บทเรียนจาก “มาเรียม” สู่มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

บทเรียนจาก “มาเรียม” สู่มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

กลางสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวน่ายินดีเกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ทะเลเกิดขึ้น

เมื่อ ครม. มีมติเห็นชอบ มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่อำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง

เรื่องราวหนนี้ เกิดขึ้นเพื่อการอนุรักษ์และควบคุมผลกระทบของการประมง การท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาที่อาจส่งผลต่อระบบนิเวศในพื้นที่ทางทะเล ไปจนถึงเรื่องมลพิษ และขยะ

หรือกล่าวได้ว่าอะไรก็ตามที่เป็นเหตุให้ทะเลไทยในละแวกดังกล่าวได้รับความเจ็บป่วย จะต้องถูกแก้ไข บริหารจัดการ จัดระเบียบขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด

หรือไม่มีผลกระทบใดๆ เลย ก็จะเป็นการดีที่สุด

ที่ผ่านมา ผลกระทบจากปัญหาที่ว่าถือเป็นภัยร้ายแรงที่คุกคามชีวิตสัตว์และระบบนิเวศในภาพรวมจนก่อให้เกิดความสูญเสียมานักต่อนัก

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด และนำมาสู่การออกมาตรการในครั้งนี้ คือ ความตายของ “มาเรียม” ลูกพะยูนที่ผลัดหลงจากฝูง และได้รับเลี้ยงดูประคบประหงมจากคน จนเกิดเป็นไวรัลน่ารักซื้อใจสาธาณชนให้หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้อย่างมากมาย

เราพบมาเรียมครั้งแรกในวันที่ 26 เมษายน 2019

เธอเป็นลูกพะยูนน้อยที่ถูกกระแสน้ำพัดมาเกยตื้นอย่างโดดเดี่ยวที่อ่าวทึง ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

ด้วยความที่เธอยังอยู่ในวัยแบเบาะ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ในพื้นที่ได้ตัดสินใจนำพะยูนน้อยมาอนุบาลในสภาพธรรมชาติ ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง เนื่องจากเป็นแหล่งหญ้าทะเลอาหารของพะยูน และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของพะยูนในประเทศไทย

ตลอดระยะหลายเดือนที่เฝ้าเลี้ยงดูและหวังให้เธอได้เติบใหญ่ต่อไป เป็นเหมือนเรื่องราวในโลกยูโทเปีย ที่มากด้วยแง่มุมแห่งความงดงาม

ทว่ากับความเป็นจริง พะยูนน้อยก็ไม่อาจเติบใหญ่ได้อย่างที่เราเฝ้าฝัน – สุดท้ายมาเรียมได้จากโลกนี้ไปในวันที่ 17 สิงหาคม 2019

สาเหตุการเสียชีวิตของเธอเกิดขึ้นเพราะมีเศษพลาสติกขนาดเล็กหลายชิ้นเข้าไปขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมอยู่เต็มระบบทางเดินอาหาร ทั้งยังมีการติดเชื้อในกระแสเลือด และอาการปอดเป็นหนองตามมา

แม้จะมีความพยายามรักษา จนสามารถลดอาการติดเชื้อในระบบหายใจลงได้ แต่กับระบบทางเดินอาหารภายในท่ีมีขยะพลาสติกสะสมอยู่มากมายนั้น เราไม่สามารถรักษาหรือทำอะไรได้เลย

สุดท้ายเป็นเหตุให้มาเรียมเกิดภาวะช็อค และเสียชีวิตลงในที่สุด

มันคือข่าวแห่งความเศร้าโศกในพ.ศ. นั้น ทั้งของคนทำงานและผู้ฟอลโล

และเป็นภาพความจริงที่สะท้อนว่า ทะเลไทยกำลังวิกฤต และเราจำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองพื้นที่ทางทะเลให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

บทเรียนจากครั้งนั้นก็ได้ก่อให้เกิดแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ พร้อมกำหนดให้วันลาจากของมาเรียม (17 สิงหาคม) เป็น “วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ”

แต่กระนั้น มาเรียมหรือพะยูนก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่ต้องเผชิญความบอบซ้ำจากปัญหาที่กล่าวไป ณ ท้องทะเลอันไพศาลยังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากที่ต้องการความช่วยเหลือและเผชิญพบกับชะตากรรม (เศร้า) ที่ไม่ต่างกัน

หัวใจที่สำคัญจึงเป็นเรื่องการสร้างมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อมาใช้แก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมในทุกมิติ

ซึ่งใจความสำคัญของการกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในหนนี้ จะนำไปสู่การจัดการและควบคุมในเรื่องต่างๆ อาทิเช่น

ห้ามทำให้เกิดมลพิษและเททิ้งขยะที่มีผลทำให้คุณภาพชายหาดเสื่อมโทรม ห้ามกระทำการใดๆ ที่ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางธรณีสัณฐาน ห้ามไม่ให้มีสารปนเปื้อนจากการเดินเรือ การจอดเรือ การขนส่ง

ห้ามทำการประมงอวนปลากระเบนเบ็ดราไวย์ อวนชักหรืออวนทับตลิ่ง อวนล้อมหรืออวนล้อมหิน อวนถ่วงหมึกที่วางในแหล่งหญ้าทะเล หรือการทำการประมงด้วยวิธีการอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อพะยูน โลมา และเต่าทะเล

ห้ามการขุดลอกและการทิ้งดินตะกอนจากการขุดลอกที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น

นับจากเดือนกันยายน 2019 ที่ได้เริ่มประชุมวางแผน มาถึง 16 มีนาคม 2021 เป็นระยะเวลากว่า 18 เดือนหลังวันมาเรียมจากไป แผนงานดังกล่าวได้ก่อร่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

จากสิ่งที่เกิดขึ้นก็พอจะกล่าวเป็นคำสรุปสั้นๆ ได้ว่า

“มาเรียมไม่ตายฟรี”

เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลอื่นๆ ที่สมควรได้รับการปกป้องในอนาคตต่อไป

เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์แห่งความโศกย้อนกลับมาซ้ำรอยเดิมได้อีก

 


ภาพประกอบ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม