‘นกเงือก’ กับภาวะโลกร้อน

‘นกเงือก’ กับภาวะโลกร้อน

นอกจากปัจจัยการคุกคามด้านศัตรูตามธรรมชาติและมนุษย์ที่ทำให้จำนวนนกเงือกลดลงแล้วภาวะโลกร้อนเองก็ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่เชื่อมโยงไปถึงวัฏจักรธรรมชาติที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยพึ่งพาหากินกับต้นไม้เช่น นกเงือก ก็ต้องประสบปัญหาในมิติของนกเงือกเช่นกัน

ผศ.ดร.วิจักขณ์ ฉิมโฉม เลขาธิการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก รายงานสถานการณ์นกเงือกประจำปี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พญาไท) ในวันรักนกเงือก ตอน รวมใจให้ กล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนประชากรนกเงือก นั่นคือสภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อเนื่องจากสภาวะโลกร้อน

ปริมาณน้ำฝนที่ลดลงและอุณหภูมิโลกที่ร้อนระอุขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การเข้ารังของนกเงือกลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ต้องวิเคราะห์หาสาเหตุดังกล่าว

ผศ.ดร.วิจักขณ์ ฉิมโฉม เลขาธิการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก

มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกได้วิเคราะห์ปริมาณอาหารนกเงือกที่มีอยู่ในธรรมชาติ พบว่าผลผลิตทางอาหารของนกเงือกตามธรรมชาติ ในสภาพอากาศแห้งแล้ง อุณหภูมิสูงขึ้น ปริมาณน้ำลดลง ทำให้พรรณไม้ที่เป็นอาหารของนกเงือก ทั้ง ตาเสือ ยางโอน และไทรหลายชนิด ลดลงตามไปด้วย อันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจน ที่ทำให้การเข้ารังและการขยายพันธุ์ลดลง จำนวนประชากรลูกนกเงือกใหม่ใหม่ๆ จึงน้อยมาก ยกตัวอย่างในพื้นที่เขาใหญ่ การเพิ่มปริมาณประชากรลูกนกเงือกใหม่ในปีที่ 2559 ที่ผ่านมา มีจำนวนลดลงกว่าปี 2558 ถึง 83 ตัว

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.. 2560 นี้ มีปริมาณน้ำฝนปริมาณมาก คาดหวังว่าประชากรนกเงือกจะเพิ่มจำนวนขึ้นมาก

นี่คือการผกผันของจำนวนประชากรนกเงือกที่ได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้ง

ด้านกระบวนการศึกษาวิจัยเรื่องการติดตามนกเงือก ผศ.ดร.วิจักขณ์ ฉิมโฉม กล่าวว่าใช้วิธีการติดตามผ่านเครื่องส่งสัญญาวิทยุดาวเทียม และนำมารวบรวมข้อมูลพบว่า สิ่งที่น่าสนใจที่สุดนั่นก็คือนกเงือกกรามช้างปากเรียบ ซึ่งได้ติดตามในเฟสที่สอง ตั้งแต่ปี พ.. 2556-2558 ผลที่ได้ยังคงยืนยันแบบเดียวกัน นั่นก็คือ นกเงือกชนิดนี้ มีการอพยพหลังจากสิ้นสุดฤดูผสมพันธุ์เดือนมิถุนายน จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี บินอพยพลงใต้ตามแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี ไปสิ้นสุด รวมฝูง และจับคู่ที่ประเทศมาเลเซียในช่วงผสมพันธุ์ ซึ่งประเทศมาเลเซียเป็นพื้นที่ผสมพันธุ์ของนกเงือก (Breeding site) แล้วประมาณเดือนมกราคมก็จะบินกลับมาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอีกครั้ง

แผนการทำงานต่อไปที่มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกจะต้องทำคือ เส้นทางอพยพของนกเงือก (Migration route) ซึ่งระหว่างอพยพนกเงือกจะมีจุดแวะพักระหว่างทาง (Stopvoer site) หลายแห่ง เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าไปสำรวจ ดูแลและทำการประชาสัมพันธ์ข้อมูล โดยหวังว่างานนี้จะได้รับการสนับสนุนในโอกาสต่อไป

นอกเหนือไปจากนั้น ปีนี้มีวาระพิเศษที่จะมีการประชุมวิชาการนกเงือกระดับนานาชาติ ครั้งที่ 7 ซึ่งจะมีการจัดทุกๆ 4 ปี ระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2560 ที่ ซาราวัค ประเทศมาเลเซีย  เชิญผู้สนใจเสนอผลงาน หรือเข้าร่วมงานประชุมสามารถติดตามข่าวได้ที่เว็บไซต์ต่อไปนี้ On behalf of SARAWAK FORESTRY Corporation (SFC) หรือ 7th International Hornbill Conference 2017