ประเทศไทย ปลายทางใหม่ของขยะอิเล็กทรอนิกส์

ประเทศไทย ปลายทางใหม่ของขยะอิเล็กทรอนิกส์

โรงงานรกร้างชานเมืองกรุงเทพฯ เป็นสถานที่เก็บเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ เอ็กซ์บ็อกซ์ ทีวี ปรินท์เตอร์ที่ถูกบีบอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมเรียงสูงราวกับตึกระฟ้า ไม่ไกลมีหน้าจอคอมพิวเตอร์แตกกระจัดกระจายอยู่ นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของขยะอิเล็กทรอนิกส์ปริมาณกว่า 50 ล้านตันของสหภาพยุโรปในแต่ละปี ขยะพิษเหล่านี้หลั่งไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

ประเทศไทยคือหนึ่งในนั้น เนื่องจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่เข้มข้นทำให้ประเทศไทยเป็นปลายทางขยะอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยก็ไม่ได้นิ่งเฉย และเตรียมตั้งกำแพงป้องกันขยะพิษเหล่านั้นก่อนที่ไทยจะกลายเป็น “ที่ฝังกลบขยะของโลก”

สำนักข่าว the Guardian ได้เดินทางไปยังโรงงานแห่งหนึ่งในสมุทรปราการ ซึ่งปิดตัวลงเนื่องจากดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย เป็นภาพสะท้อนอย่างดีถึงขนาดของปัญหาที่ใหญ่ยักษ์ เราพบปรินท์เตอร์ยี่ห้อ Dell และ HP ทีวียี่ห้อ Daewoo และดิสก์ไดรฟ์ของ Apple วางเรียงสุมเป็นภูเขาไม่ไกลกับกองคีย์บอร์ด เราท์เตอร์ และเครื่องถ่ายเอกสาร โดยป้ายยี่ห้อระบุว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เดินทางมาจากต่างประเทศ

สำหรับชุมชนย่านนั้น คงยากจะตอบว่าทำไมประเทศไทยควรนำเข้าขยะเหล่านี้ โรงงานในสมุทรปราการตั้งอยู่ท่ามกลางฟาร์มกุ้งหลายร้อยแห่ง สร้างความกังวลว่าขยะดังกล่าวอาจกำลังทำลายสิ่งแวดล้อมรอบๆ โดยไร้กฎหมายควบคุมหรือผู้กำกับดูแล

ภราธร กุ่มขำ เจ้าของฟาร์มกุ้งอายุ 32 ปี เล่าให้ฟังถึงกลิ่นอบอวลไปทั่วบริเวณในช่วงที่โรงงานเดินเครื่อง “ผมหวังว่าประเทศไทยจะปฏิเสธไม่รับขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพราะผมกังวลว่าจะเป็นการสร้างมลภาวะในอากาศและน้ำด้วยสารเคมีอันตราย พวกเรากังวลมากว่าสารเคมีเหล่านี้จะไหลมาปนเปื้อนในฟาร์มกุ้งของเรา” เขาระบุ

จีนเคยเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่อ้าแขนรับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลกเพื่อนำมารีไซเคิลในโรงงานขนาดยักษ์ รายงานของสหประชาชาติระบุว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 70 จากทั่วโลกจะถูกขนส่งไปยังประเทศจีน แต่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากชั่งน้ำหนักกำไรระยะสั้นกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระยะยาวแล้วดูจะไม่คุ้มค่า จีนได้ประกาศปิดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดวิกฤติขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกทั่วโลก

ประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างไทย ลาว กัมพูชา ได้เข้ามามีบทบาทแทนประเทศจีน โดยมีนักลงทุนรายใหญ่จากจีนที่พยายามเปิดโรงงานรีไซเคิลพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์รวมกว่า 100 แห่งในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี หลังจากการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 เดือนจนมีปริมาณรวม 37,000 ตัน (หากรวมที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมายด้วย อาจมีปริมาณมากกว่านี้) ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่เดินตามจีน โดยเตรียมออกกฎหมายป้องกันการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งผิดและไม่ผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศ

“เรามีขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากอยู่แล้วในประเทศไทย จึงไม่ควรที่จะรวบรวมมลภาวะจากทั่วโลกมาไว้เพิ่มอีกให้เป็นภาระของลูกหลานชาวไทย” วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ เขาคือผู้นำการบุกจับโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ร่วม 26 แห่ง และอธิบายว่าระบบการรีไซเคิลของโรงงานนั้น “น่ากังวล” เพราะวิธีแยกโลหะมีค่าออกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นล้าสมัย และหลังจากแยกโลหะมีค่าออกมาแล้ว ชิ้นส่วนที่เหลือก็จะถูกโยนเข้าเตาเผาขยะ ปล่อยควันพิษออกมาทั่วบริเวณ

“โรงงานลักษณะนี้ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยปล่อยมลภาวะ เช่น โลหะหนักอย่างตะกั่วและทองแดง ซึ่งเป็นพิษต่อดินและน้ำ โรงงานเหล่านี้ยังเผาพลาสติก ปล่อยมลภาวะสู่อากาศ เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประชาชนชาวไทยที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง” เขากล่าวเสริม

 

ภาพมุมสูงจากโรงงานรีไซเคิลขะยอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งในสมุทรปราการ / PHOTO Florian Witulski​

 

คำว่า ‘รีไซเคิล’ มักเชื่อมโยงกับเรื่องทางบวกว่าเป็นการอนุรักษ์โลก แต่โรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ข้องเกี่ยวกับกระบวนการแสนจะสกปรกในการสกัดเอาตะกั่วและทองแดงออกจากเครื่องใช้เหล่านั้น สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม พลาสติกในขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างจอคอมพิวเตอร์ เป็นพลาสติกชนิดที่ทนต่อไฟซึ่งเป็นพิษหากถูกเผา หรือนำไปรีไซเคิลเป็นพลาสติกบรรจุอาหารราคาถูกซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ในโรงงานบางแห่ง

กรมศุลกากรของไทยได้เริ่มป้องกันไม่ให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณวันละ 20 คอนเทนเนอร์เข้าสู่ประเทศไทยผ่านท่าเรือ และอีกไม่นาน รัฐบาลไทยก็มีแผนจะผ่านกฎหมายเพื่อแบนขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ

หลังจากที่จีนปิดรับขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ต่างก็หันมาพึ่งพาประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเป็นปลายทางในการส่งออกขยะเหล่านั้น ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยนำเข้าขยะพลาสติกจากสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นถึง 50 เท่า หากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปฏิเสธที่จะรับขยะดังกล่าว ขยะเหล่านี้ก็ไม่มีที่ไป

Jim Puckett จากเครือข่าย Basel Action ซึ่งทำงานอยู่ทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการปัญหาขยะพิษ ระบุว่า “การที่ประเทศไทยหยุดการนำเข้าขยะเหล่านั้น อาจทำให้แต่ละประเทศต้องหาทางกำจัดขยะด้วยตนเอง เช่น การนำไปทิ้งในสถานที่แย่มากๆ หรือเผาทิ้งทั้งหมด” แต่เขาก็เน้นย้ำกว่า ในระยะยาวการห้ามไม่ให้นำเข้าขยะเหล่านั้น “เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง”

“สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป จะต้องตระหนักแล้วว่าการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นความรับผิดชอบของตัวเอง และหยุดโยนภาระและผลกระทบทางลบไปยังประเทศที่อยู่ทางเหนือหรือทางใต้” เขาสรุป “หากเกิดวิกฤติขึ้นจริง ก็หวังว่าประเทศเหล่านี้จะเริ่มพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเริ่มที่จะแสดงความรับผิดชอบบ้าง”

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Deluge of electronic waste turning Thailand into ‘world’s rubbish dump’ โดย Hannah Ellis-Petersen
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์