ถ้าใช้ซ้ำไม่ได้ก็ควรเลิกใช้

ถ้าใช้ซ้ำไม่ได้ก็ควรเลิกใช้

วันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีนั้น เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ 47 ปีก่อน หรือในปี ค.ศ.1974 จากการประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ หรือ UN Conference on the Human Environment โดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีการจัดทำร่างข้อเสนอต่างๆ รวมทั้งแผนดำเนินการและปฏิญญาว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ มีผู้เข้าร่วมประชุม จาก 113 ประเทศ กว่า 1,200 คน รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 1,500 คน เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ มุ่งหวังที่จะสร้างความตระหนักในประเด็นสิ่งแวดล้อมให้กับประชากรโลก ตั้งแต่ปัญหามลพิษในทะเล การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการบริโภคที่ยั่งยืน และการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

ในวันสิ่งแวดล้อมโลกแต่ละปี จะมีการออกคำขวัญวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อรณรงค์ให้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งทุกประเทศทั่วโลกต่างเผชิญร่วมกัน ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็น 1 ในหลายๆ ประเทศ ที่เห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและรับข้อตกลงจากการประชุม มาดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้น เป็นผลให้ประเทศไทยได้รับตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม และได้ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้นอันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการดำเนินงาน ด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

ในปีนี้องค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ประกาศแนวคิดรณรงค์วันสิ่งแวดล้อมโลก ภายใต้หัวข้อ “Beat Plastic Pollution” หรือ “รักษ์โลก ลดพลาสติก” ใช้คำขวัญ “ถ้าใช้ซ้ำไม่ได้ก็ควรเลิกใช้ (If you can’t reuse it, refuse it)

 

 

ทางด้านประเทศไทย นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แถลงข่าวการจัดกิจกรรมรณรงค์ พร้อมด้วยผู้แทน UNEP ร่วมแถลงการณ์ ถึงการสนับสนุนการจัดกิจกรรม ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2561 ณ บริเวณโซนอีเดน ชั้น 1 ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน

ประเด็นหลักของกิจกรรมไม่ใช่แค่ต้องการรณรงค์ให้คนหันมาตระหนักถึงการใช้งานของพลาสติกที่แสนสั้น หากแต่เป็นไปเพื่อเรียกร้องให้องค์กรระดับประเทศ ตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ลุกขึ้นมาสู้ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มากไปกว่าแค่การกำจัดขยะ เพราะปัจจุบันแค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยประชากรในกรุงเทพฯ 10 ล้านคน มีการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ย คนละ 8 ใบ/วัน ทุกวันนี้มีขยะพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบ/วัน

นอกจากนี้การใช้ถุงพลาสติกยังเป็นปัญหากับสุขภาพโดยตรงที่จะได้รับสารปนเปื้อน แต่ขยะพลาสติกยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งบางส่วนถูกทิ้งลงแม่น้ำ ลำคลอง จนเป็นเหตุให้ท่อระบายน้ำอุดตันจนเกิดน้ำท่วม หรือแม้กระทั่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเล เพราะปัญหาการจัดการขยะที่ขาดประสิทธิภาพจึงทำให้ขยะพลาสติกจากไทยไหลออกสู่ทะเลมาก  ถ้าหากเรายังไม่ตระหนักกับปัญหานี้ ในอนาคตข้างหน้าอาจจะเกิดปัญหาต่อสภาพอากาศและมลพิษที่ทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเราทุกคน

 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้พลาสติกแทบทุกๆ กิจกรรม นั่นจึงทำประเทศไทยผลิตขยะพลาสติกออกมามาก และการจะกำจัดขยะพลาสติกในประเทศไทยที่เป็นปัญหาในการย่อยสลายนั้น พลาสติก 1 ชิ้นต้องใช้เวลาในการทำลายถึง 450 วัน และหากจะต้องใช้เงินในการทำลายด้วยการฝังกลบนั้นจะอยู่ที่ 700 บาท/1 ตัน ส่วนเผาทำลายจะอยู่ที่ 1,000 บาท/1 ตัน

 

จะเป็นเรื่องดีเสียกว่าถ้าเราสามารถสร้างทางออกของการกำจัดขยะพลาสติกที่ทุกคนสามารถทำได้ นั่นคือการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน โดยการปฏิเสธการรับถุงพลาสติกจากการซื้อสินค้า เพียงวันละใบจะช่วยลดขยะพลาสติกได้หลายล้านใบ หรือการทิ้งลงถังอย่างถูกต้อง

เพราะพลาสติก 1 ชิ้นใช้เวลาผลิต 5 วินาที ถูกนำไปใช้แค่ 5 นาที และใช้เวลาในการกำจัดพวกมันอีก 500 ปี

หากเราไม่ลงมือตั้งแต่วันนี้ อีก 50 ปี ข้างหน้า ถนนจะเต็มไปด้วยขยะพลาสติกมากกว่าปลาในมหาสมุทร

 


บทความ ปทิตตา สรสิทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน
ภาพประกอบ UN Environment