ทำไมไม่เปลี่ยนที่ตัวเองล่ะ? ประโยคคุ้นหูเมื่อเราตั้งคำถามกับวิธีแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของภาครัฐ

ทำไมไม่เปลี่ยนที่ตัวเองล่ะ? ประโยคคุ้นหูเมื่อเราตั้งคำถามกับวิธีแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของภาครัฐ

ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ใช้รถโดยสารสาธารณะสำหรับการเดินทางไปทำงานในทุก ๆ เช้า สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกในแต่ละวันคือ อากาศที่ร้อนอบอ้าว ทางเท้าที่ไม่เหมาะกับการใส่ส้นสูง ต้นไม้ตามทางที่ไม่สามารถบดบังแดดให้เราได้ หรือแม้แต่ฝุ่น PM2.5 ที่กำลังกลับมาพร้อมกับลมหนาว

ทำไมไม่เปลี่ยนที่ตัวเองล่ะ? คำถามที่มักได้ยินเมื่อคุณเริ่มบ่นกับปัญหาที่เกิดขึ้น

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้รถโดยสาธารณะ ปฏิเสธการรับถุงพลาสติกจากร้านค้าทุกครั้งที่ซื้อของ แยกขยะรีไซเคิลหลังห้องทุกครั้งก่อนทิ้ง แต่ปัญหาทั้งหมดนี้ก็ยังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังต้องรับผลกระทบจากมลพิษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปลี่ยนที่ตัวเองเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดีกว่าหากรัฐมองว่านี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ควรได้รับการแก้ไข เพราะนโยบายที่ออกมาจากรัฐสามารถลดผลกระทบได้มากกว่า

ปัญหาฝุ่น PM2.5 จะกลับมาทุก ๆ เดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม เพราะเป็นช่วงที่มีสภาพอากาศแบบปิด บวกกับกรุงเทพฯ มีตึกสูงคล้ายภูเขาล้อมรอบ จึงบดบังการระบายอากาศ อีกปัจจัยหนึ่งเกิดจากควันรถยนต์กับการจราจร ซึ่งรถยนต์ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ดีเซล ระดับมาตรฐานไอเสียเป็น Euro 4 ต่อให้วันนี้คุณซื้อรถใหม่เป็น Euro 5 หรือรถพลังงานไฟฟ้า ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าฝุ่นควันในเมืองไทยจะดีขึ้น เพราะรถยนต์ส่วนใหญ่ที่วิ่งกันบนถนนยังเป็นรถยนต์เก่าที่ปล่อยมลพิษสูงมากอยู่ดี

ภาพ: www.lendlchery.com

ถ้าทุกคนเริ่มเปลี่ยนที่ตัวเองโดยการนั่งรถโดยสารสาธารณะแทนรถส่วนตัวล่ะ จะช่วยได้มั้ย?

มันช่วยได้ เพราะนั่นจะทำให้การจรจราบนท้องถนนจะคล่องตัวมากขึ้น ปริมาณรถยนต์บนท้องถนนลดลง และอัตราการปล่อยควันพิษจะลดลงด้วยเช่นกัน แต่เมื่อเทียบความคุ้มค่าของค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้ว หลายคนจึงเลือกนั่งรถส่วนตัวมากกว่า แม้จะต้องไปติดบนถนนเส้นเดียวกัน แต่ก็คุ้มค่ากว่าหากสามารถนั่งรถไปถึงที่ทำงานโดยไม่ต้องต่อรถหรือวินมอเตอร์ไซค์

ยกตัวอย่างเช่น นายเอเดินทางไปทำงานจากลาดพร้าวไปยังมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ด้วยรถไฟฟ้า โดยขึ้นจากสถานีลาดพร้าว และลงที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี และต่อวินมอเตอร์ไซค์เพื่อมาลงที่มูลนิธิฯ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ค่าเดินทางคร่าว ๆ อยู่ที่ 104 บาทต่อวัน หากนายเอต้องมาทำงาน 22 วันต่อเดือน นายเอต้องจ่ายค่าเดินทางประมาณ 2,288 บาทต่อเดือน

หากนายเอนั่งรถยนต์ส่วนตัวไปทำงาน นายเอสามารถขับรถมุ่งตรงไปที่ทำงานได้เลย โดยที่ไม่ต้องเดินเท้าจากบ้านพักไปสถานีรถไฟฟ้า ไม่ต้องเปลี่ยนขบวนจากสายสีน้ำเงินเป็นสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน ไม่ต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์เพื่อมาลงที่ทำงาน มากกว่านั้นค่าเดินทางก็ลดลงไปด้วย จากการคำนวณคร่าว ๆ ในระยะ 20 กิโลเมตร รถวิ่งทางตรงปกติ ค่าน้ำมันรวมจะอยู่ที่ 30 บาท เดินทางไปกลับต่อวัน (โดยไม่ได้แวะไปไหน) อยู่ที่ 60 บาท หากนายเอต้องมาทำงาน 22 วันต่อเดือน นายเอจ่ายค่าน้ำมันเดือนละ 1,320 บาท

นี่คือความต่างที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้รถยนต์ส่วนตัวมากกว่านั่งรถโดยสารสาธารณะ รวมไปถึงค่าโดยสารที่สูงเอามาก ๆ เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อเดือน

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ตัวเลขค่าครองชีพของประเทศไทยและสิงคโปร์แล้ว ต่างกันเกือบ 10 เท่า โดยพบว่าประเทศไทยมีรายได้ต่อหัว (GDP per capita) อยู่ที่ 18,587 บาท/เดือน สิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวที่ 164,194 บาท/เดือน ขณะที่ฮ่องกงมีรายได้ต่อหัว 120,640 /เดือน 

ขณะที่ค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทาง พบว่าไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกันเอง รวมถึงส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด ซึ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อเที่ยวของคนไทยอยู่ที่ 67.4 บาท ขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ราว 25.73 บาท และฮ่องกงอยู่ที่ 46.5 บาท 

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วทางออกหนึ่งที่รัฐสามารถจัดการได้ คือสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เช่น ลดอัตราค่าโดยสารทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ หรือรถร่วมบขส. ยกระดับทางเท้าให้การเดินทาง หรือ Movement mobility ในเมืองดียิ่งขึ้น 

หรือเพิ่มมาตรการเชิงบังคับ มาตรการเชิงภาษีที่จะเก็บอย่างจริงจังกับคนที่ก่อมลพิษ ยกตัวอย่างในประเทศอังกฤษมีการประกาศบังคับใช้เขตมลภาวะต่ำกลางกรุงลอนดอน ผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ปล่อยมลภาวะมากจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเข้าในพื้นที่ที่การจราจรหนาแน่นไม่ว่าในช่วงเวลาใดก็ตาม โดยเสียค่าธรรมเนียมในการเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าวในอัตรา 12.50 ปอนด์ หรือราว 500 บาทต่อวัน ซึ่งเพิ่มเติมจากค่าธรรมเนียมการจราจดติดขัดที่มีอยู่เดิม มาตรการนี้จะทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้รถยนต์ที่เปลี่ยนแปลงไป และจะช่วยลดการปล่อยมลพิษจากการคมนาคมบนท้องถนนลงด้วย

 


ที่มา: เขตมลภาวะต่ำ ไอเดียใหม่ใช้จริงในกรุงลอนดอน
ค่ารถไฟฟ้าไทย มุ่งสู่อันดับ 1 แพงที่สุดในโลก เร่งเครื่องแซง “ลอนดอน-สิงคโปร์” เรียบร้อย
บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพเปิดเรื่อง ธัชนาท พนาสันติสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร