ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการขึ้นมาวางไข่ของเต่ามะเฟือง

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการขึ้นมาวางไข่ของเต่ามะเฟือง

การขึ้นมาวางไข่ของเต่ามะเฟืองเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาถือเป็นของขวัญชิ้นสำคัญให้กับวงการสิ่งสิ่งแวดล้อมไทย หลังจากที่ไม่มีรายงานการขึ้นมาวางไข่นานถึง 5 ปี ด้วยภัยคุกคามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามชายฝั่งทะเล

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 61 ได้มีการรายงานการขึ้นมาวางไข่ของเต่ามะเฟืองบนชายหาดท้ายเหมือง จ.พังงา พบแม่เต่ามะเฟืองขนาด 1.25 เมตร ทางกรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง (ทช.) มีการสรุปการมาของลูกเต่ามะเฟืองพบ 118 ฟอง เป็นไข่ลม 25 ฟอง เสีย 4 ฟอง และปกติ 89 ฟอง

 

ภาพโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

ภาพโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

11 ก.พ. 62 หลังวางไข่ 56 วัน ลูกเต่ามะเฟืองเริ่มขึ้นจากหลุมตัวแรกเมื่อเวลา 19.05 น. ตามรายงานระบุว่าสามารถขึ้นมาเองได้ 20 ตัว แต่ต้องช่วยขุดอีก 29 ตัว และตายในหลุม 1 ตัว รวมทั้งหมด 49 ตัว เมื่อเวลา20.00 น. ได้ทำการปล่อยลงทะเลชุดแรก 20 ตัว เวลา 20.40 น. ปล่อยชุดที่สองอีก 20 ตัว และกลุ่มสุดท้ายอีก 8 ตัว เวลา 21.30 น.

เต่ามะเฟือง เต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เสี่ยงสูญพันธุ์

ตัวเต็มวัยของเต่ามะเฟืองมีขนาดอยู่ที่ 150-200 เซนติเมตร มีน้ำหนักมากถึง 400-900 กิโลกรัม อาหารหลักของมันคือแมงกะพรุน ซึ่งจะช่วยควบคุมปริมาณของแมงกะพรุนไม่ให้เยอะจนเกินไป ปัจจุบันเต่ามะเฟืองอยู่ในสถานภาพเสี่ยงวิกฤติต่อการสูญพันธ์เนื่องจากภัยคุกคามต่าง ๆ ทางทะเลจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเต่ามะเฟืองจำนวนมากตายไปเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไป

ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับเต่ามะเฟือง

จากการรายงานระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่าภัยอันตรายที่เกิดขึ้นกับเต่ามะเฟืองในปัจจุบันเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ติดเครื่องมือประมงระหว่างการเดินทางมาวางไข่ และระหว่างพักช่วงการวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง มีโอกาสที่จะติดเครื่องมือประมง ทั้งเครื่องมือประมงพาณิชย์ เช่น อวนลาก และเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น อวนลอย เบ็ดราวปลากระเบน และโป๊ะน้ำตื้น

ถูกรบกวนจากกิจกรรมในทะเล เช่น แสงไฟของเรือที่จอดบริเวณชายหาด ขยะ และน้ำเสียจากเรือ การท่องเที่ยวทางทะเล เช่น สกู๊ตเตอร์ รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล นอกจากนั้นความสนใจของนักดำน้ำต่อเต่าทะเลยังรบกวนการพักผ่อน หากินของมันอีกด้วย

การสูญเสียสภาพชายหาดที่เหมาะสมต่อการวางไข่ คือการสูญเสียบริเวณหาดทรายที่เหมาะสมต่อการวางไข่ของเต่าทะเลจากการก่อสร้างสิ่งลุกล้ำลงไป หรือกิจกรรม แสง สี เสียง รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่าความสกปรก และขยะบริเวณชายหาด

นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง ผ่านรายการคุยกับศศิน [KWV1] ทางสถานีวิทยุไทยพีบีเอส (Thai PBS Radio) ออกอากาศเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าด้วยการปล่อยเต่ามะเฟืองให้เป็นไปตามธรรมชาติหรือนำเต่ามะเฟืองมาอนุบาลสัตว์นั้น แบบไหนจะช่วยให้เต่ามะเฟืองมีโอกาสรอดมากกว่ากัน

นายศศินระบุว่า องค์ความรู้ของทางกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ค่อนข้างชัดว่ามันไม่สามารถเพาะเต่ามะเฟืองได้เพราะมันจะไปชนขอบสระจนทำให้ติดเชื้อและตายหมด เต่ามะเฟืองต้องอยู่ในที่เปิดอย่างในทะเล วิธีที่จะดูแลเต่ามะเฟืองได้ดีที่สุดคือดูแลหลุมวางไข่ให้ดี ๆ สิ่งที่จะต้องทำต่อไป คือบริเวณหาดคึกคักไม่ใช่พื้นที่อนุรักษ์ ทางกรมทรัพยากรธรณีก็พยายามเข้าไปเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาตรงนี้ บริเวณหาดนี้ทั้งหมดก็จะถูกอนุรักษ์ มันจะโยงไปถึงเรื่องของกฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ที่กำลังจะออกมา ฉะนั้นเต่ามะเฟืองก็จะกลายเป็นสัตว์ป่าสงวน มาตรการอะไรที่จะคุ้มครองพื้นที่ที่เต่ามันสามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้มันก็จะดีขึ้น เรื่องของสัตว์ป่าสงวนจะนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่การรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีได้

การที่จะอนุรักษ์เต่ามะเฟืองไว้ได้นั้นควรที่จะทำควบคู่กันไปทั้งสองทาง ได้แก่ การปล่อยให้เต่าดำเนินชีวิตไปตามกระบวนการตามธรรมชาติ ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ช่วยปกป้องดูแล ลดภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นกับตัวเต่ามะเฟือง เพื่อให้เต่าขึ้นมาทำรังวางไข่ได้อย่างปลอดภัย และขาดไปไม่ได้เลยคือตัว ร่าง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถทำงานได้คล่องขึ้น หากวิธีการและกระบวนการดังกล่าวสามารถทำควบคู่กันไปได้ เต่ามะเฟืองก็สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ และขยายพันธุ์ได้ต่อไป

 


บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง