ผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่อมนุษย์และสัตว์ป่า ที่ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

ผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่อมนุษย์และสัตว์ป่า ที่ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

แรงฉุดกระชากจากสายน้ำโหมกระหน่ำตามความความลาดชันที่เสริมความแรง และทวีคูณปริมาณน้ำให้ไหนบ่าเร็วและแรงกว่าที่เคย ด้วยก่อนที่พายุดีเปรสชันที่ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนเซินติญ’ (SON-TINH) จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำขึ้นไปฝั่งประเทศเวียนนามตอนบนสร้างผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นบริเวณกว้างบ้างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน มิใช่แค่มนุษย์เท่านั้นแต่สัตว์เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

 

 

 

ผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่มนุษย์ได้รับ

บริเวณอำเภอสังขละจังหวัดกาญจนบุรี โดยเฉพาะพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกนั้นมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสัปดาห์ และเมื่อพายุเซินติญเข้ามาเพิ่มอิทธิพลต่อสภาพฝนฟ้ายิ่งทำให้มีฝนตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งมีสาเหตุจากปริมาณน้ำสะสมมากเกินกว่าที่ดินและต้นไม้จะดูดซับไหว น้ำจึงไหลบ่าเข้าพื้นที่ราบต่ำอย่างรวดเร็ว ยิ่งมีความชันและมีพื้นที่รับน้ำมากก็จะยิ่งทวีความรุนแรงทั้งพลังและความเร็วมากขึ้นเป็นเหตุให้ประชาชนไม่อาจอพยพหนีภัยพิบัตินี้ได้ทัน

เมื่อวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2561 บริเวณหมู่บ้านสะเน่พ่องและหมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง มีระดับน้ำสูงไหลเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือน วัด โรงเรียน และอาคารสำนักงานที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกได้รับความเสียหาย

 

 

โดยเพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ข้อมูลว่าคุณวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก รายงานสถานการณ์เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในหลายพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ โดยเฉพาะในท้องที่อำเภอสังขละบุรี ส่งผลให้หน่วยพิทักษ์ป่าสะเนพ่องถูกน้ำท่วม ระดับน้ำสูงถึงชั้นสองของบ้านพักคนงาน 4 ครอบครัว

ด้าน คุณมนตรี กุญชรมณี เจ้าหน้าที่ภาคสนามจังหวัดกาญจนบุรี เล่าว่าจากการตรวจสอบพบว่าตัวอาคารสำนักงาน บ้านพักเจ้าหน้าที่ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ แผงโซลาเซลล์ ชุดเครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์ครัว และของใช้ส่วนตัวเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเสียหาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่บางส่วนออกปฏิบัติภารกิจการการลาดตระเวน โดยปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการซ่อมบำรุง ส่วนหนึ่งเจ้าหน้าที่ได้แบ่งกำลังไปช่วยเหลือประชาชนหมู่บ้านสะเน่พ่อง เนื่องจากมีประชาชนได้รับความเสียหายหลายครอบครัวเช่นกัน

สัตว์ป่าในบริเวณพื้นที่คาบเกี่ยวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกและอุทยานแห่งชาติเขาแหลมเองได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติครั้งนี้เช่นกัน

 

ผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่สัตว์ป่าได้รับ

ระหว่างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพตามภารกิจอยู่นั้น ในวันที่ 15 สิงหาคม คณะเจ้าหน้าที่ได้พบซากกระทิง เพศผู้ 4 ตัว ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 16 สิงหาคม เจ้าหน้าที่พบซากกระทิงเพิ่ม 2 ตัว เป็นคู่แม่ลูก และต่อมาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเพิ่มจึงพบซากกระทิงอีก 2 ตัว และได้ดำเนินการตรวจตามลำน้ำเพิ่มเติม ปัจจุบันรวมซากกระทิงที่พบทั้งสิ้นจำนวน 8 ตัวตามบริเวณเกาะกลางแม่น้ำและริมหาดทราย

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย คุณวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก คุณสุภาพ งามทองเหลือง เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม สัตว์แพทย์หญิง กนกวรรณ ตรุยานนท์ ตำแหน่ง นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 134 เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า และนายต่องลีเหย่งพนาอุดมตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารตำบลไล่โว ได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบพิสูจน์ซากกระทิงบริเวณลำห้วยรันตี

เพื่อพิสูจน์ซากกระทิงและตรวจสอบร่องรอยอื่นๆ บริเวณรอบๆ ซึ่งจากการพิสูจน์ซากกระทิงไม่พบร่องรอยการถูกยิงด้วยอาวุธปืนจึงสันนิฐานว่าเนื่องจากฝนตกเป็นเวลายาวนานและหนักมากทำให้เกิดภัยพิบัติน้ำหลากและดินโคลนถล่มท้องที่หมู่บ้านกองม่องทะ ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้รับการประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติน้ำลำห้วยรันตีสูงกว่าปรกติไหลเชี่ยวกราด และเกิดน้ำหลากเป็นผลให้กระทิงดังกล่าวอาจหนีน้ำไม่ทันจึงถูกกระแสน้ำพัดตกจากภูเขาไหลมาตามลำน้ำที่ไหลเชี่ยวจนถึงแก่ความตายโดยภัยธรรมชาติ

ซึ่งทางด้านคำบอกเล่าของชาวบ้านว่ามีความเป็นไปได้ที่จะพบซากกระทิงเพิ่มอีก เนื่องจากกระทิงฝูงนี้น่าจะมีราว 20-30 ตัว

ภายหลังเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนจัดทำบันทึกเอกสารพร้อมภาพถ่าย โดยคุณภานุวัฒน์พันชนะผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เข้าแจ้งความเป็นหลักฐานต่อพนักงานสอบสวนณสถานีตำรวจภูธรสังขละบุรี

จากนั้นจึงดำเนินการจัดการซากกระทิงเหล่านี้ด้วยการเผาทำลาย เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดอันจะเป็นอันตรายต่อราษฎรและระบบนิเวศได้

เจ้าหน้าที่ภาคสนามจังหวัดกาญจนบุรีกล่าวว่า ในยามปรกติน้ำในห้วยรันตีเคยใสไหลเอื่อย ภายหลังพายุเข้ากลับเต็มไปด้วยความขุ่นมัวสีแดง ตะกอน ขอนไม้ น้ำหลากอย่างรุนแรง ฝนยังคงตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จากที่คนเคยเดินข้ามได้ก็ไม่สามารถทำได้ ขนาดกระทิงตัวเป็นตันยังปลิวไปกับน้ำได้

 

จากการพิสูจน์ซากพบดินตะกอนทรายจำนวนมากอุดตันอยู่ในหลอดลม และสัตวแพทย์ได้เก็บตัวอย่างอวัยวะภายใน ส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุการตายแล้ว

 

ปริมาณฝนเยอะและติดต่อกันนานกว่าปรกติ และถูกซ้ำเติมด้วยพายุเข้า จึงทำให้ดินและต้นไม้ไม่สามารถรับน้ำได้ คุณมนตรี กุญชรมณี ให้ความเห็นว่า ฝนในทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกไม่เหมือนกับที่อื่น แม้ไม่มีพายุเข้ามันก็ตก มันเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกก่อนที่พายุเซินติญจะเข้าสะสมมายาวนานกว่า 10 วันเมื่อมีพายุเข้ามาสมทบทำให้ดินที่อุ้มน้ำไว้เยอะพอถึงเวลาจึงปล่อยน้ำออกมาในปริมาณมากทำให้เกิดน้ำท่วม

จากการพูดคุยกับคุณลุงอายุราว 60 ปี ที่อาศัยอยู่บริเวณท่าเรือ เขาบอกว่าตั้งแต่เขาเกิดมาเขาก็ไม่เคยเห็นน้ำท่วมหนักขนาดนี้ ครั้งนี้หนักที่สุด โดยส่วนตัวมองว่าความรุนแรงของภัยพิบัติเช่นน้ำท่วมน้ำป่าไหลหลากนี้เกิดขึ้นตามรอบของธรรมชาติ สมัยปี 2538 2554 และมาถึงปีปัจจุบันแต่เหตุการณ์น้ำท่วมปีที่แล้วมาน้ำอาจท่วมแต่ก็ไม่มาก

แต่ที่เห็นได้ชัดเลยคือภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นครั้งนี้รุนแรงมากกว่าทุกปี เกิดเหตุการณ์แบบนี้ทุกปี พบกระทิงตายอาจเกิดขึ้นตัวหนึ่งหรือสองตัว แต่ไม่เคยถึงหกตัวหรือแปดตัว เจ้าหน้าที่ภาคสนามจังหวัดกาญจนบุรีกล่าว

ภัยน้ำท่วมอย่างฉับพลันน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มครั้งนี้สร้างผลกระทบจนจังหวัดกาญจนบุรีประกาศให้พื้นที่อำเภอสังขละ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเขตภัยพิบัติ สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินนานาประการ เคราะห์ดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิตขณะที่น้ำท่วมสูงถึงชายคาบ้านทำให้ชาวบ้านต้องหนีน้ำขึ้นไปอาศัยอยู่บนชั้นสองของตัวบ้าน รอคอยให้ระดับน้ำลดลงก่อนจะช่วยกันเก็บกวาดและบูรณะอาคารบ้านเรือนต่อไป

แต่สำหรับสัตว์ป่าแล้วไม่มีการเตือนภัยเฉกเช่นมนุษย์ พวกมันอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติย่อมต้องเผชิญกับความพิโรธของธรรมชาติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เมื่อเผชิญหน้าจึงย่อมมีโอกาสนำไปสู่ความสูญเสียดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่น่าขบคิดกันว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาของโลกเท่านั้นหรือ หรือปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลให้ภัยธรรมชาติทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือสิ่งเหล่านี้จะเป็นสัญญาณเตือนบางอย่างที่ธรรมชาติพยายามจะสื่อสารกับมนุษย์

 


เรื่อง พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร