ เป็นอย่างไร

ผลกระทบจากไฟป่าดอยหลวงเชียงดาว  สัตว์ป่า พืชพรรณ เป็นอย่างไร

ดอยหลวงเชียงดาวในวันที่ไฟป่าโหมกระหน่ำ ลุกลามเป็นบริเวณกว้างครอบคลุมพื้นที่กว่า400ไร่ ตั้งแต่วันที่27 มี.ค. ในพื้นที่เด่นหญ้าขัดต่อเนื่องไปยังดอยสามพี่น้อง กิ่วลมใต้ และแผ่ลงมาทางด้านหน้าถ้ำเชียงดาว

เมื่อวาน (4เม.ย.) เพจม่วนใจ๋ l กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาวซึ่งติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด รายงานว่า ไฟป่าที่เชียงดาวยังไม่ดับ… เมื่อวานยังมีไฟปะทุบริเวณด้านหน้าดอยหลวงเชียงดาว และมีไฟไหม้เพิ่มเติมในหลายจุด

 

PHOTO facebook.com/yipsee.puncharus

 

เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ร่วมกันดับไฟสำเร็จ

ธนากร ศรีสุรักษ์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าเชียงดาว ให้สัมภาษณ์กับเราว่า สถานการณ์ไฟป่าบริเวณดอยหลวงเชียงดาวดับไฟได้แล้ว แต่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวอาจมีบางจุด เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการดับไฟอยู่ อย่างไรก็ตามเรามีพื้นที่เฝ้าระวังอีกกว่า 1.2 ล้านไร่ อาจจะมีการลุกไหม้ขึ้นอีก หากไม่มีฝนตกลงมาในช่วงนี้ จึงต้องเฝ้าดูสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ธนากร ศรีสุรักษ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ชัดเจนตอนนี้คือเรื่องควันไฟ ส่งผลกระทบกันหมดไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชนเผ่าที่อยู่ด้านบน หรือคนในเมือง ตอนนี้เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เท่าที่ทราบเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจต่างๆมีเยอะขึ้น และคิดว่าปัญหาควันไฟนี้คือปัจจัยที่นำไปพูดคุยกับชาวบ้านให้เห็นความสำคัญในการร่วมกันจัดการปัญหาการเผาป่าด้วย

 

PHOTO facebook.com/yipsee.puncharus

 

“ไฟป่าครั้งนี้อาจนำไปสู่การหายไปของพันธุ์ไม้ สัตว์ป่า และทำให้สภาพป่าในพื้นที่เชียงดาวเปลี่ยนไป” มงคล สาฟูวงศ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวกล่าว

นอกจากผลกระทบต่อประชาชนแล้ว แน่นอนว่าผลกระทบต่อสัตว์ป่า พืชพรรณ เป็นเรื่องที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ ทราบกันดีว่าดอยหลวงเชียงดาวเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ซึ่งอีกด้านหนึ่งที่นั้นยังมีพืชพรรณแบบกึ่งอัลไพน์ซึ่งมีลักษณะพิเศษ พบแห่งเดียวของประเทศ มีพืชเฉพาะถิ่นหลายชนิดพบเพียงแห่งเดียวในโลก และยังเป็นบ้านของกวางผา เลียงผา และสัตว์ป่าสงวนคุ้มครองอีกจำนวนมาก

มงคล สาฟูวงศ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว บอกกับเราว่าตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าผลกระทบต่อสัตว์ป่า และพันธุ์พืชหลังเหตุการณ์ไฟป่าเสียหายไปแค่ไหนอาจต้องรอเก็บข้อมูลอีกที ไฟไหม้ครั้งนี้ค่อนข้างรุนแรง เพราะไม่ได้เกิดไฟป่ามานานแล้วจึงมีเชื้อเพลิงสะสมค่อนข้างเยอะ ทำให้เกิดความเสียหายมาก

 

PHOTO facebook.com/nikom.putta

 

หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว กล่าวอีกว่า การฟื้นฟูสภาพป่าและพืชพรรณที่เสียหายอาจจะใช้ระยะเวลา 2 – 3 ปีขึ้นไป เพราะส่วนใหญ่พันธุ์ไม้เชียงดาว เป็นลักษณะไม้ล้มลุก พืชบางชนิดพอโดนไฟไหม้อาจหมดไปเลย เพราะพืชหลายๆชนิดมีการออกฝัก แล้วร่วงตกลงมาบนพื้น เข้าหน้าฝนความชื่นเพิ่มขึ้นทำให้เมล็ดงอกขึ้นมา แต่ถ้ามีการเผาหน้าดิน คิดว่าเมล็ดพวกนี้จะได้รับความเสียหายค่อนข้างเยอะ ดีไม่ดีพวกราก เง้า ที่อยู่ใต้ดินลึกลงไปไม่มาก ความร้อนอาจไปทำลายจนไม่สามารถออกมาเป็นต้นได้อีก อย่างเช่น พรรณไม้กึ่งอัลไพน์ พืชเหล่านี้มีความอ่อนไหวและมีจำนวนไม่มาก ถ้าถูกรบกวนก็อาจสูญหายไปจากธรรมชาติได้ เพราะพรรณไม้กึ่งอัลไพน์ เป็นพืชที่ไม่ได้ออกแบบมาให้ทนไฟ คิดว่าไฟไหม้ครั้งนี้อาจมีเหลือรอดบ้างที่อยู่ตามหน้าผา บริเวณที่ไฟไปไม่ถึง คงต้องใช้เวลาให้พืชที่เหลืออยู่กระจายขึ้นมาใหม่

อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้พรรณไม้กึ่งอัลไพน์มีโอกาสเจริญเติบโตได้ยากขึ้นคือ เมื่อมีไฟไหม้เกิดขึ้น จะมีพืชกลุ่มหญ้าคา ซึ่งเป็นพื้นที่มีเง้าใต้ดิน เเม้ว่าต้นที่อยู่บนดินโดนไฟไหม้ไปแล้ว พอเข้าหน้าฝน หญ้าคาก็จะเเทงยอดขึ้นมาหนาแน่น เจริญเติบโตเร็วมาก ทำให้พืชพรรณเดิม เช่นพรรณไม้กึ่งอัลไพน์ ต้องสู้รบเพื่อแย่งแสงกับหญ้าคา เป็นภาวะที่หญ้าคาปกคลุมพื้นที่ ทำให้พรรณไม้กึ่งอัลไพน์ ชูยอดขึ้นมารับแสงค่อนข้างน้อย โอกาสในการเจริญเติบโตต่ำ

ส่วนผลกระทบต่อสัตว์ป่า คุณมงคล สาฟูวงศ์ ให้ข้อมูลว่า ผลกระทบที่แน่ๆประการแรกคือ สัตว์ป่าอาจจะโดนไฟคลอกตายในขณะเกิดเพลิงไหม้ และพวกนกต่างๆที่หากินตามทุ่งหญ้า ได้รับผลกระทบลักษณะการทำรังวางไข่ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงทำรังวางไข่ ก็อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงในเรื่องการโดนทำลายรัง ไฟน่าจะไหม้รังหมด หรือในระหว่างหนีไฟสัตว์อาจเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงมาได้ เช่นกรณีลิงน้อย อายุประมาณ 6 เดือนตกจากหลังแม่ขณะหนีไฟป่า เนื่องจากพวกนี้เป็น ลิงไอ้เงี้ยะหรือลิงวอกภูเขา ซึ่งจะหากินตามหน้าผา ตามป่า พอไฟมาสัตว์ตัวที่แข็งแรงก็สามารถหนีไปได้ แต่สำหรับตัวที่เป็นวัยรุ่น หรือลูกที่เกิดใหม่ ประสบการณ์ค่อนข้างน้อย ช่วงจังหวะที่่กระโดดพลาดตกลงมา เมื่อไฟมามีโอกาสหนีไม่ทัน หรือสำลักควันก็อาจตายได้

ประการที่สอง ปัญหาเรื่องควันมีผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์ พอไฟไหม้มีควันค่อนข้างสูง สัตว์บางส่วนไม่ได้ตายเพราะไฟป่าโดยตรงอาจจะสำลักควันตาย พอไฟมาถึงไม่มีแรงจะวิ่งหนี หรืออาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวของสัตว์ป่าได้

ประการที่สาม แหล่งอาหารถูกทำลาย อาจจะเข้าวิกฤติแหล่งหากินถูกทำลายร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อสัตว์สุขภาพไม่แข็งแรงแล้วแหล่งอาหารไม่เพียงพอทำให้สุขภาพยิ่งแย่ลง สัตว์ป่าอาจป่วยตายไปในที่สุด

 

PHOTO facebook.com/nikom.putta

 

ในค่ำคืนที่เปลวไฟลุกโชนเผาไหม้ ร้อนระอุ เสียงกรีดร้องวิ่งหนีของสัตว์ป่าดังอยู่ในความรู้สึกของผู้คนที่อยู่ในสถานการณ์ หรือเห็นภาพผ่านสื่อสังคมต่างๆ คำถามว่าสรรพสัตว์ สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ในผืนป่าบนดอยหลวงเชียงดาวจะเป็นอย่างไร แม้วันนี้เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ชาวบ้าน ร่วมกันดับไฟจนเริ่มดับหมดแล้ว เหลือเพียงตอไม้บางตอที่ยังคงมีไฟครุอยู่ และทิ้งไว้เพียงความเสียหาย

ตั้งแต่เกิดไฟไหม้จนถึงวันนี้ การที่เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ชาวบ้าน ระดมกำลังเข้าไปช่วยกันดับไฟ เป็นเพียงมาตรการสนับสนุนและควบคุมสถานการณ์ระยะสั้นเท่านั้น ธนากร ศรีสุรักษ์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าเชียงดาว กล่าว และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการระยะยาวเรื่องไฟป่าหลังจากนี้ สถานีควบคุมไฟป่าเชียงดาวร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว วางแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ชุมชน มีเรื่องการป้องกันและงานลาดตะเวน ตอนนี้มีการคุยกันของทางภาครัฐ กำนันผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ที่รวมตัวกันในนามกลุ่มฮักเชียงดาว พูดคุย ปรึกษาหารือกันถึงแนวทางแก้ไขปัญหาระยาว เพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพทำการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งปัจจุบันมีการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว เช่นปลูกข้าวโพด ข้าวไร่ ให้เปลี่ยนมาปลูกวนเกษตร หรือพวกไม้ผล เพื่อให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ แล้วก็มีการส่งเสริมให้กลุ่มคนที่หาของป่า หรือใช้ประโยชน์จากป่าต่างๆเลิกจุดไฟเผาป่า โดยเอาบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่ใช้ประโยชน์จากป่ามาพูดคุยกัน ว่าควรจะเป็นเเนวทางไหนที่ใช้ประโยชน์จากป่าโดยไม่ต้องมีการเผา รวมทั้งมาช่วยเป็นอาสาในการดับไฟด้วย

 


บทความ นรินทร์  ปากบารา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพเปิดเรื่อง Pijakkana Meechaiudomdaj