บันทึกคดี ล่าสัตว์ป่า ทุ่งใหญ่ฯ 2561

บันทึกคดี ล่าสัตว์ป่า ทุ่งใหญ่ฯ 2561

ช่วงเช้าของวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้าเขียนบันทึกเอาไว้ว่า

บนกระดานสนทนาของเฟสบุ๊ก ผู้คนต่างพูดคุยในเรื่องเดียวกันโดยมิได้นัดหมาย บนทวิตเตอร์ปรากฏชื่อของบุคคลหนึ่งกลายเป็นแฮซแท็กติดโซเชี่ยลเทรนด์ประจำวัน

หรือแม้แต่ในโลกความเป็นจริง บทสนทนาของใครต่อใครก็นำไปสู่หัวข้อ… “จับประธานอิตาเลี่ยนไทย ล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ฯ”

ใครเลยจะคาดคิดว่าในเช้าวันหนึ่งของยุคสมัยที่การล่าสัตว์ป่าเป็นเพียงตำนานความโก้เก๋ของคนโบราณ ขณะที่สถานะสัตว์ป่าเมืองไทยกำลังวิกฤต และมีกฎหมายคุ้มครองเพื่อมิให้มีการล่าหรือซื้อขาย จะถูกกลุ่มคนซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้มีฐานะทางสังคมสูง มีการศึกษาดี มีเงินทองมั่นคง เข้าไปร่วมกระทำการให้สัตว์ป่าคุ้มครองอย่าง ‘เสือดำ’ ต้องถึงแก่ความตาย ซ้ำยังเป็นการกระทำในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญในระดับโลกอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

ผืนป่าแห่งจิตวิญญาณที่ประชาชนหลายภาคส่วนได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อปกป้องเอาไว้หลายครั้ง…

ภาพที่ปรากฏในข่าว คงเป็นเรื่องที่ทำให้ใครหลายคนอดเสียไม่ได้ที่จะระบายความรู้สึกไม่พอใจออกมา คงไม่มีใครอยากเก็บถ้อยคำสบถ ก่นด่า เอาไว้ภายใน บางถ้อยคำนั้นหยาบคายเกินว่าจะจินตนาการออกว่า เขาคนนั้นจะมีความรู้สึก และอารมณ์ร่วมรุนแรงได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ…

“เค้าช่วยกันอนุรักษ์แทบเป็นแทบตาย เป็นถึงประธานบริษัทใหญ่กลับไม่มีสามัญสำนึกอะไรเลยจริงๆ”

“เสนอว่าให้ช่วยกันแชร์ครับ ใหญ่ขนาดนี้ กระแสต้องแรงถึงจะเอามันได้”

“หลายคนเสี่ยงชีวิตเพื่ออนุรักษ์ บางคนกลับลักลอบทำลายเพื่อความสุข ความสนุกของตัว เป็นคนดัง ใหญ่โตกลับทำเรื่องที่ผิดกฏหมาย ไร้สำนึก อับอายบ้างรึเปล่าคะเนี่ย”

“ถ้าเข้าป่าเพื่อทำเลวๆ อย่างนี้ อย่าเข้าเลยครับ ทุกวันนี้ทั้งป่าและสัตว์ป่าของเราก็ลดน้อยลงทุกที มันหมดยุคการเข้าป่าเพื่อผจญภัยแบบรพินทร์ ไพรวัลย์ แล้ว”

“หน้าตาก็อุบาทว์ จิตใจกลับชั่วช้า โหดร้ายยิ่งกว่าหน้าตา ไม่อยากด่าเลย แต่อ่านข่าวแล้วโกรธ โกรธมาก มันมีความจำเป็นในชีวิตหรือ ไม่มีจะกินหรือ เปล่าเลย เพียงแต่เกิดจากจิตใจที่ชอบการทำร้ายทำลายชีวิต”

ฯลฯ

บางส่วนจากความไม่พอใจที่คัดลอกมาจากกระทู้สนทนาบนเฟสบุ๊คที่แชร์ข่าวดังกล่าว

แต่บางส่วนก็พูดทำนองว่า

“คนรวย เดี๋ยวก็หลุด เดี๋ยวก็รอด”

ในห้วงอารมณ์ และประสบการณ์ทางสังคมที่แต่ละคนสะสมมา คงมีบ้างล่ะที่อาจจะเขวคิดไปว่า คงลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้ เพราะรวย มีหน้าตา เส้นใหญ่ หรือไม่ก็คิดกันไปทำนองว่า “เดี๋ยวอีกไม่นานก็ลืมกันหมด”

เช่นเดียวกัน เราเองก็ไม่ปฏิเสธว่าในบางนาทีรู้สึกหวั่นไหวไปกับความคิดเห็นเหล่านั้นไม่น้อย

แต่เมื่อตั้งสติ และกลับมามองเรื่องความถูกต้อง กระทำความผิดก็คือผิด บทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร นั่นคือเรื่องของอนาคตที่ต้องติดตาม กระทุ้ง และช่วยแก้ให้มันถูก

ส่วนในนาทีนี้ สิ่งหนึ่งที่รู้แน่ชัด

คือ ประเด็นทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่กำลังถูกจุดขึ้นอีกครั้ง

 

ติดตามอ่านเรื่องราวทั้งหมดได้ใน สาส์นสืบ บันทึกคดี ล่าสัตว์ป่า ทุ่งใหญ่ฯ 2561 เร็วๆ นี้

 


บทความ เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร